"ทัพเรือ" หลังชนฝา "เรือดำน้ำ" จับตา”จีน-ไทย”รื้อทีโออาร์ใหม่
ภายในต้นเดือน พ.ค. "กองทัพเรือ" ต้องได้ข้อสรุป "เรือดำน้ำ" ขาดเครื่องยนต์ หากบริษัท CSOC ไม่สามารถส่งตัวแทนเดินทางมาชี้แจงได้ ก็เตรียมประชุมผ่าน Video Conference เพราะหากปล่อยเนิ่นนานไปกว่านี้ ไม่น่าจะส่งผลดี
ดูเหมือนอะไรก็ไม่เป็นใจให้กับ "กองทัพเรือ" ในการเดินหน้าแก้ปัญหา "เรือดำน้ำ" ลำแรก ขาดเครื่องยนต์ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำชับให้เร่งเปิดโต๊ะเจรจากับ "จีน" หาข้อสรุปให้ได้ในเร็ววัน
เดิมที "กองทัพเรือ" ได้ทำหนังสือถึงบริษัท CSOC ของจีน ซึ่งเป็นผู้ขายเรือดำน้ำให้ไทย และได้รับการตอบรับว่า จะจัดส่งผู้แทนเดินทางมาประเทศไทยภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการจัดหาเครื่องยนต์ MTU396 ของ เยอรมนี มาติดตั้งในเรือดำน้ำไทยตามสัญญาที่ระบุไว้
ภายหลัง "เยอรมนี" มีนโยบายระงับการส่งออก (Embargo Policy) ซึ่งกำหนดให้เครื่องยนต์ดีเซลเรือดำน้ำ เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการควบคุมการส่งออก ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องยนต์ อะไหล่ หรือเครื่องยนต์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเยอรมนีต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาล
แต่ปรากฎว่าทาง บริษัท CSOC ได้อ้างปัญหาการระบาด "โควิด-19 " ในประเทศจีน ไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาพูดคุยกับกองทัพเรือไทย ในเดือนเมษายนนี้ได้ อีกทั้งบริษัท CSOC ก็ไม่ยืนยันห้วงเวลาที่ชัดเจนว่าจะสามารถเดินทางได้อีกครั้งเมื่อไหร่
แม้ "กองทัพเรือ" จะเชื่อมั่นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การประวิงเวลา เพราะถ้ายิ่งยื้อ บริษัท CSOC จะยิ่งเสียเปรียบ เนื่องจากการจัดซื้อ "เรือดำน้ำ"กำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน ส่งมอบให้ได้กลางปี 2567 นี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกยกเลิกสัญญา ต้องจ่ายค่าปรับให้ไทยจำนวนเงินไม่น้อย รวมถึงคืนเงินค่างวดกว่า 7,000 ล้านบาทอีกด้วย
เป็นที่น่าสังเกต ไม่ว่า "กองทัพเรือ" จะพยายามสอบถามไปกี่ครั้งบริษัท CSOC ก็ไม่เคยให้คำตอบที่ชัดเจนกลับมา ทั้งกรณีการไปเจรจาขอซื้อเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนี ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว หรือแม้แต่ทางออกการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
" จีนปิดปากเงียบ และสงวนท่าทีในการชี้แจง ส่วนกองทัพเรือไทย ก็ยังยืนยันถึงความต้องการเดิมว่า เราต้องการเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนี แต่หากจีนไปคุยกับเยอรมันไม่สำเร็จ ก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร อาจต้องทำทีโออาร์กันใหม่ กำหนดเงื่อนไข หรือข้อตกลงอื่นๆ เพิ่มเข้ามา ก็เป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจ" แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุ
ส่วนข้อเสนอ "เรือดำน้ำฝึก" มือสอง จำนวน 2 ลำ ที่จะให้ "กองทัพเรือ" นำมาใช้ก่อนตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านั้น ก็เป็นเพียงการโยนหินถามทาง ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นข้อเสนอที่ออกมาจากบริษัท CSOC หรือทางการจีน แต่เป็นเพียงบริษัทที่มีหน้าที่รับซ่อมเรือดำน้ำในกองทัพเรือจีนที่เสนอออฟชั่นมาให้กองทัพเรือไทยว่า ถ้าได้เรือดำน้ำฝึก มือสองจากจีน ขอเป็นผู้ดำเนินปรับปรุงรีโนเวทเครื่องให้
จึงทำให้เกิดการคาดเดาต่างๆ นาๆ ว่า บริษัทดังกล่าวอาจรู้ข่าววงในจึงรีบเสนอตัวขอรับปรับปรุงเรือดำน้ำฝึก มือสอง จำนวน 2 ลำหรือไม่ ปัจจุบันกองทัพเรือมีเพียงเอกสารการเสนอออฟชั่นของบริษัทซ่อมเรือดำน้ำเท่านั้น แต่ไม่เคยได้ยินจากปากตัวแทนของบริษัท CSOC หรือแม้แต่ทางการจีนว่าจะยื่นข้อเสนอนี้
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ บริษัท CSOC เท่านั้นที่กองทัพเรือไทยได้ติดต่อประสานงาน ยังรวมไปถึงผู้ช่วยทูตจีนประจําประเทศไทย เพื่อยืนยันเจตจำนงค์ติดตั้งเครื่องยนต์เยอรมนีเท่านั้น ไม่สามารถรับเครื่องยนต์อื่นได้
ก่อนหน้านี้ ทางจีนได้เสนอเครื่องยนต์ที่จีนผลิตเอง และเคยส่งแบบมาให้ กองทัพเรือพิจารณา แต่หลังจากกรมอู่ทหารเรือได้พิจารณาสเปก พร้อมตอบกลับมาว่า ไม่มีอะไรมาการันตีว่าเครื่องยนต์ของจีนจะดีกว่าหรือเทียบเท่าเครื่องยนต์ของเยอรมนี จนเป็นที่ยอมรับ
ในขณะ พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการเรือดำน้ำได้กำหนดกรอบเอาไว้ว่า ภายในต้นเดือน พ.ค.นี้ ต้องได้ทิศทางการแก้ปัญหา "เรือดำน้ำ" ขาดเครื่องยนต์ หากบริษัท CSOC ไม่สามารถส่งตัวแทนเดินทางมาชี้แจงได้ ก็จะเตรียมจัดประชุมผ่าน Video Conference เพราะหากปล่อยเนิ่นนานไปกว่านี้ ไม่น่าจะส่งผลดี
แม้ปัจจุบัน กองทัพเรือจะยืนยันว่ายังไม่พบปัจจัยภายนอกเข้ามากดดันให้เปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำจาก MTU396 ของเยอรมนีเป็นเครื่องยนต์ชนิดอื่น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การนิ่งเงียบและสงวนท่าทีของจีนในการชี้แจงทั้งที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ จะมีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังมากกว่านั้นหรือไม่