ทำความรู้จักพระราชพิธีสมมงคล
วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคลเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง
KEY
POINTS
- พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระราชประเพณีที่ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 4 วาระ
-
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการทะนุบํารุงและรักษาราชอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองและดํารงอยู่อย่างมั่นคง เป็นรากฐานของการพัฒนาความเป็นชาติไทยสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน
-
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของคุณภาพชีวิต ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจตามรอยพระยุคลบาท อันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ทั้งทางด้านการศึกษา ศาสนา การแพทย์และสาธารณสุข การเกษตร การสังคมสงเคราะห์
วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคลเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง
ความสำคัญของพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
การบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คํานึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี ในวาระต่างๆ เช่น ในวันที่ตรงกับการครองราชย์ มีทั้งโอกาสที่เวียนมาเป็นครั้งแรกมักเรียกว่า “สมมงคล” (สะ-มะ-มง-คน)หมายถึง เสมอกัน หรือ “สมภาคา” บ้าง
ถ้าเวียนมาเป็นครั้งที่สองก็เรียกว่า “ทวิภาคา” บ้าง หรือ “ทวีธาภิเษก” บ้าง จะปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีลักษณะนี้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระราชกุศลที่บําเพ็ญถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์
นอกจากโอกาสวันดํารงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกับวันสําคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพระราชประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติในอีกหลายวาระ และวาระหนึ่งที่สําคัญ คือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนไปเสมอเท่ากัน และวันที่พระชนมพรรษามากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ล่วงไปแล้วด้วย
ถือเป็นการแสดงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรําลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณความดีไว้แก่บ้านเมืองให้ราษฎรยึดถือเป็นแบบแผน
การจัดพระราชพิธีสมมงคลครั้งที่ผ่านมา
ตามโบราณขัตติยราชประเพณี พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระมหากษัตริย์ในวาระสําคัญๆ เสมอมา ซึ่งแสดงถึงพระราชจริยาวัตรและวัฒนธรรมอันดีงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีเทิดทูนพระราชกรณียกิจของพระบรมราชบูรพการีที่ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ นําความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาราษฎร์และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมือง พระบรมราชวงศ์จึงยั่งยืนมั่นคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 4 วาระ คือ
การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508
การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2528
การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534
การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งนับพระชนมวารได้ 26,467 วัน โดยครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
ทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำรงรัฐสีมาอาณาจักร เพื่อทรงทำนุบำรุงความสุขให้แก่ประเทศและประชาชนชาวไทยสืบไป
พระราชประวัติ พระปรีชาสามารถ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ด้วง หรือ ทองด้วง ประสูติในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2279 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลัง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยกธิดาเศรษฐีจีน มีพระเชษฐภคินีสองพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ มีพระเชษฐาหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้ารามณรงค์ มีพระราชอนุชาสองพระองค์ คือ พระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และมีพระขนิษฐาหนึ่งพระองค์ คือกรมหลวงนรินทรเทวี
เมื่อทรงเจริญพระชันษาทรงเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต เมื่อพระชนมายุครบ 21พรรษา ทรงผนวช ณ วัดมหาทลาย เป็นเวลา 1 พรรษา หลังจากทรงลาผนวชแล้วกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมายุได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ (พุทธศักราช 2301-2310) พระมหากษัตริย์ลําดับสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตรออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี ในปีพุทธศักราช 2311
ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ในกรมพระตํารวจหลวง โดยเสด็จพระราชดําเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบเจ้าพิมายเป็นครั้งแรก โดยมีหน้าที่ตีด่านขุนทดและด่านกระโทก เมื่อเสร็จศึกสงครามครั้งนี้แล้วทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตํารวจ
ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่างๆ ของเขมรและลาวได้สําเร็จอีกหลายครั้ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบําเหน็จความชอบให้สถาปนาบรรดาศักดิ์สูงขึ้น โดยลําดับ กล่าวคือ พุทธศักราช 2313 ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระยายมราชและทรงทําหน้าที่สมุหนายกด้วย
ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก และพุทธศักราช 2319 ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหึมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศราชสุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลกากร บวรรัตนปรินายก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ครั้นพุทธศักราช 2324 เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระราชอัธยาศัยผิดปกติไปจากเดิม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรและพระภิกษุทั้งหลาย พระยาสรรค์จึงก่อกบฏขึ้นแล้วควบคุมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปกักขังไว้ เกิดการสู้รบกันระหว่างฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายกบฏ เหตุการณ์ดังกล่าว ทําให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งยกทัพไปปราบจลาจล ที่เมืองเขมรต้องยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูกสําเร็จโทษแล้ว มุขอํามาตย์ราชมนตรีและราษฎรทั้งหลายก็พร้อมกันกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ให้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์สืบไป เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 47 พรรษา ต่อมาได้ทรงประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พุทธศักราช 2325 และทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีตามโบราณราชประเพณี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายพระนครมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องกับกรุงธนบุรีพระนครแห่งเดิม ด้วยมีพระราชดําริว่าฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะภูมิประเทศเป็นชัยภูมิดีกว่าฝั่งตะวันตก ทั้งการป้องกันข้าศึกและการขยายพระนครในอนาคตซึ่งจะสามารถทําได้โดยสะดวก
ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดที่เตรียมสร้างพระนครใหม่ทางฝั่งตะวันออก ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1144 เวลา 06.54 นาฬิกา ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325
อีกทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นในบริเวณที่ซึ่งพระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่แต่ก่อนตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนเหล่านั้นย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง ในชั้นแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างพระราชนิเวศน์มนเทียรสถานล้อมด้วยปราการระเนียดไม้ไว้ก่อน พอแก่การตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป และเป็นที่ประทับชั่วคราว เมื่อทรงประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขปเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดําเนินการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคลและพระนครต่อไป
การก่อสร้างในครั้งนั้น มีการเกณฑ์ไพร่หลวงและไพร่เลขหัวเมือง ให้ทำอิฐขึ้นใหม่บ้างและให้รื้อเอาอิฐกําแพงที่กรุงศรีอยุธยาลงมาบ้าง เพื่อสร้างกําแพงพระนคร และพระบรมมหาราชวัง และเกณฑ์ไพร่เลขหัวเมืองเขมรกับเวียงจันทน์ และข้าราชการหัวเมืองเข้ามาช่วยกันขุดราก ก่อกําแพงพระนคร สร้างป้อมต่าง ๆ รอบพระนคร พร้อมทั้งก่อกําแพงและสร้างป้อมประตูรอบพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างปราสาทราชมณเทียร และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้น ในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
การสร้างพระนครใหม่นี้แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช 2328 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร พร้อมกับการสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา 3 วัน พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องด้วยนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรอันเป็นมงคล ยิ่งต่อบ้านเมืองว่า
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์” เรียกโดยย่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์”
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการทะนุบํารุงและรักษาราชอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองและดํารงอยู่อย่างมั่นคง ในด้านการสงครามต้องทรงทําศึกสงครามป้องกันราชอาณาจักรและขยายพระราชอาณาเขตหลายครั้ง ด้านกฎหมายทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ผู้มีความรู้ในราชประเพณีและการบริหารราชการแผ่นดิน ร่วมกันชําระ และปรับปรุงการวางระเบียบแบบแผน ในการปฏิบัติราชการไว้เป็นหลักฐาน
รวมทั้งการชําระพระราชกําหนดกฎหมายที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณให้ถูกต้อง และรวมกฎหมายที่ทรงตราขึ้นใหม่เข้าไว้ด้วยกัน แล้วจัดเป็นหมวดหมู่เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง หรือ ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1
ด้านศาสนาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ตรากฎหมายพระสงฆ์ จัดระเบียบพระสงฆ์ใหม่ สร้างพระอารามขึ้นใหม่ และมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองเป็นจํานวนมาก
ด้านวัฒนธรรมทรงฟื้นฟูศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ทรงฟื้นฟูขนบธรรมเนียมและราชประเพณีต่าง ๆ ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประเพณีการเล่นสักวา ประเพณีเทศน์มหาชาติ ประเพณีเสด็จพระราชดําเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นักปราชญ์ราชกวีช่วยกันแปล ชําระ เรียบเรียงพระราชพงศาวดาร และวรรณคดีต่าง ๆ ตลอดรัชกาล เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พงศาวดารเหนือ วรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ไซ่ฮั่น ราชาธิราช ไตรภูมิโลกวินิจฉัย รัตน พิมพวงศ์ สังคีติยวงศ์ เป็นต้น
อีกทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่อง เช่น คํากลอนบทละครเรื่องรามเกียรติ์ คํากลอนบทละครเรื่องอิเหนา คํากลอนบทละคร เรื่องอุณรุท กลอนเพลงยาวนิราศเรื่อง รบพม่าท่าดินแดง เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2352 พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปฏิบัตินั้น กล่าวได้ว่ามีความสําคัญอย่างยิ่งด้วยเป็นรากฐานและแบบอย่างของการพัฒนาความเป็นชาติไทยสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน
พระราชประวัติ พระปรีชาสามารถ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2498 ตรงกับขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์
