"กมธ.กม.ลูก" โหวต23:21 เปิดช่อง นักโทษคดีทุจริต-รอลงอาญา เป็นสมาชิกพรรคได้
กมธ.กม.ลูก โหวตแก้ สเปคสมาชิกพรรคการเมือง ลดข้อห้าม ผู้ต้องคดีทุจริต, ความผิดหน่วยงานรัฐ ซึ่งรอลงอาญาสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ พร้อมดันแก้ ไพรมารี่ ใช้ตัวแทนประจำจังหวัด เฟ้นหา ผู้สมัครส.ส.
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ง..) พ.ศ.... รัฐสภา ที่มีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานกมธ. โดยได้พิจารณาเนื้อหาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... มาตราว่าด้วยการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคการเมือง ตามข้อเสนอของนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ที่ขอแก้ไขเพื่อเปิดโอกาสและเปิดกว้างให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกพรคได้กว้างขวาง จากเดิมที่พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ใช้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเดียวกันผู้ร่วมก่อตั้งพรรคและรัฐมนตรี
ทั้งนี้ในการพิจารณาและลงมติ พบว่า กมธ.เสียงข้างมาก 23 เสียง ต่อ 21 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง เห็นชอบให้แก้ไข ปรับให้เป็นมาตราที่เพิ่มขึ้นใหม่ และเขียนเนื้อหาเพื่อลดลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองลง โดยเฉพาะการให้สิทธิบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดหรือจำคุก แต่ให้รอการลงโทษ ในคดีทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการ,งานยุติธรรม, กฎหมายว่าด้วยการทำผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
ต่อมาเวลา 12.00 น. นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ฐานะโฆษก กมธ. แถลงผลการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ว่า การแก้ไขเรื่องคุณสมบัติสมาชิกพรคการเมือง กมธ. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง และลงมติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมืองและคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งจะไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างพระกับเณรที่ถือศีลไม่เท่ากัน โดยที่ประชุมยอมรับ เนื่องจากถือเป็นเรื่องดีที่จะให้ประชาชนสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้มากยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง หากเรากำหนดคุณสมบัติไม่สูงจนเกินไป คนก็จะเดินเข้ามา ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมากและควรมีคนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนมากเช่นกัน
ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะโฆษกกมธ. แถลงด้วยว่า สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ประชุมได้พิจารณาในกลุ่มมาตราว่าด้วยการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือไพรมารี่โหวต ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อสรุป เกี่ยวกับการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อทำกิจกรรมของพรรค โดยแก้ไขให้พรรคตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดๆ ละ 1 แห่ง เพื่อดำเนินการพิจารณาส่งผู้สมัครส.ส. จากพ.ร.ป.ฉบับปัจจุบันกำหนดให้ต้องมีตัวแทนพรรคประจำเขตทุกเขตเลือกตั้ง
“กฎหมายฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ทำไพรมารีโหวตทุกเขตเลือกตั้งจำนวน 400 เขต ทำให้พรรคใหม่และพรรคเล็กมีปัญหา จึงแก้ไขให้ 1 จังหวัด มี 1 ตัวแทนจังหวัด เช่น จ.นครธรรมราช มี 10 เขต ก็ใช้ตัวแทนประจำจังหวัดเพียงแค่ 1 เขตเลือกตั้ง เพื่อส่งผู้สมัครทั้ง 10 เขตเลือกตั้งได้ เป็นการเปิดช่องให้ทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหม่และพรรคเล็กส่งผู้สมัครและแข่งขันกันโดยเสรีอย่างเต็มที่ มีความสะดวกง่ายมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น” นายสมคิด กล่าว