พระราชทานความช่วยเหลือบ้านบางพลี
แรงระเบิดสารเคมีภายในโรงงานหมิงตี้เคมีคอล เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้าน หมู่ 15 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พังพินาศและเกิดเปลวไฟท่วมสูงในวงกว้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยราษฎร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่พสกนิกรดังกล่าว เรวัตร หุนารัตน์ อดีตปลัดอำเภอบางพลี ปัจจุบันย้ายมารับตำแหน่งปลัดอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ถ่ายทอดเรื่องราวในครั้งนั้น
"วันที่เกิดเหตุ ผมได้รับติดต่อประสานงานกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ว่าจะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีการแต่งตั้งนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย นำประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยรวม 8 แห่ง ได้แก่ อาคารอบต.บางพลีใหญ่หลักเก่า โรงเรียนเตรียมปริญญานุสรณ์ โรงเรียนคลองบางกระบือ วัดสลุด วัดบางโฉลงนอก วัดบางโฉลงใน วัดบางพลีใหญ่กลาง และวัดบางพลีใหญ่ใน
เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มาถึงพื้นที่แล้ว เชิญถุงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบให้แก่ราษฎรในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย คืนนั้นทั้งคืน มีรถบรรทุกสิ่งของพระราชทานวิ่งเข้าออกพื้นที่เพื่อลำเลียงถุงพระราชทานมาให้ผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดซื้อสิ่งของเพิ่มเติมพระราชทานแก่ชาวบ้าน อีกทั้งทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อปรุงอาหารสุกใหม่เพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย เจ้าหน้าที่ทหารจิตอาสาเข้ามาช่วยกันอำนวยความสะดวกให้ทุกด้าน"
ในระหว่างนั้นเพลิงก็ยังลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเร่งทำงานสุดกำลัง แต่แล้วเหตุไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเพลิงที่สงบลงกลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเชิญพวงมาลาหลวง พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปวางหน้าหีบศพนายกรสิทธิ์ ลาวพันธุ์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครฯ หน่วยสมเด็จเจ้าพระยา ณ วัดทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร พร้อมทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองเลขาธิการพระราชวัง และ นายจิตรพัฒน์ ไกรฤกษ์ รองอธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์ เชิญแจกันดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นขวัญและกำลังแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์
"การทำงานของหน่วยงานต่างๆ ทำแบบคู่ขนาน ประกอบกับในช่วงนั้นโรคโควิด-19 ระบาดหนักทั่วประเทศ ซึ่งก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของชาวบ้านในชุมชนเป็นไปได้ยาก เลยจำเป็นต้องคัดแยกผู้ป่วยออกมาพักรักษาตัวต่างหาก การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเจลแอลกอฮอล์และรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย เพื่อตรวจหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)เชิงรุก แก่พสกนิกรทุกรายไม่เว้นแม้แต่แรงงานต่างด้าว
มีการออกสำรวจบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ทั้งบ้านจัดสรร หอพัก คอนโด ชุมชนแออัด แคมป์คนงาน รวมๆ แล้วหลักหมื่นคนที่อยู่ในรัศมีแรงระเบิด โดยทหารจิตอาสาเร่งให้ความช่วยเหลือรื้อสิ่งปลูกสร้างที่พังลงมา ฝ่ายสาธารณสุข ตรวจสอบยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้และผู้ป่วยโควิดมีกี่คน พักอยู่ที่ไหน หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม วัดระดับน้ำเน่าเสียจากสารเคมี ฝุ่นละออง สภาพอากาศ ซึ่งในแต่ละวันหน่วยงานเหล่านี้ ถวายรายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ แยกเป็นข้อมูลโดยละเอียด"
เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ฐิติพงษ์ เสนาะสวย ผู้ช่วยผู้ใหญ่ล้าน หมู่ 15 ตำบลลางพลีใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สะท้อนภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นจนถึงความเป็นอยู่ของราษฎรในปัจจุบัน
"ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยค่อยๆ ปิดตัวลง เพราะชาวบ้านทยอยกลับเข้าที่พักของตัวเองได้แล้ว รวมทั้งผู้ป่วยโควิดที่อาการดีขึ้นด้วย ส่วนทางบริษัทหมิงตี้เคมีคอล ประสานงานกับผู้นำชุมชน บริษัทประกัน ทำบันทึกความเสียหายบ้านเรือน ประเมินเงินชดเชยซ่อมแซมที่พักอาศัย ทรัพย์สินให้แก่ชาวบ้าน 2,000 กว่าครัวเรือนในรัศมี 5 กิโลเมตร และได้รับเงินชดเชยและช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ
ทุกวันนี้ ชาวบ้านซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ยังจำภาพที่มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เดินไปดูตามบ้านทีละหลังว่ามีใครอยู่มั้ย ก็พบว่ามีหลายคนที่ยังอยู่ในบ้าน คอยเฝ้าทรัพย์สิน เพราะพวกมิจฉาชีพแฝงเข้ามาขโมยของในช่วงที่ชุลมุน
เจ้าหน้าที่บอกว่า ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญถุงพระราชทานมาช่วยเหลือราษฎร ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ว่าจะได้รับพระมหากรุณา
ในหลวงทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของเราชาวไทยทุกคน ชาวชุมชนหมู่ 15 จากเดิมพวกเราแทบไม่คุยกัน ไม่รู้จักกันเลย พอเกิดเหตุการณ์นี้ ทุกคนเปลี่ยนไปในทางที่ดี สังคมเกิดสมัครสมานสามัคคีอย่างเห็นได้ชัด บ้านไหนมีอะไร ใครมีมากกว่าก็แบ่งปันคนที่มีน้อยกว่า ทุกคนมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาสู้ต่อไป
หลังเหตุการณ์สงบแล้ว ชาวบ้านสมัครเป็นจิตอาสาพระราชทาน ช่วยกันกำหนดวันจิตอาสา ลอกคูคลองป้องกันน้ำท่วม โยนอีเอ็ม ร่วมกันปล่อยปลาที่ได้รับจากกรมประมงคืนสู่แหล่งนี้ เพื่ออนุรักษ์อาชีพประมงพื้นบ้าน เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณด้วยการทำความดี พัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ตลอดไป"