“เส้นด้าย” ในกระแส “ก้าวไกล” ภารกิจสังคม ไม่ผสมการเมือง
“นี่คือสิ่งที่อยากถ่ายทอดว่า องค์กรของเราเป็นกลางจริง ๆ ไม่ได้ฝักใฝ่ หรืออยู่ภายใต้พรรคการเมืองไหนทั้งสิ้น”
องค์กรภาคประชาสังคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาดอย่างหนักในไทยหลายระลอก ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ “เส้นด้าย” ปรากฏผ่านหน้าสื่อบ่อยครั้ง ในฐานะองค์กรที่คอยช่วยเหลือ ประสานงาน หาเตียงให้กับผู้ป่วย
อย่างไรก็ดี หลายครั้งที่ “เส้นด้าย” ถูกสังคม “คลางแคลงใจ” ว่าเป็นหนึ่งใน “เครือข่ายองคาพยพสีส้ม” หรือไม่ เพราะผู้ก่อตั้ง “เส้นด้าย” คือ “เจตน์” ภูวกร ศรีเนียน และ “คริส โปตระนันทน์” คือ 2 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของ “พรรคอนาคตใหม่” ช่วงปี 2562
ขณะเดียวกัน ในช่วงถนนทุกสายมุ่งสู่ “เสาชิงช้า” ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่เกิดขึ้นในรอบ 9 ปี โดยจะกาบัตรกันวันที่ 22 พ.ค.2565 มีหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะ “พรรคก้าวไกล” ส่งคนของ “เส้นด้าย” ลงสมัครด้วย เช่น “เฮียเล้า” พีรพล กนกวลัย อดีตผู้บริหารของ “เส้นด้าย” หรือ “มาร์ท” อภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ทีมงาน “เส้นด้าย” เป็นต้น
“เราต้องยืนยันว่า เส้นด้ายไม่ได้ถูกสร้างจากพรรคก้าวไกล ไม่ได้ถูกสร้างจริงๆ แต่ไม่ปฏิเสธว่า บุคคลผู้ร่วมก่อตั้ง คือผม กับคริส ถ้าจิ้มกูเกิลเจอไม่ยาก เรา 2 คนเป็น 27 คนแรก ที่มีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่”
คือคำยืนยันจาก “เจตน์” ภูวกร ศรีเนียน ผู้บริหาร “เส้นด้าย” คนปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พะเยา พรรคอนาคตใหม่ มีสถานะเป็นหลานของ “ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเสมอภาค) และมีบุตรสาวเป็นอดีตไอดอลชื่อดังคือ “แคน” นายิกา ศรีเนียน อดีตสมาชิกวง BNK48 ที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่กับพรรคก้าวไกล
“เจตน์” อธิบายเน้นย้ำหลายครั้งว่า “เส้นด้าย” ไม่ได้ถูกสร้างจาก “พรรคก้าวไกล” แต่ไม่ปฏิเสธว่า มีอดีตสมาชิกของพรรคอนาคตใหม่ หรือสมาชิกของพรรคก้าวไกลเข้ามามีส่วนร่วม
“การตั้งเส้นด้าย ไม่เกี่ยวอะไรกับพรรคเลย” เจตน์ กล่าว และว่า ไม่ปฏิเสธว่าก่อนหน้านี้ตนและคริส เคยเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล (ปัจจุบัน เจตน์ ยืนยันว่าตัวเองขาดสมาชิกภาพจากพรรคก้าวไกลไปแล้ว) เคยเข้าช่วยงานกับพรรคบ้าง โดยตนมีธุรกิจส่วนตัวด้านสิ่งแวดล้อม เคยเป็นหนึ่งในทีมงานรับเรื่องร้องเรียนของพรรคอนาคตใหม่ คอยกลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ ก่อนส่งต่อ ส่วนคริสเคยถูกชวนเข้าไปให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับพรรคอนาคตใหม่บางเรื่อง แต่ไม่ได้เป็นคณะทำงานฝ่ายกฎหมายอย่างเป็นทางการของพรรค
