บุโรทั่ง "พลังป้อม" เขย่าเป้าใหญ่ ท้าทาย "พปชร." กวาด 150 ส.ส.

บุโรทั่ง "พลังป้อม" เขย่าเป้าใหญ่ ท้าทาย "พปชร." กวาด 150 ส.ส.

ลำพัง "พลังประชารัฐ" จะใช้ขุมกำลังที่มี ที่เปรียบเป็นเครื่องยนต์รุ่นเก่า สตาร์ทติดๆ ดับๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็อาจจะสู้พรรคอื่นที่ปรับทัพ จูนเครื่องยนต์ใหม่ไฮบริด หรือแบบอีวี ได้ยากเข้าไปทุกวัน

ความเคลื่อนไหวภายในพรรค "พลังประชารัฐ" นาทีนี้กำลังขยับปรับทัพ พยายามกู้วิกฤติศรัทธากันยกใหญ่ หมายมั่นปั้นมือจะเป็นขั้วหลักในการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้ได้ 

กับเป้าหมายสวยหรู กวาดส.ส.ให้ได้ 150 ที่นั่ง ภายใต้การนำของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค โดยมี "สันติ พร้อมพัฒน์" รมช.คลัง รับบทเลขาธิการพรรค 

จะว่าไปแล้ว "พลังประชารัฐ" ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เหมือนต้องคำสาป ติดหล่มความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจภายในมาตลอด การเป็นแกนนำพรรคของกลุ่ม 4 กุมาร นำโดย "อุตตม สาวนายน" เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรค และ "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" สมัยเป็นเลขาธิการพรรค ก็ถูกเกมการเมืองขย่มจนหลุดจากตำแหน่ง สุดท้ายก็ต้องโบกมือลาพรรคด้วยความเจ็บปวดใจ 

ก่อนจะก้าวเข้าสู่ยุค ของ "พล.อ.ประวิตร" เข้ามากุมบังเหียน ความคุกรุ่นภายในกลับไม่เคยสงบลงอย่างแท้จริง หลายกลุ่มก๊วนภายในพรรคยังคงช่วงชิงการนำอยู่ตลอดเวลา 

ตำแหน่งเลขาธิการพรรคนี้ เปลี่ยนบ่อยหรือใช้คนเปลืองมากที่สุด ตามแต่สถานการณ์การเมืองภายในจะพาไป แม่บ้านคนถัดมา คือ "อนุชา นาคาศัย" ที่แทบจะไม่มีบทบาทโดดเด่น ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาเป็น "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" ที่ถือว่าขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งช่วงที่หนักที่สุดช่วงหนึ่งของ "พลังประชารัฐ" มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างห้ำหั่นกันอย่างชัดเจน 

ก่อนจะเกิดปรากฎการณ์กบฎ คิดโหวตล้ม "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในสภา ด้วยการนำของ "ร.อ.ธรรมนัส" และส.ส.จำนวนหนึ่ง เนื่องจากต้องการต่อรองทางการเมือง เหตุการณ์นั้นถือเป็นจุดพีคของความขัดแย้งภายในพลังประชารัฐ ซึ่งก็อยู่ในช่วงที่ "พล.อ.ประวิตร" คุมพรรคทั้งสิ้น แต่ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาใดๆ ได้

ปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้พรรคย่ำอยู่กับที่ ไม่ก้าวไปไหน ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ หรืออาศัยปัจจัยอื่นในการขับเคลื่อนพรรคในการเลือกตั้ง เช่น ใช้กระแสของ "พล.อ.ประยุทธ์" หรือพึ่งฐานเสียงของนักการเมืองที่ผูกขาดบางพื้นที่ รวมถึงทุนและอำนาจ ถึงทำให้พรรคมี ส.ส.อย่างที่เห็น 

เนื่องจากระบบที่ไม่เป็นระบบของ "พลังประชารัฐ" นี่เอง ทำให้พรรคอ่อนแอ สร้างความนิยมจากประชาชนไม่ได้ การบริหารแบบรวมศูนย์ "พล.อ.ประวิตร" สามารถกำหนดทิศทางได้เองโดยกรรมการบริหารพรรค เป็นแค่ตราประทับ นายว่าอย่างไร ก็ต้องว่าตามนั้น หรือใครจะขออะไรก็เข้าพบขอโดยตรง เลยทำให้กลไกพรรคไม่ฟังก์ชั่นอย่างที่ควรจะเป็น

กรณีล่าสุดคือการเปิดตัวผู้สมัครส.ส. 2 ล็อตใหญ่ ในพื้นที่ภาคกลาง-ตะวันออก 10 คน โดยมี"สุชาติ ชมกลิ่น" รมว.แรงงาน คุมโซน และ พื้นที่ภาคอีสานเหนือ ที่มี แม่ทัพอี๊ด "พล.อ.ธัญญาเกียรติสาร" เข้ามาดูแลพื้นที่ดังกล่าวให้กับพรรค พร้อมกับเปิดตัว ผู้สมัครส.ส. 22 คน ไปแล้วนั้น

นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ข้ามขั้นตอนของพรรค เนื่องจากยังไม่ผ่านที่ประชุมกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนั้น การเปิดตัวผู้สมัครหน้าใหม่บางเขต ก็ไปวางตัวทับซ้อนกับ ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิม ที่ยังอยู่กับพรรค จึงไม่แปลกถ้าความขัดแย้งรอบใหม่จะปะทุขึ้นจากสาเหตุนี้ โดยเฉพาะเมื่อแกนนำพรรคบางคนระดับรัฐมนตรี อยากสยายปีกแผ่อิทธิพล ทั้งในและนอกพรรคด้วยความพยายามเป็นมือดีลพรรคเล็ก 

ไหนจะคำปรามาส เรื่องนโยบายทิพย์ ที่เคยหาเสียงเมื่อตอนเลือกตั้งปี 62 เช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ425 บาท จบปริญญาตรี เงินเดือน 2 หมื่นบาท ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% เป็นต้น ก็เป็นปัญหาที่ "พลังประชารัฐ" แก้ไม่ตก

เรื่องนี้จอมเก๋าอย่าง "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รมว.ยุติธรรม ที่หวนมานั่งประธานยุทธศาสตร์พลังประชารัฐ หน 2 ออกมาเตือนสติอย่างตรงไปตรงมาว่า การจะคิดได้ส.ส.จำนวนมาก สิ่งสำคัญคือนโยบายต้องถูกใจประชาชน คะแนนเสียงจะมาให้เอง ไม่ใช่นโยบายดี แต่ทำไม่ได้จริง 

ที่สำคัญ "สมศักดิ์" ยังย้ำเรื่องความสามัคคี หากยังทะเลาะกันเอง คนจะพึ่งหวังจากเราไม่ได้ แต่หากหลอมรวมกันได้ในระยะเวลาอันสั้น การเลือกตั้งก็จะไม่มีปัญหา

ความท้าทายของ "พลังประชารัฐ" มีอยู่แทบทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องแนวทาง ทีมยุทธศาสตร์วางนโยบายหาเสียง ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีตัวที่จะขับเคลื่อนงานส่วนนี้ ซึ่งต้องอาศัยคนที่มีฝีไม้ลายมือระดับเทพเข้ามาพลิกฟื้นสถานการณ์ เพราะสำหรับ "พลังประชารัฐ" เครดิตในเรื่องนโยบายหาเสียง ถึงวันนี้ก็ยังติดลบ พูดแล้วทำไม่ได้จริง

แล้วไหนจะเรื่องความไม่แน่นอนที่ต้องเผชิญ ถ้าอนาคต "พล.อ.ประยุทธ์" แยกทางไปอยู่กับพรรคใหม่ หรือกลุ่มก๊วนแกนนำแยกย้ายออกไป "พล.อ.ประวิตร" จะทำอย่างไร มีแพลนบีไว้หรือไม่ หรือมั่นใจว่าเงินและอำนาจจะทำให้ถึงเป้าหมายได้อยู่วันยังค่ำ

สภาพของ "พลังประชารัฐ" ตอนนี้จึงไม่เป็นที่น่ากังวลสำหรับพรรคคู่แข่งแม้แต่น้อย ดูได้จากกระแสการเลือกตั้งซ่อม ที่ผ่านมา แพ้ราบคาบทุกสนาม การระดมติดป้าย "บิ๊กป้อม" ทั่วอีสานยิ่งชี้วัดความนิยมได้เป็นอย่างดีว่าเรตติ้งแทบไม่มี ป้ายตามหมู่บ้านถูกทำลายยับเยิน จนคนของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคต้องฝากขอบคุณคนที่คิดเอาใจนายด้วยวิธีนี้เลยทีเดียว

ดังนั้น ลำพัง "พลังประชารัฐ" จะใช้ขุมกำลังที่มี ที่เปรียบเป็นเครื่องยนต์รุ่นเก่า สตาร์ทติดๆดับๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็อาจจะสู้พรรคอื่นที่ปรับทัพ จูนเครื่องยนต์ใหม่ไฮบริด หรือแบบอีวีได้ยากเข้าไปทุกวัน

ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าแกนนำพรรคบางคน ยังหาคำตอบไม่ได้ ว่าตัวเลข 150 ส.ส. ที่ "บิ๊กป้อม" คุยโตจะคว้าได้นั้น จะเอามาจากที่ไหน เพราะเมื่อหันดูรอบตัว อะไรๆ ก็ไม่เป็นใจให้ "พลังประชารัฐ" เสียเหลือเกิน