น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ ร.9

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ ร.9

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณบทเพลงพระราชนิพนธ์ ร.9 ผ่านปาฐกถา โดยดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ถวายงานมานานกว่า 35 ปี

คณะศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ (ปีที่ 8) ในหลวงผู้ทรงสถิตในดวงใจ เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช” ณ โรงพยาบาลศิริราช 

ในงานนี้ ด็อกเตอร์สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา แสดงปาฐกถาเทิดพระเกียรติ “บทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9” สะท้อนพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้ประโยชน์จากดนตรีเพื่อพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน มีวิวัฒนาการ ต่างๆ นานา ตั้งแต่เพลงแรกจนกระทั่งเพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงประพันธ์ไว้ ความจริงพระองค์ท่านหวังและให้ความหมายมาก เกี่ยวกับเพลง ตรงกับปฐมบรมราชโองการที่ว่า ‘ประโยชน์สุข’ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงทำนั้น ก็มุ่งไปสู่ประโยชน์ เมื่อเกิดประโยชน์ก็นำมาซึ่งความสุขของราษฎร 

เท่าที่ผมมีโอกาสเดินตามเสด็จพระองค์ท่าน เป็นเวลา 35 ปี ไม่มีช่วงไหนที่จะทรงมีความสุข มีความสงบในพระราชหฤทัยในระหว่างทรงเล่นดนตรี ทุกสัปดาห์ ทุกวันศุกร์หรือวันเสาร์ จะไม่ทรงรับสั่งถึงงาน ไม่อย่างนั้นเจอหน้าผมทีไร ก็ถามแต่เรื่องงานทุกที ไม่มีเรื่องอื่น  

พระองค์ท่านทรงตั้งวง อยากให้พวกเราไปเล่นดนตรีกับพระองค์ท่าน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวงสหายพัฒนา สมาชิกในวงก็เป็นกลุ่มคนที่ถวายงาน ไปร่วมวงเล่นด้วย ทรงบังคับให้เล่นทรัมเปตแต่พวกเราหนีตลอดเลย 

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ ร.9

ก็หนีไปเรื่อย หาช่องทางหนีไปเรื่อย ผมกราบบังคมทูลว่า ผมไปเรียนวปอ. อีกคนหนึ่งอธิบดีกรมชลฯ กราบบังคมทูลว่าใส่ฟันปลอมอยู่ เป่าทรัมเปตไม่ได้ มีรับสั่งให้ไปหาหมอทำฟันปลอมชนิดที่เป่าทรัมเปตได้ พวกเราก็หนี มีคุณหมอกับพวกองครักษ์ตามเสด็จมาเล่นแทน 

สำหรับดนตรีทรงมีรับสั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ‘ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก’ มีข้อมูลที่ผมค้นคว้ามาได้ว่า 

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้าจะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน  เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีต งดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภท ต่างมีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆ กันไป”

เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงบันทึกไว้ แต่ถึงกระนั้น เราไม่ยอมเข้าวงสหายพัฒนาสักที วันหนึ่งทรงเรียกผมให้ไปเข้าเฝ้าฯ และรับสั่งให้ดนตรีว่า

“รู้นี่ว่า อยู่โรงเรียนวชิราวุธใช่ไหม” 

ผมกราบบังคมทูลว่า ใช่...พระพุทธเจ้าค่ะ รับสั่งต่อไปอีกว่า 

“นักเรียนวชิราวุธต้องเล่นดนตรีเป็นหนึ่งอย่างทุกคน เอาล่ะ งั้นไม่ต้องเล่นทรัมเปตก็ได้ เล่นอะไรเป็นก็เล่นไป”
 

ผมบอก...เป็นพระพุทธเจ้าค่ะ  พระองค์ดีพระทัย พอบอกว่าเล่นดนตรีเป็น พระองค์ท่านรับสั่งว่า 

“แล้วเล่นอะไร”

ผมกราบบังคมทูลว่า...ปี่สก็อต ตอนแรกก็แอบใจหายเหมือนกัน เพราะกลัวว่าถ้าท่านทรงตั้งวงปี่สก็อตขึ้นมา ผมก็ต้องเป็นคนสอนอีก ผมรอดอีกครั้งหนึ่ง ”

ความสนพระราชหฤทัยในดนตรี 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่พระชนมายุ 13 พรรษา โดยทรงเรียนวิชาดนตรีคลาสิคก่อน ขณะประทับอยู่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรง คือหีบเพลง (Accodion) พอเป็นพื้นฐานแล้ว ก็เริ่มสนพระราชหฤทัยในดนตรีแจ๊ส และทรงฝึกดนตรีแจ๊สด้วยแซกโซโฟน 

