ความจำเป็น “นายกฯสำรอง” ทางเลือก อยู่ยาว ของ“3ป."
ยามนี้ ก๊วน3ป. ต้องขบคิด หากจะรั้งเก้าอี้ รักษาอำนาจ องคาพยพ แบบยาวๆ จำเป็นต้อง หาคนมาเป็น "นายกฯสำรอง" แม้เงื่อนไข 8ปี ของ "นายกฯประยุทธ์" จะพอมีทางอยู่ยาว แต่เงื่อนไขการเมืองนอกสภาฯ ยังสุ่มเสี่ยง ทำรัฐบาลพัง
ประเด็น “นายกรัฐมนตรีสำรอง” ที่ถูกเปิดเผยจาก ปาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานะ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 เมษายน
แม้ภายหลังในวันเดียวกัน “บิ๊กป้อม” จะออกมาปฏิเสธ ว่า ไม่มีใคร ที่ได้เป็น “นายกรัฐมนตรีสำรอง”
และสำทับความเชื่อนั้น จาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า “ไม่ได้พูดแบบนั้น”
แต่ในทางการเมือง กลับมีเสียงวิจารณ์ต่อเนื่อง และเดาทางว่า ยามนี้ “ก๊วน 3 ป.” จำเป็นต้องมี “นายกรัฐมนตรี” เผื่อไว้ หากกรณี อุบัติเหตุ “8 ปี” ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ไปต่อไม่ได้
ทั้งในแง่ "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่ง “ฝ่ายค้าน” เตรียมร่างคำร้องเพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” นั้น เข้าข่ายต้องสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ระบุลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรี คือ ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นติดต่อกัน หรือเว้นช่วง
ทันที เมื่อวาระดำรงตำแหน่ง “นายกฯ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ครบ 8 ปีเต็ม ในวันที่ 24 สิงหาคม
ต่อประเด็นนี้ ความเห็นของ “นักการเมือง และ นักวิชาการด้านกฎหมาย” ตีความและชี้ผลลัพท์ ได้ใน 2 แนวทาง ตามความเชื่อและความนิยมในฝั่งรัฐบาล เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ตีความได้ ทั้ง "ได้ไปต่อ" หรือ "พอแค่นี้"
แนวทางที่คิดว่า พอจะเป็นไปได้คือ “ได้ไปต่อ” เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ที่เป็นบทรับรองสถานะ “คณะรัฐมนตรี” ที่ดำรงตำแหน่งสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ ให้เป็น “คณะรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น แต่ที่มาของ “พล.อ.ประยุทธ์” นั้น คือ การเลือกของสภา ชุดที่ 25 และเป็น “นายกฯ” ที่มาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ดังนั้น ในมุมฝ่ายกฎหมาย "ฝั่งรัฐบาล” จึงมองว่า การนับวาระของ “ประยุทธ์” ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต้องเร่ิมตั้งแต่ วันที่ 11 มิถุนายน 2562 ดังนั้นหากจะนับวาระ 8 ปี จะครบในปี 2570
ทว่า “ชื่อนายกฯ” สำรองของ “ก๊วน 3 ป.” ยังมีความจำเป็น
เพราะแม้ทีม “พล.อ.ประยุทธ์” จะเชื่อว่า สามารถผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญได้
แต่ยังมี เงื่อนไขการเมืองนอกสภา-สร้างวิกฤติศรัทธา ที่ “คนไม่นิยมรัฐบาล" วางหมากจุดพลุ “ม็อบล้มประยุทธ์” พร้อมใช้ทุกไม้ตาย-ทุกความรุนแรง เพื่อให้บรรจุเป้าหมาย
ดังนั้น หาก “บิ๊กรัฐบาล” อยากรักษาภาพ และหน้าตาประเทศ ให้ภารกิจ “เจ้าภาพประชุมเอเปค” ลุล่วงไปด้วยดี จำเป็นมีคนแทน “ประยุทธ์”
เพราะเมื่อสำรวจชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคการเมืองที่ยังมีสิทธิ เสนอชื่อต่อสภาฯ ทั้ง “อภิสิทธิ เวชชาชีวะ” จากพรรคประชาธิปัตย์ - “อนุทิน ชาญวีรกูล” จากพรรคภูมิใจไทย - “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” และ "ชัยเกษม นิติสิริ” จากพรรคเพื่อไทย
คือ กลุ่มคนที่เป็นอันตรายกับ “องคาพยพของขั้ว 3 ป.”
เมื่อสำรวจเส้นทางที่ “คนนอกบัญชีนายกฯ” จะถูกเสนอชื่อต่อรัฐสภา เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าจะผ่านฉลุย เพราะการเว้นไม่ใช้ มาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา หรือ 484 เสียงจากสมาชิกทั้งหมด 726 คน
เมื่อรวมเสียงของ ส.ว.250 คนและ ส.ส.ขั้วรัฐบาล 238 เสียง จะได้เสียงสนับสนุนรวม 488 เสียง
เรื่องเสียง ดูท่าจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่สิ่งที่เป็นปมสำคัญคือ ใครจะเป็นตัวแทน “ประยุทธ์” ที่มือถึง คุมอำนาจ และผลประโยชน์ขององคาพยพได้เบ็ดเสร็จ.