ย้อนประวัติศาสตร์ กกต.แพ้คดี “สุรพล” รายแรกศาลสั่งเยียวยา
นั่นจึงเป็นไปได้ว่ากรณีของ “สุรพล” อาจเป็น “คดีแรก” ที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ กกต.ชดใช้ค่าเสียหายและค่าเยียวยา จากการใช้ดุลยพินิจของ กกต.ดังกล่าว
นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่ศาลจังหวัดฮอด พิพากษาให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชดใช้ค่าเสียหายและเยียวยากว่า 64 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 70 ล้านบาท แก่ “สุรพล เกียรติไชยากร” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 8 สมัย
ก่อนหน้านี้ศาลฎีกา พิพากษายกฟ้องคดีที่ กกต. ยื่นฟ้องนายสุรพล คดีบูชาเทียนเพื่อทำบุญวันเกิด 2,000 บาท ตั้งแต่เมื่อปี 2563 โดยระบุว่า ไม่ใช่เป็นการซื้อเสียง หรือทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562
ต้นตอของเรื่องนี้เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 กกต.ได้รับคำร้องร้องเรียนกล่าวหาว่า “สุรพล” ใส่ซองทำบุญให้พระสงฆ์ 2,000 บาท เข้าข่ายเป็นความผิดตามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) ฐานให้เงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใดในช่วงที่มีการเลือกตั้ง
ต่อมา กกต.วินิจฉัยว่า “สุรพล” มีความผิดตามที่กล่าวหา จึงมีมติให้ “ใบส้ม” คือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2562 และให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 จนท้ายที่สุด “ศรีนวล บุญลือ” ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) ปาดหน้าเข้าเส้นชัยไป (ปัจจุบัน น.ส.ศรีนวล ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย)
แต่เหมือนความยุติธรรมจะมาตามนัด เมื่อสุดท้ายศาลฎีกา ยกฟ้องนายสุรพล และศาลแพ่งพิพากษาให้นายสุรพลชนะ สั่งให้สำนักงาน กกต.ชดใช้ความเสียหายและการเยียวยาจากกรณีดังกล่าว
“รู้สึกดีใจที่ศาลเมตตาและให้ความเป็นธรรม จนชนะคดีดังกล่าว และภาคภูมิใจที่ได้ศักดิ์ศรีกลับคืนมา เพราะเพื่อไทยไม่ได้ซื้อเสียงหรือทุจริตเลือกตั้งตามข้อกล่าวหาส่วนตัวไม่อยากได้ค่าเสียหายและเยียวยาดังกล่าว แต่ต้องการเกียรติและศักดิ์ศรีคืนมาเท่านั้นเพราะไม่เคยทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่กลับถูกประชาชนบางส่วน ที่ไม่เข้าใจบอกว่าจะไม่สนับสนุนอีกแล้ว กลายเป็นตราบาปติดตัว จนต้องสู้คดีดังกลาวจนถึงที่สุด จนศาลฏีกายกฟ้องและศาลแพ่งให้ชนะคดีดังกล่าวอีก” นายสุรพล กล่าว
หลายคนอาจยังไม่ทราบหรือลืมไปแล้วว่า ไม่ใช่แค่กรณี “สุรพล” เท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่ “กกต.” พ่ายแพ้ไปเช่นกัน
หากนับกรณีกล่าวหา “ทุจริตซื้อเสียง” ยกตัวอย่างย้อนกลับไปปี 2555 ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง มีคำพิพากษายกฟ้อง นายมนต์ไชย ชาติวัฒนศิริ ผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 5 พรรคภูมิใจไทย (ขณะนั้น) กรณีกล่าวหาว่า นายมนต์ไชยเรียกประชุมแกนนำหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ ต.กันทรารมย์ และ ต.เมืองไผ่ อ.กระสัง รวม 400 ราย หลังจากนั้นทีมงานนายมนต์ไชยมอบเงินให้ผู้มาเข้าร่วม รายละ 200-300 บาท ส่วนผู้นำชุมชนที่พาคนมาร่วมจะได้ 500 บาท เพื่อจูงใจให้เลือกนายมนต์ไชย และพรรคภูมิใจไทย ทำให้ กกต.แจก “ใบแดง”