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ ร.9

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงดนตรีหลายประเภท ทรัมเปต แซกโซโฟน เปียโน กีต้าร์ พระพลานามัยดีมาก พระปัปผาสะ พระทัยดีมาก เพราะถ้าไม่ดีคงไม่ทรงดนตรีได้ทั้งคืน ทรงมีปฏิภาณในการเล่นดนตรีอย่างยอดเยี่ยม ดนตรีอยู่ในจิตใจของพระองค์เป็นหนึ่งเดียว”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระปรีชาในการประพันธ์เพลง 48 เพลง ทั้งที่เป็นเพลงที่พระองค์พระราชนิพนธ์เนื้อร้องและทำนองเพลงหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ในระหว่างปี 2489-2538 

“ส่วนใหญ่จะทรงแต่งทำนอง ส่วนเนื้อร้องพวกผู้หลักผู้ใหญ่ อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ  และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้นิพนธ์และแต่งเพลงทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ ต้องนิพนธ์และแต่งเนื้อร้องให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ มีรับสั่งเนื่องจากภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่  

เมื่อมีรับสั่งอย่างนั้น บทเพลงพระราชนิพนธ์ เช่น แสงเทียน ยามเย็น สายฝน ซึ่งบทเพลงต่างๆ เราแบ่งเป็นช่วงๆ ตามสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ทรงเป็นพระอนุชาธิราช กระทั่งทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงตั้งความหวังไว้ตลอดพระชนม์ชีพ ไม่ว่าจะต้องเจออุปสรรคอะไรมา พระองค์ท่านทรงเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ สะท้อนผ่านเสียงเพลงมาตลอด วันนี้มืดมนก็ไม่เป็นไร”

ดร.สุเมธ ยกตัวอย่างเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียนท่อนหนึ่งว่า ‘จุดเทียนบวงสรวง ปวงเทพเจ้า สวดมนต์ค่ำเช้าถึงคราวระทมทน’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอนจึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงในเวลานั้น 

ต่อมา พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในปี 2490 เนื้อเพลงกล่าวถึง สัจธรรมของชีวิต รวมทั้งท่อนหนึ่งของเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต ที่ว่า 
‘นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง' เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ปีพ.ศ. 2489 ทรงพระราชนิพนธ์ขณะเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วเนื้อเพลงพรรณนาถึงความทุกข์ของผู้ที่ได้ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ให้มีความหวังต่อไป  

“การเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงแบกภาระ ปัญหา ทรงมีความหวัง สู้ ไม่ใช่เจอความทุกข์แล้วจะยอมแพ้ แม้แต่เพลงที่พรปีใหม่ที่เราร้องกันในวันขึ้นปีใหม่ตราบถึงทุกวันนี้ ทรงแต่งอย่างรวดเร็ว มีคนกราบบังคมทูลให้แต่งเพลงสำหรับวันขึ้นปีใหม่ ทรงใช้เวลาแค่วันเดียว ก็เสร็จ แล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือวงดนตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมกรุงคืนนั้นเลย (ในวันที่ 1 มกราคม 2495)

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าและเป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกๆ แต่ไม่ได้ทรงคิดแต่เรื่องพระเกษมสำราญเพียงอย่างเดียว ทรงนึกถึงคนอื่น 

ทรงจัดตั้งวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ และเสด็จฯ ไปทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกวง ออกอากาศกระจายเสียงทางสถานีวิทยุประจำวันศุกร์ จากอาคารหนึ่งหลังเตี้ยๆ อยู่ในพระตำหนักสวนจิตรลดา ทรงเผื่อแผ่ความสุขไปให้ทุกคน”

เพลงพระราชนิพนธ์เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และนิสิตนักศึกษา 

“ทรงใช้ดนตรีเชื่อมความสัมพันธ์กับเยาวชน ทรงประพันธ์เพลงและพระราชทานเพลงประจำสถาบันการศึกษา ได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์ ‘มหาจุฬาลงกรณ์’ แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพลงพระราชนิพนธ์ ‘ยูงทอง’ แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพลงพระราชนิพนธ์ ‘เกษตรศาสตร์’ แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทรงดนตรีร่วมกับวงอ.ส.วันศุกร์และนิสิตนักศึกษา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ช่วงระหว่างปี 2501-2516) เกิดเป็นความใกล้ชิดและอบอุ่นระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ดั่งปฐมบรมราชโองการ ความตอนหนึ่งว่า  ‘เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน’ 

คำว่า มหาชน จึงหมายถึงทุกคน ไม่ใช่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเท่านั้น วันนี้เราบ่นว่าคุยกับเด็กไม่รู้เรื่อง ความจริงเราไม่คุยกับเขามากกว่า จากเจนเนอเรชั่นหนึ่งไปสู่เจนเนอเรชั่นหนึ่ง เราเคยเป็นสาวๆ หนุ่มๆ ก็เคยคิดแผลงอย่างนี้แหละ ผมก็เคยคิดผ่าเหล่าผ่ากอเหมือนกัน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ ที่ต้องสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นต่างๆ ให้ได้”

คุณค่าของบทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 ยังมีความหมายถึงการให้กำลังใจประชาชน

เพลงยิ้มสู้ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 16 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชนิพนธ์ในปี 2495 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยเพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังในแก่ผู้พิการทางสายตา จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2495  

