อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นต้นแบบแห่งความเพียรในการทำความดี และทรงอุทิศพระองค์เพื่อประเทศชาติและประชาชน
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงน้อมนำมาเป็นพระราชปณิธาน ‘สืบสาน รักษา และต่อยอด’ ในการมุ่งมั่นทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์เป็นที่มาของการพัฒนาอุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างบนพื้นที่อดีต “สนามม้านางเลิ้ง” ที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่ประชาชนขนาดพื้นที่ 279 ไร่ โดยเริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่พุทธศักราช 2561 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริผ่านองค์ความรู้เรื่องป่าและน้ำ ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวนที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เก้า ใจกลางกรุงเทพมหานคร ได้แก่
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่เก้า ถือเป็นหัวใจและศูนย์กลางของสวนแห่งนี้ โดยพระบรมรูปรัชกาลที่เก้า มีสัดส่วนสูง 7.7 เมตร ซึ่งมีขนาดเป็นสามเท่าของพระองค์จริง โอบล้อมด้วยสวนป่าผสมผสาน แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่เก้า ตั้งอยู่บนผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติอยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน
บ่อน้ำเลขเก้า สะพานเลขเก้า สะพานหยดน้ำพระทัย สะพานไม้เจาะบากงที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปนราธิวาสในปี 2524 มีระบบ Floating Solar นำพลังงานที่ได้มาใช้ในพื้นที่บางส่วนของโครงการ สูบน้ำจากปลายน้ำหมุนเวียนกลับขึ้นไปยังต้นน้ำ รวมทั้งพันธุ์ปลา เช่น กระโห้ ตะเพียนขาว ตะพาก กระแห พึ่งพิงกันเป็นระบบนิเวศ พืชชุ่มน้ำ เพื่อให้มีความหลากหลายทางธรรมชาติและกรองน้ำที่ไหลสู่บ่อน้ำเลข 9 สะท้อนหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำทั้งยังออกแบบให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือแก้มลิง ในยามวิกฤตจากอุทกภัยอีกแห่งของกรุงเทพมหานคร
อุทยานเฉลิมพระเกียรติร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ราว 4,500 ต้น ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ เช่น การปลูกพืชกรองฝุ่น การปลูกไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา มีพันธุ์ไม้เชิงสัญลักษณ์ทางด้านจิตใจ รำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต้นไม้ประจำจังหวัด สื่อความหมายถึงการหลอมรวมเป็นประเทศไทย มีไม้หายากและพืชบำบัดน้ำ เติบโตดีในภาคกลาง สามารถสร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ภายในสวนยังมีเส้นทางเดินและวิ่ง ทางปั่นจักรยาน รายล้อมด้วยทัศนียภาพที่งดงาม มีสนามกีฬากลางแจ้ง เช่น สเกตพาร์ค บาลานซ์ไบค์ บาสเก็ตบอล หรือกีฬาสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ชี่กง โยคะ โดยออกแบบให้มีมาตรฐาน นับเป็นหนึ่งในพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้สถานที่แห่งนี้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยการพักผ่อนและออกกำลังกาย
มีลานกิจกรรมและนันทนาการ ทั้งยังเก็บรักษาอาคารโบราณทั้งสี่หลัง ได้แก่ อาคารโรงเรียนสำหรับหัดขี่ม้า อาคารเรือนเจ้ากรมพระอัศวราชซึ่งเดิมเป็นอาคารอำนวยการ ล้วนมีสถาปัตยกรรมงดงามและอาคารเรือนข้าราชบริพารอีกสองหลัง โดยทีมสถาปนิกเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์อาคาร ทำการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีลานริมน้ำ ร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ลานจอดรถและส่วนอำนวยความสะดวก มีการใช้พลังงานทดแทนและการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยภายในสวนแห่งนี้ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเหลือประชาชน หากเกิดออกกำลังกายแล้วมีปัญหาด้านสุขภาพ ระบบจะแจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับความรื่นรมย์ในการใช้งานซึ่งการดำเนินการรุดหน้าไปมา
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประดิษฐานบนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
และวันที่ 13 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเสด็จในการนี้ด้วย ยังความปลื้มปีติของพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและร่วมพิธีอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่บริเวณประตูทางเข้าอุทยานฯ ไปจนถึงมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์อย่างเนืองแน่น