สำหรับพระนาม “วชิราลงกรณ” นั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ตั้งพระนามและถวายตามดวงพระชะตา ซึ่งทรงตั้งถวายมาจาก “วชิรญาณะ” อันเป็นพระนามฉายาในขณะผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ “อลงกรณ์” จากพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า “ทรงเครื่องเพชรนิลจินดา” หรือ “อสุนีบาต”
พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา เมื่อปี พ.ศ. 2499 หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงส์มีด และโรงเรียนมิลล์ฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ต่อมาปี พ.ศ.2513 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาด้านการทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
จากนั้นปี พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา และปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ สาขาวิชาอักษรศาสตร์ด้านการทหาร จนสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2519
เมื่อนิวัติประเทศไทย พระองค์ยังทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 ระหว่างปี พ.ศ. 2520 – 2521 และทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี พ.ศ. 2531 และต่อมาทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย
หลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทยทรงรับราชการเป็นนายทหารประจำกองทัพบกแล้วได้ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาที่จะเสด็จออกผนวช เพื่อสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชบุพการี และเพื่อทรงศึกษา ตลอดจนทรงปฏิบัติตามพระธรรมวินัย การพระราชพิธีผนวชได้จัดขึ้น ณ พัทธสีมา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ทรงได้รับพระสมณนามว่า “วชิราลงกรโณภิกขุ” ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน
ตลอดระยะเวลาที่ทรงพระผนวชนั้น ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเคร่งครัดตามพระวินัย และทรงปฏิบัติเช่นพระสงฆ์ทั่วไป อาทิ ทรงร่วมทำวัตรเช้า - เย็น ทำสังฆกรรม ทรงสดับพระธรรมเทศนา ทรงศึกษาพระธรรมวินัยร่วมกับพระภิกษุอื่นๆ ด้วยพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา จนทรงลาสิกขา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ขึ้นทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ตามโบราณขัตติยราชประเพณี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต
นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย ในมงคลวาระนั้นพระองค์ ทรงถวายสัตย์ปฏิญาณในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งความซื่อสัตย์ที่ใช้น้ำเป็นเครื่องกำหนด แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อชาติบ้านเมืองและประชาชนชาวไทยตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไป
ตลอดระยะเวลาเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงแบ่งเบาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อสืบทอดรักษาโบราณราชประเพณี ดำรงไว้ซึ่งวิถีเกษตรกรรมไทย ทรงปฏิบัติพระราชกิจด้านการศาสนา
เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตามฤดูกาล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมถึงยังทรงอุปถัมภ์และส่งเสริมทุกศาสนาในประเทศไทยอีกด้วย นับเป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท ในฐานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและปวงชนชาวไทย ทั้งทางด้านการศึกษา ศาสนา การแพทย์และสาธารณสุข การเกษตร การสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น ดังเช่นเมื่อครั้งพระองค์โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร
พระองค์ทอดพระเนตรถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรด้วยทรงตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของคุณภาพชีวิต จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเรียนและพระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งการพัฒนาอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ
พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลและโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมช่วยเหลือดูแลสุขภาพของราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พระองค์ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อพสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เนื่องในโอกาสมหามงคลนี้ รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในนามรัฐบาล จำนวน 7 กิจกรรม ได้แก่ การจัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม พ.ศ. 2568 ณ สวนสราญรมย์และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประเพณีมงคลของชาวล้านนา ประกอบด้วยกิจกรรม ได้แก่
พิธีฮอมบุญถวายเจ้าเหนือหัว พิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ การสาธิตภูมิปัญญาในการจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานพิธี การจัดสาธิตกาดมั่วหรือตลาดพื้นบ้านล้านนา
การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ภายในเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ได้แก่ พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ซึ่งบริเวณพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ผู้เป็นต้นพระบรมราชจักรีวงศ์
การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568 ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
การจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล ณ ศาสนสถาน อันเป็นพระบรมราชานุสรณ์ หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศ วัดราชบูรณะ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดคูหาสวรรค์ วัดราชสิทธาราม วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดราชาธิวาส วัดโมลีโลกยาราม วัดยานนาวา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดชนะสงคราม และวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยเป็นไม้มงคลหายาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ได้แก่ ตะเคียนทอง พิกุล อินจัน