ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม

ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม เป็นพิธีแห่งการแสดงความจงรักภักดีของเหล่าทหารรักษาพระองค์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นมิ่งขวัญของปวงประชา นับเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน

KEY

POINTS

  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และทหารรักษาพระองค์
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจพลสวนสนาม โดยพระดำเนินด้วยพระบาทเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • ในปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหารามาศรีสินทร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม ในตำแหน่งผู้บังคับกองพันสวนสนามที่ 1
     

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา เหล่าทหารรักษาพระองค์ทุกเหล่าทัพ พร้อมใจกันแสดงความจงรักภักดี และถวายพระเกียรติยศสูงสุดแด่องค์พระประมุข ในฐานะองค์จอมทัพไทย 


จุดเริ่มต้นของเหล่าทหารรักษาพระองค์ 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสนพระทัยในกิจการทหารทุกประเภท นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร กรมทหารหน้าฝึกหัดยุทธวิธีอย่างต่างประเทศ ณ ท้องสนามไชย เกิดเป็นพระราชนิยมในกิจการทหาร ประกอบกับมีบุตรของพระราชตระกูล บุตรของข้าราชการซึ่งยังเยาว์วัย เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในหลายคน 

ในปีพ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเด็กเหล่านั้น มาทดลองฝึกหัดเป็นทหารยุทธวิธีแบบใหม่ให้ทำการฝึกแบบทหารหน้า และให้ทำหน้าที่ไล่กา ที่บินมารบกวนในเวลาทรงบาตร ตลอดจนตั้งแถวรับเสด็จฯ ณ ที่นั่นตลอดเวลา มหาดเล็กทั้ง 12 คน เรียกว่า มหาดเล็กไล่กา  จึงเป็นต้นกำเนิดของกรมมหาดเล็กในสมัยต่อๆ มา 

ครั้นเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านพ้นไป ปลายปีพ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมมหาดเล็ก ข้าหลวงเดิม มีทั้งหมด 24 คนตั้งขึ้นเป็นทหารอีกหน่วยหนึ่ง จึงเรียกว่า ‘ทหารสองโหล’ โดยมีหน้าที่เฝ้าพระฉากตามเดิม เว้นแต่ในตอนเช้าและเย็นต้องมารับการฝึกทหาร 

ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกบรรดาราชบุตรของพระราชตระกูล บุตรข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เพื่อจัดตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในปีพ.ศ. 2413 สำหรับรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด รวม 72 คน ทำหน้าที่เหมือนเดิมและเมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองหรือต่างประเทศ

ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม

ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม

จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นทหารเพิ่มขึ้น อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง ‘กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์’ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรม เรียกยศเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘คอลอเนล’ และทรงขนานนามของกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เสียใหม่ว่า ‘กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์’ โดยคำว่า ‘ราชวัลลภ’ แปลว่า ผู้เป็นที่รัก สนิทคุ้นเคยของพระราชา 

การสวนสนามเพื่อแสดงความจงรักภักดี

ปีพ.ศ. 2450 เป็นปีแห่งการริเริ่มพิธีสวนสนามของเหล่าทหารรักษาพระองค์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการสถาปนากองพลที่ 1 รักษาพระองค์ โดยกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช หม่อมเจ้าจิรประวัติวรเดช  ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการในขณะนั้น กราบบังคมทูลขอพระราชทานอนุญาตจัดตั้งหน่วยทหารระดับกองพลขึ้น 10 กองพล เพื่อให้มีกำลังสามารถปกป้องประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศและช่วยเหลือประชาชน การถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ 

อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญและภาคภูมิใจของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ คือการได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา อย่างต่อเนื่อง  

ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม เริ่มขึ้นสมัยรัชกาลที่ 9
สำหรับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยจัดให้มีขึ้นเนื่องในวันสถาปนากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 

การจัดพิธีสวนสนามถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จัดขึ้นครั้งแรก ณ พระลานพระราชวังดุสิต โดยมีกำลังพลเข้าร่วมการสวนสนาม 4 กองพลเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพล เพื่อใช้แทนธงของเดิม

รูปแบบและขั้นตอนการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม
    มีการปรับเปลี่ยนเรื่อยมาเพื่อให้สมพระเกียรติ อาทิ ในปีพ.ศ.2523 มีการจัดกำลังพลโรงเรียนนายเรือและโรงเรียนนายเรืออากาศ เข้าร่วมสวนสนามเป็นครั้งแรก นับเป็นปีแรกที่ทหารสามเหล่าทัพเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง 