“แต่การเปิดเส้นด้าย เป็นเรื่องส่วนตัว เริ่มจากเราแค่ 2 คน (เจตน์ และคริส) ไม่เกี่ยวกับพรรค” เจตน์ ยืนยัน
เจตน์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้สมัยก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ สนใจงานภาคประชาชนสังคมอยู่ จึงชวนคริสมาร่วมกันก่อตั้งองค์กรเพื่อช่วยเหลือภาคประชาสังคม และเคยถามไปยัง “คีย์แมนสำคัญ” ของพรรคอนาคตใหม่ ว่า เห็นเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้เสียงตอบรับกลับมา
“คริส เป็นคนถามไปยัง Keys Person ของพรรค 2 รายว่า พวกเราจะทำแบบนี้ได้หรือไม่ แต่ไม่มีคำตอบออกมา พวกเขาเงียบ เลยคิดว่าเขาคงไม่ทำ เราจึงทำกันเอง เพราะเขาคงยังมองไม่เห็นภาพว่ามันจะเป็นอย่างไร” เจตน์ กล่าว
เจตน์ เล่าอีกว่า หลังจากนั้นเป็นไปตามที่ปรากฏหน้าสื่อสาธารณะ มีการก่อตั้ง “เส้นด้าย” จากบุคคลรวม 20 คน โดยในจำนวนนี้มีบางส่วนคิดอยากจะลง ส.ก.อยู่ แต่ขณะนั้นยังไม่มีท่าทีว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. แต่เขาอยากทำงานร่วมกับเรา จนสุดท้ายเติบโตมาเป็น “เส้นด้าย” อย่างในทุกวันนี้
เจตน์ อธิบายว่า แต่เราไม่ได้ทำกับทุกคนในพรรคก้าวไกล พอเราทำเส้นด้ายมาสักระยะ ผมเป็นคนบอกทีมงานเองว่า ต้องระวังเรื่องนี้ (ภาพลักษณ์ทางการเมือง) เพราะเราเป็นองค์กร ตอนเปิดแรก ๆ มีคนไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองเข้ามาเยอะมา จึงต้องระวัง เพราะการทำเป็นกลุ่มแบบนี้ต้องไม่อยู่ภายใต้พรรคการเมือง ต้องทำงานร่วมกับทุกคน เพราะถ้าทำใต้พรรคการเมือง จะทำงานได้แคบมาก
“ช่วงนั้นมีหลายพรรคขอความช่วยเหลือเรามาเรื่องโควิด-19 ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เราก็ช่วยเหลือหมด ถ้าเราถูกสร้างจากพรรคก้าวไกลจริง ๆ เราทำแบบนั้นไม่ได้”
เจตน์ เล่าอีกว่า ในส่วนคนที่ลงสมัคร ส.ก.ในนามพรรคก้าวไกล และพรรคการเมืองต่าง ๆ คิดเป็น 10% ของทีมงานและเครือข่าย “เส้นด้าย” เท่านั้น มี 12 คนลงสมัคร ส.ก.ในนามพรรคก้าวไกล ดังนั้นผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคก้าวไกลที่เหลืออีก 38 เขต ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “เส้นด้าย”
ที่เหลือมี 2 คนสมัคร ส.ก.ในนาม “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” อีก 1 คนสมัครแบบ “อิสระ” และมีแนวร่วมของ “พรรคเพื่อไทย” อีก 2 คน ที่คาดว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.
