“ธนาธร” ควง “บ๊อบ กิตติศักดิ์” หาเสียง ชวน ปชช.ออกแบบนโยบาย เปลี่ยนพัทยา
“ธนาธร” ควง “บ๊อบ กิตติศักดิ์” ผู้สมัคร “คณะก้าวหน้า” ชิง “นายกเมืองพัทยา” ลงพื้นที่หาเสียง เปิดรับฟังความเห็นชาวบ้าน ร่วมออกแบบนโยบาย ดึงพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนเมือง คุยผู้ประกอบการชายหาด-แท็กซี่-สองแถว นำปัญหาสู่การปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 ที่เมืองพัทยา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยนายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย หรือ “บ๊อบ” ผู้สมัครนายกเมืองพัทยา เบอร์ 3 คณะก้าวหน้า ร่วมเดินสายหาเสียงกับชาวพัทยา พร้อมเปิดวงพูดคุยรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
โดยในช่วงเช้าได้เปิดวงพูดคุยที่ริมชายหาดจอมเทียน กับตัวแทนผู้ประกอบการริมชายหาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการร่มเตียง เตียงนวด ผู้ค้ารถเข็นและรถพุ่มพวง รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรมริมชายหาด และตัวแทนจากลูกบ้านอาคารชุดริมชายหาด เป็นต้น
ในวงพูดคุยดังกล่าว มีการสะท้อนปัญหาจากหลากหลายกลุ่ม โดยส่วนใหญ่เน้นย้ำไปที่ความต้องการให้มีการปรับปรุงโครงสร้าง เช่น ถนนริมหาดจอมเทียนบางช่วงที่มีขนาดเล็กแคบ จนทำให้เกิดปัญหาการจราจรโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล การปรับทัศนียภาพของบริเวณหาด และปัญหาสายไฟระโยงระยาง รวมถึงปัญหาความปลอดภัยจากการที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พอ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ รวมถึงเมืองพัทยา เช่น การจอดรถกีดขวางทางจราจร การจัดการขยะที่มีการนำไปทิ้งในพื้นที่พักอาศัย การที่เมืองตัดต้นหูกวางทิ้งจนทำลายร่มเงาและทัศนียภาพ เป็นต้น
ประชาชนหลายคนยังได้สะท้อนแนวคิดความต้องการ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงบนชายหาดด้วย เช่น ขยายถนน ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการให้มีการเสียภาษีอย่างชัดเจน การจัดสรรพื้นที่สำหรับพักรถและจอดรถของผู้ค้าแบบหมุนเวียน การปรับปรุงมาตรการความปลอดภัย เพิ่มปริมาณกล้องวงจรปิด และกำลังตำรวจลาดตระเวนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ
นายธนาธร และนายกิตติศักดิ์ ร่วมรับฟังข้อสะท้อนและถามคำถามแลกเปลี่ยนเป็นระยะ โดยนายธนาธร กล่าวว่า ชายหาดเป็นทรัพยากรร่วมของทุกคน การจัดการหาดต้องมีการพูดคุยร่วมกัน ทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ เมืองพัทยา และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการนำแผนที่มากางว่าจะแบ่งการใช้พื้นที่อย่างไรระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนแต่ละกลุ่ม นี่คือแนวคิด “การประชุมชายหาด” ที่จะช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ สามารถมาหาทางออกในการแบ่งสรรใช้พื้นที่ร่วมกัน ให้มีข้อตกลงที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย ซึ่งนายกเมืองพัทยาจะต้องลงมารับฟังอย่างใกล้ชิด ให้การออกแบบนโยบายเป็นไปตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด
“หากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เราจะทำให้มีกระบวนการพูดคุย ทำประชาคมบ่อยๆ เปิดให้มีการพูดระหว่างประชาชนกับเมืองพัทยา ดึงพลังของคนพัทยาออกมาให้เมืองเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วผลักดันเรื่องต่างๆ ไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ใช่คิดนโยบายอยู่บนหอคอยงาช้าง อยู่ในสำนักงานเมืองแล้วสั่งการลงมา” นายธนาธร กล่าว