ต่อมาในปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม มีหน่วยทหารรักษาพระองค์จากกรมนาวิกโยธิน กองทัพเรือเข้าร่วมจำนวน 1 กองพัน

ปีพ.ศ. 2529 เป็นปีแรกที่มีทหารม้าเข้าร่วมพิธีสวนสนาม โดยขี่ม้าเป็นขบวนปิดท้ายในการสวนสนาม ในปีเดียวกัน กองทัพบกจัดเครื่องบินแบบแอล 19 จำนวน 1 หมู่บิน ทำการบินปล่อยควันธงชาติและโปรยข้าวตอกดอกไม้เหนือแถวทหาร

ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม
ปีพ.ศ.2542 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพรรษา 6 รอบ มีการจัดหมู่ธงชัยเฉลิมพล จำนวน 36 หมู่ธงจากหน่วยทหารรักษาพระองค์ทุกหน่วย เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว 


ทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนออกทางประตูทวยเทพสโมสร หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในพิธี ในปีพ.ศ.2549-2550 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินกลับจากพิธี ด้วยเส้นทางพระลานพระราชวังดุสิตไปทางถนนศรีอยุธยา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระรามที่ 5 ไปยังพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน เนื่องจากทรงทราบว่ามีประชาชนมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างเนืองแน่น 

นอกจากนี้ ในปีพ.ศ. 2556 พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามจัดขึ้นนอกกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาประชาสมาคม วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

เหตุการณ์สำคัญในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม  
สิ่งที่สร้างความปลื้มปีติแก่ผู้เข้าร่วมพิธีในวันนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจพลสวนสนาม โดยพระดำเนินด้วยพระบาทเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ 

ในสมัยก่อนการสวนสนามไม่ได้มีเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อีกทั้งยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก ริเริ่มให้หน่วยทหารรักษาพระองค์ จัดพิธีสวนสนามแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระลานพระราชวังดุสิต 

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธาน โดยมีกำลังพลสวนสนามราว 8 กองพัน นับแต่นั้นมากองทัพบกจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติและน้อมรับพระบรมราโชวาทจากพระองค์ท่าน อันเป็นขวัญและกำลังใจสูงสุด 

อีกหนึ่งเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของพิธีนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระยศพันตรี ทรงเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม ในตำแหน่งผู้บังคับกองพันสวนสนามที่ 1 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ 

ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และวันกองทัพไทย ณ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร อ.เมือง จ.สระบุรี นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยในหลวง รัชกาลปัจจุบัน ในการเสด็จพระราชดำเนินในพิธีสำคัญนี้ 

รวมทั้ง วันที่ 3 ธันวาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ‘ราชวัลลภ เทิดไท้จอมราชา 72 พรรษามหามงคล’ ณ พระลานพระราชวังดุสิต

ในการนี้ พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงนำการสวนสนามของทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์และทหารรักษาพระองค์สามเหล่าทัพ ในตำแหน่ง “องค์ผู้บังคับกองผสม”

ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม พร้อมด้วย พลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงม้านำขบวนกองพันทหารม้ารักษาพระองค์ ในตำแหน่ง “องค์ผู้บังคับกองพันทหารม้ารักษาพระองค์” โดยมีการจัดกำลังพลสวนสนามจากหน่วยต่าง ๆ ประกอบด้วย

กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ หน่วยทหารรักษาพระองค์จากกรมทหารราบ กรมทหารม้า กรมทหารปืนใหญ่ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

กองพันทหารม้าที่ 25 กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 102 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1  กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองพันทหารม้ารักษาพระองค์ โดยเหล่าทหารรักษาพระองค์ ต่างแสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง ความเข้มแข็ง ความสามัคคี และความสมบูรณ์ของลำดับพิธี เพื่อร่วมถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์จอมทัพไทย ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของเหล่าทหารรักษาพระองค์ทุกนาย

ทำความรู้จักพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม


หมายเหตุ  
ข้อมูลจาก : หนังสือกองทัพไทย จัดทำโดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชย์สมบัติ 50 ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึก เนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 นิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 23 ฉบับที่ 549 15 ธันวาคม 2557 และกองทัพไทย

ภาพ : แฟ้มภาพเนชั่นโฟโต้ ระหว่างปีพ.ศ. 2546-2549