นอกจากนี้ “เส้นด้าย” ยังคลุกคลี แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อีก 3 คน ซึ่งในจำนวนนี้ไม่มีชื่อของ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล แต่อย่างใด
เจตน์ ขยายความด้วยว่า สำหรับอดีตทีมงานเส้นด้าย ที่ไปลงสมัคร ส.ก.ในนามพรรคก้าวไกล ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในเส้นด้ายอย่างเป็นทางการหมดแล้ว และไม่ได้มาข้องเกี่ยวอีก ที่ผ่านมาไม่ได้ลงเฉพาะพื้นที่ตัวเอง แต่ไปลงพื้นที่ทั่วประเทศ ช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม ไม่ได้หวังแค่ฐานเสียงของตัวเองเท่านั้น
“กล้ายืนยันว่าทุกคนที่ออกจากเส้นด้ายไป ไปลงการเมือง ที่ผ่านมาไปทำงานทั่วประเทศกับเราทั้งหมด” เจตน์ ยืนยัน
เจตน์ เล่าถึงความสัมพันธ์ “ส่วนตัว” กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และทีมงานผู้สมัครว่า มีอยู่อย่างน้อย 3 คนที่เคยมาให้คำปรึกษา หรือร่วมงานกัน ได้แก่
หนึ่งในทีมงานของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนาม “อิสระ” มาให้คำปรึกษากับเราในช่วงตั้งไข่ “เส้นด้าย” แม้กระทั่งตอนนี้ยังแวะเวียนเข้ามาคลุกคลี หรือแลกเปลี่ยนความรู้กันบ่อย ๆ
“ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ ผมกับเขาใกล้ชิดกันมากในเรื่องส่วนตัว ก่อนหน้านี้เส้นด้ายเคยประสานงานกับ สจล. โดยมีการให้นวัตกรรมด้านยา และอื่น ๆ ในเรื่องโควิด-19 มาช่วยเรา และก่อนหน้านี้ไม่นานมีงานจะร่วมกันทำอยู่ แต่เผอิญเข้าช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จึงยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้
“ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี หรือที่เจตน์เรียกว่า “พี่ปุ่น” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคไทยสร้างไทย เมื่อปีที่แล้วสมัยเป็น “คาราวานไทยสร้างไทย” ได้ร่วมเดินทางขึ้นดอยทางภาคเหนือร่วมกับเรา ขน ATK ไปช่วยเหลือประชาชนด้วยกัน
เจตน์ ระบุว่า นี่คือสิ่งที่อยากถ่ายทอดว่า องค์กรของเราเป็นกลางจริง ๆ ไม่ได้ฝักใฝ่ หรืออยู่ภายใต้พรรคการเมืองไหนทั้งสิ้น
“อาสาสมัครของเราทั้งประเทศมีกว่า 1,000 คน กลุ่มที่เกี่ยวข้องแวดวงการเมืองมีไม่ถึง 10% อีก 90% ไม่เกี่ยว ทุกครั้งมีข่าวแบบนี้ เขาฟีดแบ็กมาที่ผม เขาไม่สบายใจ” เจตน์ ระบุ
เจตน์ ยืนยันว่า นอกเหนือจากเครือข่ายภาคประชาชนแล้ว “เส้นด้าย” ยังร่วมงานกับหน่วยงานของรัฐ เช่น กองทัพบก โดยเป็นการร่วมมืออย่างเป็นทางการ เดินสายใน กทม. มาแล้วหนึ่งรอบ และหลังปีใหม่จะเดินสายอีกครั้ง
“ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของพรรคก้าวไกล เขาจะให้เราไปเดินหรือไม่ ตัวผู้บริหาร ทบ.ก็รู้ เราก็แจง เรายินดี ถ้าเราถูกสร้างจากพรรค เขาจะให้หรือไม่ ไม่ให้ เป็นไปไม่ได้” เจตน์ ยืนยัน
