พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ขณะทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนจิตรลดา ในพระราชวังดุสิต ถึงพุทธศักราช 2509 จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ณ โรงเรียนคิงส์มิด เมืองซีฟอร์ต มณฑลซัสเซกส์และโรงเรียนมิลส์ฟิลด์ เมืองสตรีท มณฑลซัมเมอร์เซต จนถึงพุทธศักราช 2513 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาวิชาการทหารตามที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ ณ ประเทศออสเตรเลีย ในระดับเตรียมทหารที่คิงส์สคูล ณ นครซิดนีย์ และวิชาการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46
จากนั้น ทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร ตามลำดับ
ครั้น ทรงเจริญพระชนมพรรษา 20 พรรษาบริบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมาร
พุทธศักราช 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาทรงผนวชในพระพุทธศาสนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระราชโอรสและพระราชธิดา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
เสด็จขึ้นทรงราชย์ วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นดำรงสิริราชสมบัติ สืบสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร'
พระราชพิธีราชาภิเษก
วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสุทิดา ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาสมเด็จพระราชินีสุทิดา เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุราพิมลลักษณ พระบรมราชินี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศราชวโรดม บรมราชบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"
พระปรีชาสามารถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยกิจการงานหลายสาขา ด้านการบิน ทรงศึกษาหลักสูตรการบินทั้งของกองทัพและกองทัพอากาศ ตลอดจนเสดพระราชดำเนินไปทรงศึกษาเทคนิคการบินของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงพระปรีชาสามารถในการขับอากาศยานหลากหลายแบบ ทั้งอากาศยานทหารและอากาศยานพาณิชย์ ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินแก่นักบินของกองทัพอากาศ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเกียรติบัตรครูฝึกการบินเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง
ด้านภาษาและวรรณกรรม ทรงพระราชนิพนธ์บทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วแสะร้อยกรอง พระราชทานแก่บุคลลในโอกาสต่าง ๆ
ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถด้านสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรม ดังเป็นที่ประจักษ์ชัดจากแนวพระราชดำริในการออกแบบ วางผังและตกแต่งอาคารสถานที่ อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
พระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเมืองมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีไปทรงเยี่ยมเยียน ราษฎรในพื้นที่ห่างไกลทั่วทุกภูมิภาค ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมาโดยตลอด ทั้งงานพระราชพิธี งานด้านการศึกษา ศาสนา สังคม สาธารณสุข การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอเนกประการ
ครั้นเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ จึงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ยังความผาสุกร่มเย็นแก่บ้านเมืองสืบไป
ด้านการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัทย์ส่วนพระองค์จัดสร้างโรงเรียนมัธยมในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศและทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี ฐานะยากจน ครอบคลุมหลากหลายสาขา อาทิ ด้านการแททย์ การพยาบาลและการเกษตร
ด้านการเกษตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับงานด้านเกษตรกรรมทุกแขนง ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อพระราชทานขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพและทรงปฏิัติพระราชกรณียกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ทรงให้การอุปถัมภ์และส่งเสริมงานด้านเกษตรกรรมอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาผลิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ให้บริการความรู้ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิกาพการผลิตและให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ แก่เกษตรกร
นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างอาคารวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เกษตร ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งพระราชทานทุนวิจัย และพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จัดสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร บนพื้นที่สูงภาคเหนือ ‘เกษตรวิชญา’ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ด้านศิลปวัฒนธรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัยตั้งมั่นที่จะทรงสืบสานพระราชปณิธานในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อดำรงไว้ซึ่งมรดกศิลปวัฒนธรรม อันทรงคุณค่าของชาติ อาทิ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยสนพระราชหฤทัย เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ ด้านนาฏศิลป์และดนตรี
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานในหลายโอกาส เพื่อเป็นการธำรงรักษาสืบทอดและเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติสืบไป
ด้านศาสนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ เมื่อพุทธศักราช 2561 นอกจากนี้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเนื่องในพระพุทธศาสนาในทุกโอกาส ทั้งการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่พุทธศักราช 2540 ในการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชพิธีเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา รวมทั้งพระราชพิธีและพิธีต่างๆ
อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิธีมหามงคลเจริญพระพุทธมนต์ในโอกาสต่างๆ ณ พระลานพระราชวังดุสิต รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ พระราชทานแก่ประชาชนที่มาร่วมพีธีเพื่อเป็นพระราชกุศลธรรมทาน
นอกจากพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกศาสนาทุกศาสนา และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เนื่องในกิจกรรมของศาสนาอื่น ๆ ทั้งศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง คือ การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์และการบริการสาธารณสุข พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ตั้งแต่พุทธศักราช 2520
นอกจากนี้ ยังทรงเป็นประธานอำนวยการจัดสร้างอาคาร “ศูนย์โรคหัวใจ ณ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พุทธศักราช 2535 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งโครงการกาญจนบารมี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ และทรงเป็นประธานจัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง จังหวัดปทุมธานี พระราชทานนาม “ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี” สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539
นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงพยาบาสงเคราะห์พระสงฆ์ในภูมิภาค เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 50 พรรษา พุทธศักราช 2555 ตลอดจนพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 2,400 ล้านบาท แก่โรงพยาบาล 27 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์และพระราชทานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ดูแลรักษาประชาชนที่ประสบภัยพิบัติทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
โครงการจิตอาสาพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโครงการจิตอาสาพระราชทาน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ในการประกอบกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยแบ่งกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน 3 ประเภท คือจิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติและจิตอาสาเฉพาะกิจ ปัจจุบันการจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ดำเนินการแล้วในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและตระหนักถึงความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จึงมีพระราชปณิธาน สืสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองสืบไป
ข้อมูลเรียบเรียงจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562