สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพระราชวงศ์ไทยและภูฏานที่มีมายาวนาน เกิดจากรากฐานทางวัฒนธรรมและค่านิยมที่คล้ายคลึงกันในหลายมิติ นับเป็นความผูกพันที่เหนือกว่าความสัมพันธ์ทางการทูตทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2568 นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศที่สูงที่สุดทางการทูต หรือ State Visit ครั้งแรกในรัชสมัย 

ทั้งยังเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างสองพระราชวงศ์ ที่มีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น เสริมสร้างมิตรภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างสองราชอาณาจักร ในวาระสำคัญทางประวัติศาสตร์ 

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนภูฏาน 

ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานหลายครั้ง ทั้งการเสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการ และเป็นการส่วนพระองค์ 

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนภูฏาน เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 22-30 พฤษภาคม 2531 ในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศยังไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกัน ในการนี้ เจ้าหญิงเพม เพม วังชุก พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 4 แห่งภูฏาน ถวายการต้อนรับและถวายการรับรองในการเสด็จฯ

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนภูฏานหลายครั้ง พร้อมทั้งทรงริเริ่มโครงการความร่วมมือที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวภูฏาน อาทิ โครงการความร่วมมือเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรภูฏาน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

การนี้ พระราชทานความช่วยเหลือแก่ภูฏาน ตั้งแต่พ.ศ. 2550 เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนให้มีภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยที่ดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการฝึกอบรมและศึกษาดูงานให้แก่คณะทำงานโครงการอาหารในโรงเรียนของภูฏาน 

ต่อมาในปีพ.ศ. 2554  จึงเริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ขึ้นในโรงเรียนต่าง ๆ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของภูฏาน เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นยูรุง เมืองเพมากาตเชล  โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเกเนคา กรุงทิมพู และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นวานาคา เมืองพาโร เป็นต้น

ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ 23 – 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลภูฏาน เพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริ ที่พระราชทานทุนดำเนินงานให้เมื่อปี พ.ศ. 2555  

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีที่ 4 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระราชบิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ปัจจุบัน ณ พระราชวังเคเชนโชลิง 

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีเคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา ณ ป้อมตาชิโซซองในกรุงทิมพู โดยทั้งสองพระองค์เสด็จออกทรงรับ พร้อมจัดให้มีพระราชพิธีต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนภูฏาน อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่  23-26 มิถุนายน 2534 ในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 4 แห่งภูฏาน (สมเด็จพระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ปัจจุบัน)  

การเสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรภูฏานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่ยาวนานและแน่นแฟ้นระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับพระราชวงศ์ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน เสด็จฯ เยือนไทย 

ในขณะเดียวกัน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยหลายครั้ง โดยปีพ.ศ.2544 ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร และเชิญคณะโครงการหลวงไปเยือนราชอาณาจักรภูฏาน 

ต่อมาใน พ.ศ. 2546 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งโครงการหลวงภูฏานขึ้น ใน พ.ศ. 2555 โดยมีโครงการหลวงของไทยเป็นต้นแบบ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ สนับสนุนการสาธิตเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอก และพืชสวน 

รวมทั้งการแปรรูปผลผลิต และการตลาด การพัฒนาแผนผังภูมิทัศน์ จัดทำแปลงสาธิตในพื้นที่โครงการหลวงภูฏาน 2 แห่ง คือ เดเชนโชริง เมืองทิมพู และชิมิปัง เมืองพูนาคา พร้อมให้ความรู้ในแนวทางพัฒนาแบบโครงการหลวงแก่เจ้าหน้าที่ของราชอาณาจักรภูฏาน สนับสนุนต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี และอาโวคาโด จัดฝึกอบรมดูงานในพื้นที่โครงการหลวง 

อีกทั้งร่วมพัฒนาพื้นที่โครงการหลวงภูฏานให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นแหล่งพักผ่อนเชิงเกษตรแก่ประชาชนชาวภูฏาน ผลผลิตที่ได้จากแปลงสาธิตยังจำหน่ายภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้บางส่วนอีกด้วย ซึ่งความร่วมมือของสองประเทศ ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงหลวง ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพื้นที่ปฏิบัติงานที่เป็นความร่วมมือของโครงการหลวงและประเทศภูฏาน ที่เรียกว่า โครงการหลวงภูฏาน ซึ่งผลการดำเนินงานมีความรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน เมื่อครั้งสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน ทรงเป็นหนึ่งในพระราชอาคันตุกะ ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ระหว่างวันที่ 12 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ด้วยพระชนมายุน้อยที่สุดในบรรดาพระราชอาคันตุกะทั้งปวง อีกทั้งภาพพระราชกรณียกิจและพระจริยาวัตรอันอ่อนน้อมงดงามนี้ เป็นที่ปลื้มปีติของพสกนิกรชาวภูฏานและชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

ต่อมา วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อทอดพระเนตรสวนดอกไม้ของภูฏาน ภายในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์2549 จัดขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่

อีกสองวันถัดมา พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ สภามหาวิทยาลัยรังสิต เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ในพิธีประสาทปริญญาประจำปี 2549 ณ อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในการนี้ พระราชทานพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า 

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

“ข้าพเจ้าอยากจะขอแบ่งปันความคิดและความรู้สึกของข้าพเจ้าแก่ทุกคน ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ ได้สังเกตว่าอนาคตของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร จะประสบผลสำเร็จ และมีความยากเย็นแค่ไหน ข้าพเจ้าสามารถเรียนรู้และได้ความรู้จากทั้งประชาชน วัฒนธรรม และประสบการณ์ของประเทศที่ข้าพเจ้าเดินทางไปเยือน

