ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายน 2568

วันนี้ (25 เมษายน 2568) เวลา 9 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่นของราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติพาโร เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ หรือ State Visit ครั้งแรกในรัชสมัย หลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินผู้ช่วย

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

 

ท่าอากาศยานนานาชาติพาโร เป็นสนามบินแห่งเดียวของราชอาณาจักรภูฏาน อยู่ห่างจากกรุงทิมพูซึ่งเป็นเมืองหลวงประมาณ 50 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในหุบเขาลึกที่ระดับความสูง 2,235 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ล้อมรอบด้วยภูเขาที่สูงถึง 5,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานของโลกที่มีความยากที่สุดในการนำเครื่องขึ้นและลงจอด

โดยนักบินที่ทำการบินมายังสนามบินแห่งนี้ต้องได้รับการฝึกอบรมพิเศษและได้รับใบอนุญาตเฉพาะ ต้องมีทักษะที่ชำนาญด้านการควบคุมเครื่องบินด้วยตัวเอง เพราะระบบนำร่องอัตโนมัติไม่สามารถช่วยได้เต็มที่, การบินหลบภูเขาเข้าไปตามร่องเขา อาจเจอลมในร่องเขาที่มีโอกาสแปรปรวนได้มากกว่าลมในพื้นที่เปิดราบ ทำให้การควบคุมเครื่องบินยากยิ่งขึ้น ทำให้นักบินยิ่งต้องใช้ทักษะการบังคับเครื่องบินที่แม่นยำ เพื่อการลงจอดอย่างปลอดภัย

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นางมาฆวดี สุมิตรเหมาะ ปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักรภูฏาน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และกราบบังคมทูลเบิก นางอูเกน โชซม อธิบดีกรมพิธีการทูตราชอาณาจักรภูฏาน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลเชิญเสด็จลงจากเครื่องบินพระที่นั่ง

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

 

ราชอาณาจักรภูฏาน หรือ ภูฏาน ในภาษาซงข่า ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติภูฏาน แปลว่า “แผ่นดินอันสูงส่ง” แต่ชาวภูฏานเรียกชื่อประเทศของตนว่า "ดรุก ยุล" (Druk Yul) หมายถึง “ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า”

โอกาสนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน ถวายผ้าแพรคล้องพระหัตถ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน ถวายผ้าแพรคล้องพระหัตถ์แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ตามธรรมเนียมท้องถิ่นในการรับเสด็จของราชอาณาจักรภูฏาน เป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาดีจากผู้ให้ไปยังผู้รับ มักใช้มอบให้แขกสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนา และแขกสำคัญผู้มาเยือน ในการนี้ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน บริเวณเชิงบันไดเครื่องบินพระที่นั่ง

แล้วทรงพระดำเนินผ่านแถวกองทหารเกียรติยศ โดยการเสด็จพระราชดำเนินมารับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ณ ท่าอากาศยานนานาชาติพาโร ของสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุดต่อพระราชวงศ์ไทยและประเทศไทย มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายภูฏานเป็นคณะติดตามเกียรติยศฝ่ายภูฏาน เช่น ดาโช เคชัง วังดี (Dasho Kesang Wangdi) รองประธานองคมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน, นายคินซัง ดอร์จิ (Mr. Kinzang Dorji) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย, เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายไทย และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

สำหรับคณะติดตามเกียรติยศฝ่ายไทย ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีเกียรติยศ, พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ฯ, พลเรือเอก วีระศักดิ์ อ๊อกกังวาล และพลอากาศเอก เชษฐา เหมือนแก้ว ราชองครักษ์ประจำพระองค์

โอกาสนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน ทรงส่งเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เพื่อประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงแรมเพมาโกะ ทิมพู ซึ่งฝ่ายภูฏานจัดถวายเป็นโรงแรมที่ประทับ

โดยเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 มิถุนายน 2534 ตามพระราชสาส์นทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน พระองค์ที่ 4 การเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานในครั้งนี้ เป็นการเสด็จพระราชดำเยือนราชอาณาจักรภูฏานในครั้งที่สอง สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองพระราชวงศ์และสองประเทศ

ทั้งนี้ ฝ่ายภูฏานได้จัดจุดพักรถ ระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนิน 2 จุด ได้แก่ บริเวณหมู่บ้านวังซิซินา กรุงทิมพู โดยประชาชนในพื้นที่และตำบลใกล้เคียงนำพืชผลทางการเกษตรที่ได้จากการเก็บเกี่ยว เช่น ข้าวสาร พันธุ์พืช ไข่ และเครื่องหอม มาจัดแสดง ซึ่งเป็นประเพณีการต้อนรับตามธรรมเนียมท้องถิ่นของภูฏาน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการทำเกษตรกรรม ที่ไม่เพียงทำเพื่อการดำรงชีพ แต่ยังเป็นการจัดเตรียมพืชพันธุ์ธัญญาหารเพื่อการสักการะบูชาเทพเจ้า ซึ่งเป็นวิธีการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นการกล่าวคำอวยพรแก่ผู้มาเยือนผ่านคำอธิษฐาน พร้อมกันนี้ ทอดพระเนตรการแสดงทางวัฒนธรรม

แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณซุ้มประตูกรุงทิมพู โดยได้ทอดพระเนตรการทางวัฒนธรรมประกอบเพลงท้องถิ่น โดยชาวภูฏานมีความเชื่อว่าประเทศภูฏานได้รับการคุ้มครองจากเทพเจ้าท้องถิ่นอันทรงพลังจากทุกสารทิศ แต่ละชุมชนมีการเต้นรำ บทเพลง เครื่องนุ่งห่มและการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อบูชาเทพเจ้า บทเพลงเหล่านี้มักมีที่มาจากคำสอนของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต ซึ่งชาวภูฏานให้ความเคารพนับถือ โดยเรียบเรียงขึ้นเป็นพิเศษ ใช้แสดงเพื่อต้อนรับแขกคนสำคัญ เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้มาเยือนว่าจะได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นตลอดการเยือน ช่วยให้ผู้มาเยือนรับรู้ได้ถึงจิตวิญญาณของ "ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า”

ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากท่าอากาศยานนานาชาติพาโร เมืองพาโร ไปยังกรุงทิมพู มีนักเรียนและประชาชนชาวภูฏาน ประมาณ 15,000-20,000 คน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พร้อมโบกธงชาติไทยและภูฏาน รวมทั้งมีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชาธิบดี ตลอดสองข้างทางเพื่อถวายพระเกียรติ

เวลา 11 นาฬิกา 21 นาที รถยนต์พระที่นั่งถึงยังโรงแรมเพมาโกะ ทิมพู ซึ่งฝ่ายภูฏานจัดถวายเป็นโรงแรมที่ประทับ โดยมี พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน ได้แก่ เจ้าหญิงชิมิ ยังซอม วังชุก, เจ้าหญิงโซนัม เดเชน วังชุก, เจ้าหญิงเดเชน ยังซอม วังชุก, เจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก และเจ้าหญิงยูเฟลมา โชเดน วังชุก เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

นอกจากนี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายภูฏาน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและพัฒนาทักษะ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงธากา, ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานกรุงนิวเดลี, เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา, กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ กรุงทิมพู, ชุมชนคนไทยในราชอาณาจักรภูฏาน และเจ้าของโรงแรมเพมาโกะ ทิมพู เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
 

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงภูฏาน เยือนเป็นทางการ 25-28 เม.ย. 68