ส่วนที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า ผู้สมัคร ส.ก.หลายคนของพรรคก้าวไกล บางคนยังขึ้นโลโก้ “เส้นด้าย” อยู่นั้น เจตน์ อธิบายว่า ถ้าความจริงอดีตทีมงานเส้นด้าย 12 คนที่ลง ส.ก.กับพรรคก้าวไกล เคยทำงานกับเราจริง ล่มหัวจมท้ายกันมา ผมก็ยอมรับว่าเขาเคยทำงาน เป็นเรื่องที่ กกต. หรือกฎหมายตัดสินว่าทำได้หรือไม่ แต่ในส่วนการขึ้นป้ายนั้นชี้แจงว่า เป็นช่วงคาบเกี่ยวโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ระบาดตอนปีใหม่ มีหลายคนแอบอ้างชื่อเส้นด้าย จึงต้องตั้งป้ายขึ้นว่า ใครทำงานกับเราจริงบ้าง หลังจากนั้นไม่นานมีการประกาศให้มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ทำให้บางพื้นที่ยังเห็นป้ายทับซ้อนกันอยู่ระหว่างอดีตทีมงานเส้นด้าย ที่ไปลงสมัคร ส.ก.ก้าวไกล
“คนเคยทำงานกับเราจริง ถ้าไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ต้องปล่อยไป อันนี้ต้องยอมรับ ยึดความจริงเป็นหลัก ความจริงมันใช่ เขาเคยทำ ก็เคยทำ แต่ไม่ใช่พรรคก้าวไกลทำ ถ้าไปบอกสิ่งนั้น แล้วคนในพื้นที่ หรือชาวบ้านรู้สึกว่า มาทวงบุญคุณ แล้วไม่เลือก ก็เรื่องของเขา หรือบางคนขอบคุณที่เคยช่วย แล้วไปเลือกให้ ก็ให้ประชาชนตัดสิน ส่วนผมบิดเบือนอดีตไม่ได้” เจตน์ ระบุ
แต่เจตน์เล่าหยิกแกมหยอกว่า ปัจจุบัน “พรรคก้าวไกล” ยังพยายาม “ต่อสาย” เพื่อขอให้ “เส้นด้าย” เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรค แต่เขาปฏิเสธอย่างหนักแน่น เพราะเลือกความเป็นกลางทางการเมือง และมุ่งเน้นทำเพื่อประชาชนไปแล้ว
ส่วนเส้นทางของ “เส้นด้าย” ในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อ เจตน์ เล่าว่า ปัจจุบัน “เส้นด้าย” แตกออกเป็น 2 แขนงคือ
1.มูลนิธิเส้นด้าย ทำงานภาคประชาสังคมชัดเจน จดทะเบียนเป็นมูลนิธิถ้านอกลู่นอกทาง ภาครัฐสามารถเล่นงานได้
2.บริษัท เซ็นด้ายเพื่อสังคม จำกัด เป็นธุรกิจโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือบริษัทที่นำกำไรคืนสู่สังคม มีข้อจำกัดหลายอย่างเพื่อไม่ให้นอกลู่นอกทางเช่นกัน
เจตน์ ยืนยันหนักแน่นว่า ตัวเขาเองไม่คิดจะลงสมัคร ส.ส. หรือลงเล่นการเมืองอีกแล้ว โดยจะมุ่งหน้าทำ “เส้นด้าย” ต่อไป มีเป้าหมายหลัก หากโควิด-19 ซาลง และรัฐบาลประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น จะผลักดัน “Primary Care” ในสังคม โดยเริ่มต้นจาก กทม. และเมืองใหญ่ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มี “ชุมชนแออัด”
“โควิดรอบนี้ชัดเจนว่า คนเดือดร้อนคือคนในชุมชนแออัด แน่นอนบางทีคนบ้านมีรั้ว มีฐานะก็ตายได้ แต่โอกาสรอดสูงกว่า แต่พอชุมชนแออัดทั่ว กทม. หรือเมืองใหญ่ คนเหล่านี้ช่วยตัวเองได้ยาก หลังจากนี้ไป จะผลักดันระบบ Primary Care เราเคยรู้สึกว่าระบบสาธารณสุขไทยดี แต่โควิดรอบนี้ทำให้เห็นว่า เราดีไม่พอ” เจตน์ ระบุ
โดยหลังจากนี้ “เส้นด้าย” จะผลักดัน “Primary Care” เป็นหลัก และพัฒนาอาสาสมัครควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาอาสาสมัครใน กทม.หลายคนอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ต้องเพิ่มกำลังคน และนำคนเก่ง ๆ เข้าไปช่วย นอกจากนี้ จะเรียกร้องผ่านผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ว่า ต้องมีการเพิ่มงบประมาณ และอัตรากำลังคนอาสาสมัครให้มากขึ้น
สุดท้าย เจตน์ ยืนยันว่า “ไม่ได้รู้สึกเกลียดพรรคก้าวไกลอะไร ไม่ได้รู้สึกแย่ แต่อยากให้คนเข้าใจว่าเส้นด้ายทำอะไร ชอบเส้นด้ายตรงไหน มันคือสิ่งนี้ ผลงานของเส้นด้าย ไม่ใช่ผลงานของพรรคก้าวไกล”