ชมบัตรอวยพรวันวิสาขบูชา ครั้งแรกสมัย ร.6
ชมบัตรอวยพรวันวิสาขบูชา เกิดขึ้นครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.6)
วันนี้ (21 พฤษภาคม 2567) มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา เผยบัตรอวยพรวันวิสาขบูชาและข้อความว่า บัตรอวยพรวันวิสาขบูชา เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2463 โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการส่งบัตรอวยพรแก่กันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา (ทำนองเดียวกับการส่งบัตรอวยพรในวันคริสตสมภพของชาติตะวันตก) เพื่อให้พสกนิกรตระหนักถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา และน้อมนำใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะนำทางชีวิต
การพระราชทาน บัตรอวยพรวันวิสาขบูชาในครั้งนั้น ทำให้บรรดาผู้ที่ได้รับพระราชทาน ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมใจกันสนองพระราชนิยมด้วยการจัดทำบัตรถวายพระพร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเช่นกัน โดยลักษณะของบัตรถวายพระพรแต่ละฉบับ มีขนาด ลวดลาย และข้อความที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีทั้งข้อความเป็นคาถาภาษาบาลี ความเรียงร้อยแก้ว และบทร้อยกรองประเภท โคลง หรือกลอน เป็นต้น
ด้านเว็บไซต์หน่วยราขการในพระองค์ เผยข้อความเกี่ยวกับบัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ. 2564 พระราชทาน” ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานบัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชา ให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการส่งบัตรอวยพรแก่กัน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2463 และครบรอบ 100 ปีใน พ.ศ. 2564
“บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ.2564 พระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่ทรงอธิบายถึง พระราชมรดกทางปัญญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ก็คือ แนวพระราชดำริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เมื่อแปลตามหลักนิรุกติศาสตร์จะได้ความว่า “ความพอเพียง เป็นกิจอันประเสริฐ” (สนฺตุฏฺฐี เสฏฺฐกิจฺจํ) ซึ่งเป็นหลักใจที่เป็นกลาง ๆ ในการดำเนินชีวิตที่ทุกคนปฏิบัติได้ ปฏิบัติถึง และปฏิบัติให้เป็นผลได้
“ศีล” ที่แปลว่า ปกติ เป็นการดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนและสังคม มีชีวิตที่เป็นปกติ เรียกว่า รู้จักดำเนินชีวิตอย่าง “พอประมาณ” คือมีกายวาจาที่สมดุล ไม่ใช้กายวาจาของตนสร้างความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและสังคม
การเจริญสติที่ต่อเนื่องจนเป็น “สมาธิ” คือ ความตั้งใจมั่น จะก่อให้เกิดผล “มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” และการตื่นรู้ ที่นำไปสู่การพัฒนา ก่อให้เกิด “มีเหตุผล” เรียกอีกอย่างว่า “ปัญญา”
ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง ในการปฏิบัติการที่แท้จริงก็คือ พัฒนาพฤติกรรมทางกายวาจาให้มีความพอประมาณ หรือความปกติ พัฒนาสติต่อเนื่องจนมีจิตที่ตั้งมั่นเรียกว่า “สมาธิ” มีผลทำให้มีภูมิคุ้มกัน และปฏิบัติเรียนรู้จนเกิดการตื่นรู้ เห็นทุกอย่างตามเหตุปัจจัย ทำให้กระบวนการคิดประกอบด้วยหลักการของเหตุและผล
ดังนั้น ทุกกิจกรรมของมนุษยชาติควรประกอบด้วยหลักการแนวพระราชดำริที่ว่า “ความพอเพียง เป็นกิจอันประเสริฐ” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กิจกรรมใดที่ประกอบด้วยหลักแห่งความพอเพียง คือหลักแห่งความสมดุลเป็นพื้นฐาน ก็เรียกได้ว่า เป็นกิจอันประเสริฐ เป็นกิจที่นำไปสู่ความสงบสุขของตนและผู้อื่นในสังคมเป็นที่สุด
ทั้งนี้ “วันวิสาขบูชา” มีชื่อเต็มว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 6 ในวันนี้ตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งปี พ.ศ. 2567 โดยปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567