เปิดผลพิจารณา "กก.สรรหาตุลาการศาลรธน." อุ้ม "ประธานศาลรธน." อยู่ต่อ
เปิดผลพิจารณา กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ "วรวิทย์" ปฏิบัติหน้าที่ต่อ พบคำร้องยื่นให้พิจารณาการขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 202(1) หรือไม่ ย้ำ พ.ร.ป. มาตรา 79 -คำสั่ง คสช. เขียนชัดให้ทำหน้าที่ต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีที่คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีการดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และมีมติเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปนั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา เปิดเผยว่า ที่ประชุมท่ีมีประธานศาลฏีกา ได้พิจารณาคำร้องดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 เมษายน ในช่วงเช้าและใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยได้พิจารณา 2 ประเด็น คือ 1. คณะกรรมการสรรหามีอำนาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ โดยมติ 3 ต่อ 2 เห็นว่าควรรับไว้พิจารณา เนื่องจากคำร้องที่ส่งมานั้นระบุให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาว่า นายวรวิทย์นั้นมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 (1) กรณีเป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด หรือไม่ แม้ในกรณีที่เป็นประเด็นต้องให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณา คือ เรื่องของอายุที่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอายุ เกิน 70 ปี เมื่อ 1 มีนาคม 2565 แต่คนที่ยื่นคำร้องไม่ได้เขียนเนื้อหาดังกล่าว เพราะเข้าใจว่าตามอำนาจของคณะกรรมการสรรหาฯ มีกรอบให้ทำงาน คือ 1.พิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและ2.การลาออก อย่างไร
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่2 ว่าด้วยการพิจารณาตามคำร้อง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาบนตัวบทกฎหมายที่สำคัญ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 202 (1) ว่าด้วยกรณีเป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด หรือไม่ มติเสียงเอกฉันท์ 5 เสียงเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งได้ต่อ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 79 กำหนดว่า ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 บังคับใช้ คือ 2 มีนาคม 2561 ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 79 ให้ความคุ้มครอง นายวรวิทย์ ฐานประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงอยู่ในวาระได้ต่อไป อย่างไรก็ดีประเด็นที่นายวรวิทย์ มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 และปฏิบัติหน้าที่ต่อมาถึงการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ เป็น ฉบับปี 2560 แม้รายละเอียดของรัฐธรรมนูญจะมีความลักลั่น คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดให้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี และกำหนดอายุครบ 70 ปี ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี หรืออายุครบ 75 ปี สำหรับการพ้นตำแหน่งขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ใดจะถึงก่อน
“ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญของนายวรวิทย์นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง และรัฐธรรมนูญให้คความคุ้มครอง ขณะเดียวกันมาตรา 79 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 วรรคสอง ระบุถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2560 ลงวันที่ 20 เมษายน 2560 ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนพ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ จึงถือว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ต่อเนื่อง จึงไม่ถือว่าไม่ขัดคุณสมบัติตาม มาตรา 202(1) ที่กำหนดข้อห้ามว่าเป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าสำหรับผลการพิจารณานั้นที่ประชุมได้นำคำร้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคำชี้แจงของนายวรวิทย์ร่วมพิจารณาด้วย โดยได้พิจารณาเนื้อหาและรายละเอียดอย่างรอบคอบ สำหรับมติที่ออกมานั้นยังเป็นผลเบื้องต้น เพราะในวันที่ 29 เมษายน คณะกรรมการจะพิจารณารายงานการประชุมอีกครั้ง เพื่อให้เป็นผลทางการ และแจ้งไปยังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญต่อไป.