ราชินี-เจ้าฟ้าทีปังกร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน วัดสุวรรณดาราราม วัดนิเวศธรรมประวัติ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ วัดสุวรรณดาราราม และ วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันนี้ (29 ต.ค. 2567) เวลา 17.14 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดสุวรรณดาราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด ราชวรวิหาร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 เดิมชื่อ "วัดทอง" ซึ่งสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นใกล้กับบริเวณนิวาสสถานเดิม ต่อมาเมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดทองทั้งอาราม จึงถือเป็นพระอารามแห่งราชวงศ์จักรี
ลักษณะสถาปัตยกรรม มีพระอุโบสถ เป็นอาคารประธานมาแต่แรกเริ่มสร้างวัด ลักษณะแอ่นโค้งทรงท้องสำเภา ตามแบบศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ภาพจิตรกรรมลายเทพพนมลอยอยู่ในวิมาน มีขนาดลดหลั่นกันตามระยะใกล้-ไกล ตามลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก และภาพจิตรกรรมเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดก และสุวรรณสามชาดก บนผนังพระอุโบสถ ด้านหน้าพระอุโบสถ มีแท่นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นแท่นฐานบัวคว่ำและบัวหงาย ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ทรงนำมาจากพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย
ต่อจากนั้น เสด็จออกจากพระอุโบสถ ไปยังพระวิหาร ทรงวางพวงมาลัยและทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธชินราชจำลอง พระประธานพระวิหาร ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นพระพุทธปฏิมาโลหะ ลงรักปิดทอง ประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ต่อมา มีผู้ศรัทธานำซุ้มเรือนแก้วอย่างพระพุทธชินราช ทำจากไม้สักจำหลักลาย ลงรักปิดทองล่องชาด และประดับกระจกมาถวาย จึงทำให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธชินราช ภายในพระวิหาร ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม เป็นภาพเขียนสีน้ำมันแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนสวรรคต รวม 19 ตอน วาดโดย พระยาอนุศาสน์จิตรกร จิตรกรเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อพระประธานประจำพระอุโบสถ ว่า "พระพุทธสุวรรณวชิโรภาส ทศมินทราธิราชบพิตร" มีความหมายว่า พระพุทธปฏิมากร ทรงรัศมีแห่งทองและเพชร อันพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงบูชา
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นประธานในพิธีหล่อพระพุทธสุวรรณวชิโรภาส ทศมินทราธิราชบพิตร (จำลอง) เนื้อสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานด้านหน้าพระอุโบสถบริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ในการนี้ พระเมธีวชิรธาดา (เวชยันต์ เวชยันโต) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม ได้ถวายพระพุทธสุวรรณวชิโรภาส ทศมินทราธิราชบพิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1 องค์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 1 องค์
จากนั้น เวลา 18.46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดนิเวศธรรมประวัติ ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้ เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดขึ้นเมื่อปี 2419 แล้วเสร็จเมื่อปี 2421 สำหรับเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เปรียบเสมือนวัดประจำพระราชวัง
โดยนำรูปแบบศิลปะแบบโกธิค อันเป็นศิลปะสมัยกลางของยุโรป มาเป็นต้นแบบในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ภายในวัด อาทิ กำแพง ซุ้มประตู หอระฆัง ศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิ โดยเฉพาะพระอุโบสถของวัด ที่เป็นอาคารมีโดมหอคอยปลายแหลมตามอย่างโบสถ์ในคริสต์ศาสนา บริเวณยอดโดมมีหอนาฬิกาและระฆังชุด,
เหนือขึ้นไปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ภายในประดิษฐาน "พระพุทธนฤมลธรรโมภาส" เป็นพระประธาน ซึ่งออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ โดยใช้การผสมผสานศิลปะแบบประเพณีนิยมกับศิลปะแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ บริเวณฐานชุกชีสร้างเหมือนที่ตั้งไม้กางเขน มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ทรงเครื่องต้น ประดับด้วยกระจกสี อยู่บริเวณซุ้มโค้งเหนือมุขทางเข้า
จากนั้น เสด็จออกจากพระอุโบสถ ไปยังมณฑลพิธีถวายผ้าป่าหน้าพระอุโบสถ ทรงรับผ้าไตรจากหม่อมราชวงศ์ดำรงดิศ ดิศกุล ทรงพาดผ้าไตรระหว่างพระกร แล้วประนมพระหัตถ์ ทรงกล่าวคำถวายผ้าป่า ทรงวางผ้าไตรที่พานแว่นฟ้า พระราชวชิรสารสุธี (เอนก มนุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ พิจารณาผ้าป่า
สำหรับ วัดนิเวศธรรมประวัติ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ปัจจุบัน มีพระภิกษุสงฆ์ 21 รูป สามเณร 116 รูป.