ข้าพเจ้าไม่ใช่คนเก่ง ข้าพเจ้าพยายามจะยืนอยู่บนความคิดและความเป็นเหตุเป็นผล ด้วยการสื่อสารกับผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกับเยาวชน ข้าพเจ้าได้พบปะเยาวชนไทยหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าพวกเขารักประเทศไทย มีความเป็นเอกภาพ และมีความฝันของตนเอง ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าเยาวชนของภูฏานจะมีคุณสมบัติเหมือนเยาวชนของประเทศไทยด้วย

ในโอกาสที่ข้าพเจ้าได้เดินทางมาร่วมงานเฉลิมฉลองในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าได้เห็นประชาชนของไทยแสดงความจงรักภักดี และเสียสละแก่พระมหากษัตริย์และประเทศของตน ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของประชาชนคนไทยในการป้องกันประเทศอีกด้วย”  

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คนไทยในวันนั้น เป็นการสะท้อนพระจริยวัตรอันเกิดจากรากฐานทางวัฒนธรรมและค่านิยมที่คล้ายคลึงไม่ว่าจะเป็นการเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งสองประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งสองชาติ

การนับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติของทั้งไทยและภูฏาน มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน ความภาคภูมิใจในเอกราช โดยไทยและภูฏานเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติร่วมกัน

สายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพระราชวงศ์ไทยและภูฏาน หยั่งรากลึกมายาวนาน เป็นความผูกพันที่เหนือกว่าความสัมพันธ์ทางการทูตทั่วไป โดยเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระประชวร สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน มีพระบรมราชโองการให้วัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักรภูฏาน ร่วมกันสวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “กษัตริย์นักพัฒนา” ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรสวรรคต สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงร่วมพระพิธีธรรมสวดพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

จากนั้นทรงพระดำเนินไปทรงพระอักษรแสดงความอาลัย พร้อมทั้งทรงลงพระนามาภิไธย ณ ศาลาว่าการพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวัง แสดงให้เห็นถึงความเคารพและมิตรภาพในระดับสูงสุด

สืบสานพระราชปณิธานรักษาความสัมพันธ์อันดีกับราชอาณาจักรภูฏาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ทรงสืบสานพระราชปณิธานในการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับราชอาณาจักรภูฏาน โดยทรงมีพระราชไมตรีที่ใกล้ชิดกับพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก จึงทรงตอบรับคำทูลเชิญการเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยอย่างเป็นทางการ 

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานด้วยความปีติยินดียิ่ง ทั้งนี้หมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ มีขึ้นวันที่ 25 เมษายน 2568 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานนานาชาติ ณ เมืองพาโร สมาชิกพระราชวงศ์แห่งราชอาณาจักรภูฏานจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังป้อมทาชิโช กรุงทิมพู ในช่วงบ่าย ณ ที่นั้น สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินี แห่งภูฏาน ทรงจัดพิธีรับเสด็จอย่างเป็นทางการ ทรงพระดำเนินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ 

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังลานเทนเดรลทัง เพื่อทอดพระเนตรการแสดงขบวนพาเหรดและสวนสนาม รวมทั้งการแสดงทางวัฒนธรรม และ ณ อัฒจันทร์แห่งนั้น มีประชาชนชาวภูฏานร่วมถวายการรับเสด็จและชื่นชมพระบารมี ในช่วงค่ำ สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินี แห่งภูฏาน จะถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังเดเชนโชลิง

ในวันที่ 26 เมษายน 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินยังสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดอร์เดนมา เพื่อร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล โดยคณะสงฆ์ฝ่ายภูฏาน และคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายละ 74 รูป และต่อจากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน พระองค์ที่ 4 จะเสด็จพระราชดำเนินมาเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการหลวงเดเชนโชลิง เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิโครงการหลวงของไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฏฎาน รวมทั้งการจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และในช่วงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรีและภริยา เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ โรงแรมที่ประทับ

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พระราชวงศ์ไทย-ภูฏาน

วันที่ 27 เมษายน 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังลิงคานา เพื่อทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมของภูฏาน ได้แก่ การแสดงศิลปะการยิงธนู กีฬาพื้นบ้าน และงานหัตถกรรมผ้าและสิ่งทอของราชอาณาจักรภูฏาน
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังตลาดกลางประจำกรุงทิมพู ทรงรับฟังการบรรยายสรุปและทอดพระเนตรนิทรรศการของโครงการอาสาสมัครเดซุง 

อีกทั้งในวันสุดท้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังป้อมดุงการ์ ณ เมืองพาโร ทรงสักการะพระศากยมุนี และทอดพระเนตรกิจกรรมของราชวิทยาลัย และนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเมืองเกเลฟูให้เป็นเมืองแห่งสติปัญญาในเขตปกครองพิเศษ แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งกลับถึงท่าอากาศยานทหารในวันจันทร์ ที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2568 

สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชวงศ์ไทยและภูฏาน จึงเป็นที่ประจักษ์แบบอย่างของมิตรภาพที่งดงามระหว่างสองประเทศ ที่มีรากฐานจากความเคารพ ความเข้าใจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีรากฐานจากความเคารพ ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีทั้งสองฝ่าย