“คงจำกันได้ ช่วงหนึ่งมีสงครามคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านล้มทีละประเทศสองประเทศ ส่งผลมายังประเทศไทย ทรงใช้เสียงเพลงเราสู้ ออกมาปลอบประโลมคนไทย ดังเนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า ‘บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเกิดมาเราสู้’

เพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด จัดว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตอีกเหมือนกัน เนื้อร้องท่อนหนึ่งประพันธ์ว่า ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว’

ทรงให้คนลุกขึ้นสู้ แต่เป็นการสู้อย่างสันติ อย่างชัยพัฒนา รับสั่งว่า เราต้องทำสงครามกับปัญหา ทั้งสงครามกับความยากจน สงครามน้ำท่วม โดยใช้การพัฒนามาเอาชนะปัญหา”

น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ ร.9

บทเพลงพระราชนิพนธ์ ยังสะท้อนการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศ

เมื่อครั้งเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทย ในพ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ เนื้อเพลงสั้นๆ ที่เปี่ยมด้วยมิตรไมตรี แสดงถึงความเป็นประเทศไทยที่มีรอยยิ้ม ต้อนรับมิตรจากต่างแดนอย่างอบอุ่น ราวกับแสงพระอาทิตย์ยามเช้า  

บทเพลงพระราชนิพนธ์ทรงคุณค่า มีความไพเราะ ละเมียดละไมอ่อนหวาน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเพลงแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เช่น อาทิตย์อับแสง ที่มีเนื้อเพลงเกี่ยวกับความรักความคิดถึง เปรียบความรักกับธรรมชาติ เพลงเทวาพาคู่ฝัน และเพลงที่ทั้งพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ได้แก่ Still on My Mind (ในดวงใจนิรันดร์) Old Fashion Melody (เตือนใจ) No Moon (ไร้เดือน) Dream Island (เกาะในฝัน) และEcho (แว่ว)

ส่วนเพลงสุดท้ายคือเพลงเมนูไข่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง ประกอบเนื้อร้องทรงนิพนธ์โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในปีพ.ศ. 2538 

พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี 

พระราชกรณียกิจด้านดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทำอย่างต่อเนื่อง สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยศิลปินระดับโลกยกย่องพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี เมื่อเสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2503 

ทรงร่วมบรรเลงดนตรีโดยมิได้เตรียมพระองค์มาก่อน ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นอย่างฉับพลัน และยังทรงดนตรีร่วมกับเบนนี กูดแมน นักแคลริเน็ตและนักดนตรีแจ๊สระดับโลก นักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลก ทูลเกล้าฯ ถวายการยกย่องในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีพระอัจฉริยภาพสูงส่ง 

ครั้งเสด็จเยือนสาธารณรัฐออสเตรียในปี 2507 วงดุริยางค์ซิมโฟนีออเคสตร้า ควบคุมโดย ไฮน์ วัลลเบอร์ก แห่งกรุงเวียนนา อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด มโนราห์ สายฝน ยามเย็น มาร์ชราชนาวิกโยธิน และมาร์ชราชวัลลภ บรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา และสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรีย ส่งกระจายเสียงเพลงพระราชนิพนธ์และเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศ 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา

อีกทั้งวงเลส บราวน์ แอนด์ ฮีสแบนด์ ออฟ รีนาวด์ อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ไปขับร้องหลายเพลง โดยเลส บราวน์ เคยกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ และหากพระองค์ไม่ได้ทรงมีงานอย่างที่มีอยู่ พระองค์ต้องทรงเป็นผู้นำวงการดนตรีที่ประสบความสำเร็จเป็นแน่

ไลโอแนล แฮมพ์ตัว นักดนตรีแจ๊สชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ในนิตยสาร Sawadee ว่า He is simply the coolest king in the land.   

“แม้แต่การแสดงละครเวทีมิวสิคัล ในสหรัฐฯ อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ 6 เพลง รวมทั้งเพลงอาทิตย์อับแสง ไปในการแสดงละครเวทีมิวสิคัล เรื่อง Peep Show ในสหรัฐ เมื่อปี 2493 เป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยมสูง รวมทั้งสิ้น 273 รอบ 

มหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการประพันธ์เพลงและบรรเลงดนตรีแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2547 อีกทั้งพสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา อัครศิลปิน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ 

ระหว่างทรงพระประชวร ยังทรงดนตรีแม้จะเป็นวงเล็กๆ ก็ตาม ดนตรีที่พระองค์ทรงเล่น ไม่ได้ทรงเล่นเพื่อความเกษมสำราญ แต่มุ่งไปสู่ประโยชน์สุข ดังพระบรมราโชวาท

"เล่นดนตรีเพื่อให้เป็นศิลปะที่ดีเป็นที่นิยมของประชาชน และเพื่อให้ประชาชนได้มีความบันเทิง ให้ประชาชนได้รู้จักว่า ดนตรีคืออะไร” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เผย