ส่วนนายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในอดีตการจัดการชายหาดของเมืองพัทยาไม่เคยมีการลงฟังความเห็นจากประชาชน มีแต่การบังคับใช้นโยบาย ทั้งที่การเปลี่ยนแปลงใดล้วนมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น ความจริงควรจะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างประชาชน ผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บ่อยด้วยซ้ำ
“คนที่จะมาเป็นนายกเมืองพัทยาต้องมานั่งฟังประชาชน ผมพูดได้ว่าผมไม่ได้มาแค่ตอนหาเสียง แต่ผมอยู่กับชาวบ้านมาตลอดและจะทำอย่างนี้ตลอดไป สำหรับผมการรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริงไม่ใช่การจัดประชุมกันแต่ที่ห้องทับพระยาชั้น 4 ของเทศบาล แล้วเรียกประชาชนเข้าไป นายกเมืองต้องมานั่งฟัง พูดคุยกับประชาชนตลอดเวลา” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ต่อมาในช่วงสาย นายธนาธร และนายกิตติศักดิ์ ได้ร่วมกันเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนวนโยบายการขนส่งสาธารณะ กับตัวแทนผู้ประกอบการรถแท็กซี่และรถสองแถวในเมืองพัทยา โดยในส่วนของแท็กซี่ มีการกล่าวถึงปัญหารายได้ที่ลดลงสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บวกกับการเข้ามาของกลุ่มแอพพลิเคชั่นเรียกรถที่แย่งงานรถแท็กซี่ ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการรถสองแถว มีการสะท้อนปัญหาเส้นทางสัมปทานที่ไม่ทันสมัย ไม่เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในอนาคตที่จะเกิดการขยายเมืองจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งข้อกังวลถึงความมั่นคงในชีวิต เนื่องจากได้ยินมาว่าคณะก้าวหน้ามีนโยบายยกเลิกรถสองแถวจริงหรือไม่
นายกิตติศักดิ์ ระบุว่าที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวจากฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เป็นความจริง ว่าคณะก้าวหน้ามีนโยบายยกเลิกรถสองแถวแล้วนำระบบแอพพลิเคชั่นรับรถมาใช้แทนที่ ซึ่งตนขอยืนยันกับทุกคนว่าตัวเองและคณะก้าวหน้าไม่มีนโยบายยกเลิกสองแถว และนนโยบายขนส่งสาธารณะของทีมพัทยาก้าวหน้ามีหลักการสำคัญคืออยากให้ทุกคนอยู่กันอย่างยั่งยืน
หลังจากนั้นนายกิตติศักดิ์ได้อธิบายแนวคิดเส้นทางการเดินรถ ที่จะมีทั้งเส้นทางรอบเมือง และเส้นทางในเมือง ที่จะเชื่อมต่อทั้งชายหาด ชุมชน และถนนสายหลัก ตลอดจนประชาชนที่พักอาศัยอยู่อีกฟากของทางรถไฟแต่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองพัทยา และยังจะมีสายวิ่งรถในรอบกลางคืนสำหรับคนทำงานกลางคืนด้วย ทั้งหมดนี้ จะมีการนำสองแถวเข้ามาช่วยวิ่งบนเส้นทางที่วางแผนไว้ ลงทะเบียนกำหนดการวิ่งเป็นรอบ มีเส้นทางวิ่งและเวลาเดินรถที่ชัดเจน และมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล สำหรับทั้งประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการด้วย
อย่างไรก็ดีแนวคิดดังกล่าวยังเป็นเพียงความคิดเบื้องต้น ซึ่งหากในอนาคตทีมพัทยาก้าวหน้าได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้ามาบริหารเมืองพัทยา จะมีการเปิดเวทีพูดคุยในรายละเอียดกับผู้ประกอบการและประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เช่น ในเรื่องของราคาค่าโดยสาร การอุดหนุนโดยเมืองพัทยา และการปรับเปลี่ยนรายละเอียดใด ๆ ในอนาคต
ส่วนนายธนาธร กล่าวว่า โจทย์สำคัญสำหรับการทำบริการขนส่งสาธารณะในพัทยา คือจะทำอย่างไรทั้งนักท่องเที่ยว ชาวเมืองพัทยา และประชากรที่ทำมาหากินในพัทยา ต่างมีความสุขด้วยกันทั้งหมด ได้รับบริการอย่างเหมาะสมจากเมืองพัทยา ด้วยแนวคิดแบบนี้ คณะก้าวหน้าจึงต้องเข้ามาหารือกับทุกคน เพราะเรื่องการขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการเดินรถทั้งรถสองแถวและรถแท็กซี่ทุกคน ซึ่งคณะก้าวหน้ายึดหลักว่าผู้ประกอบการในปัจจุบันต้องไม่ตกงาน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งชาวพัทยาและนักท่องเที่ยวได้ด้วย