แต่ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า กกต. ผู้ร้อง อ้างว่า มีคลิปวีดีโอ ที่ถ่ายจากกล้องปากกา และรีโมตคอนโทรลจากพยานของกลุ่มผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เป็นคู่แข่ง แต่กลับไม่ปรากฏภาพขณะมีการรับเงิน ทั้งที่มีการอ้างว่ากล้องวีดีโอดังกล่าวได้เปิดถ่ายไว้ตลอดเวลา
ส่วนในการจัดประชุมอาสาสมัคร ผู้สนับสนุนที่จะช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ของนายมนต์ไชย ที่อ้างว่า มีการจ่ายเงินให้กลุ่มอาสาสมัคร คนละ 200 บาท นั้น เห็นว่า เป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าน้ำมันรถมากกว่า ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามกฎหมาย กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่า นายมนต์ไชย กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ตัดภาพกลับมาใกล้ตัวหน่อย ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 มีอีกกรณี ศาลฎีกา มีคำพิพากษายกฟ้องนายภัทรพล มานะสร้าง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สระแก้ว เขต 1 พรรคพลังท้องถิ่นไท ที่ถูก กกต.ไม่ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยกล่าวหาว่า เป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายภัทรพล แจ้งลาออกจากการเป็นเจ้าของและบรรณาธิการตั้งแต่ปี 2561 อันเป็นเวลาก่อนสมัครรับเลือกตั้งแล้ว การที่ปรากฏชื่อนายภัทรพลยังเป็นเจ้าของอยู่ เกิดจากหน่วยงานเกี่ยวข้องยังไม่แก้ไขข้อมูลในฐานระบบข้อมูลเท่านั้น
ศาลฎีกา มีคําสั่งเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2562 ให้สำนักงาน กกต.รับสมัครนายภัทรพล มานะสร้าง ผู้ร้อง และประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สระแก้ว เขต 1 โดยท้ายที่สุดสำนักงาน กกต.ได้ประกาศชื่อนายภัทรพลเป็นผู้รับสมัคร ส.ส.เช่นเดิม เรื่องราวจบลงด้วยดี
หากนับเฉพาะคดีทุจริตการเลือกตั้ง เช่น กรณีนายมนต์ไชยนั้น เมื่อศาลฎีกายกคำร้องสำนักงาน กกต.แล้ว ไม่มีข้อมูลว่า นายมนต์ไชย ดำเนินการอย่างไรต่ออีก
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เหมือนกับที่ “ครุฑกฎหมาย” วิษณุ เครืองาม อธิบายไว้ว่า กกต.แต่ละคนที่ออกคำสั่งไปไม่ได้สั่งโดยเถยจิต หรือเจตนาร้ายเป็นส่วนตัว เป็นการทำในหน้าที่ราชการ เหมือนตำรวจกระทำผิดแล้วเราฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถ้าแพ้คดี เราจะฟ้องตำรวจไม่ได้ หากแพ้ ตร.ต้องควักเงินจ่าย เพราะถือว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่ แต่ละปีรัฐควักงบประมาณจ่ายเพื่อการเช่นนี้มากอยู่
นั่นจึงเป็นไปได้ว่ากรณีของ “สุรพล” อาจเป็น “คดีแรก” ที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ กกต.ชดใช้ค่าเสียหายและค่าเยียวยา จากการใช้ดุลยพินิจของ กกต.ดังกล่าว
อย่างไรก็ดีคงต้องรอดูผลคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลแพ่งก่อนว่า มีเหตุผลและรายละเอียดเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ หลังจากนี้ การใช้ดุลยพินิจของ กกต.จำเป็นต้องทำอย่าง “รอบคอบ-รัดกุม” ยิ่งกว่าเดิม เพราะไม่อย่างนั้นอาจถูกฟ้องกลับจนรัฐต้องควักเงินหลวงมาจ่ายแทนอีกเหมือนกรณีนี้