ฟื้นวิกฤติ "ปริญญ์เอฟเฟกต์" ดัน "เด็กชวน" บาลานซ์ปชป.
การ "ปรับบาลานซ์" ภายในปชป.-การฟอร์มทีมเศรษฐกิจภายใต้ด่านหินในการฟื้นวิกฤติ อันส่งผลไปถึงดึงคะแนนนิยมท่ามกลางสมรภูมิเลือกตั้ง เพื่อซื้อใจประชาชนในยุค "ของแพง-ค่าแรงถูก" หลังจากนี้ต้องจับตา
จากปรากฎการณ์ “ปริญญ์เอฟเฟกต์” อย่างที่รู้กันว่า ส่งผลให้สถานการณ์ใน “ค่ายสีฟ้า” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ท่ามกลางศึกเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสนามใหญ่ ที่ยามนี้ส่งสัญญาณลั่นกลองรบแบบถี่ยิบ หรือศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ไม่ต่างอะไรกับเรือที่กำลังเผชิญมรสุมลูกใหญ่ สุ่มเสี่ยงที่จะอัปปางได้ทุกเมื่อ
เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทย์ใหญ่ที่ ปชป.ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอถึง 2 กระทรวงต้องทำเป็นอันดับแรก คือการฟื้นวิกฤติ สลัดภาพคดีฉาว ควบคู่ไปกับการฟอร์มทีมเศรษฐกิจ รวมทั้งปรับบทบาทกรรมการบริหารพรรคเพื่อรับศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
สอดคล้องที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการแต่งตั้ง “อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการ ทำหน้าที่ "ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย" แทน "ปริญญ์ พาณิชภักดิ์" ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันยังแต่งตั้ง “สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ” ส.ส.ตรัง และ “ฮูวัยดียะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง” อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตคลองสามวา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคแทน มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข และ อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ที่ได้ลาออกไป
ย้อนที่มาที่ไปของ “ดร.บิล-อิสระ” คอการเมืองที่ติดตามข่าวจะพบ “ดร.บิล” ผู้นี้ ปรากฎภาพข้างกาย “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญของพรรค โดยตลอด
“อิสระ” ในวัย 39 ปี อดีตผู้บริหารบริษัท บิลเทค ออโตโมทีฟ จำกัด ประกอบธุรกิจด้านชิ้นส่วนยานยนต์ใน จ.ระยอง โลดแล่นสู่วงการการเมืองแบบก้าวกระโดด โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2561 และถือเป็นสายตรงของ “นายหัวชวน” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น
การเลือกตั้งปี 2562 ถูกจัดอยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อ ลำดับต้นๆ ของพรรค โดยก่อนเป็น ส.ส.เขาทำหน้าที่เป็นคณะทำงานประธานชวน ในตำแหน่ง เลขานุการประธานรัฐสภา และได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ปชป.ให้เป็นรองเลขาธิการพรรค โดยได้รับยกเว้นในคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรค
ปีเดียวกัน “ดร.บิล” ขยับขึ้นบัญชีรายชื่อ แทน “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่ง แถมได้นั่งคณะกรรมาธิการ “เกรดเอ” ของสภา อาทิ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และ กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน เป็นต้น
ทว่า การที่ “ดร.บิล” ได้ขึ้นแท่นแบบก้าวกระโดด นอกเหนือจากได้รับแรงหนุน จาก“ประธานชวน” จากการเป็นลูกรักที่กำลังขึ้นหม้อแล้ว
ฝั่ง “บิ๊กปชป.”ย่อมรู้ดีถึงบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะยุคที่ปริญญ์เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย เวลานั้นเกิดแรงกระเพื่อมภายใน และปัญหาการยอมรับอย่างหนัก จากคนในพรรค
เนื่องจาก “ปริญญ์” เป็นคนนอกพรรค ไม่ได้เป็นส.ส. และไม่ได้ถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อ แต่กลับได้ขึ้นแท่นรองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
ปาดหน้า “บิ๊กเนม” อาทิ “กรณ์ จาติกวณิช” ที่ถูดลดบทบาทอย่างเห็นได้ชัด ลามเป็นศึกระหว่างขั้วและกลายเป็นชนวนร้าว ที่ทำให้เกิดสภาวะเลือดไหล กระทั่ง "กรณ์" ตัดสินใจทิ้งค่ายสีฟ้าในที่สุด
เช่นเดียวกับ “ส.ส.ท่ามเฮง-สุณัฐชา” ส.ส.หญิงคนแรกของจ.ตรัง ที่ขึ้นแท่นกรรมการบริหารพรรคในวัย 31 ปี ถือเป็นทายาทการเมืองของ “โกหนอ” สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง 4 สมัย และเป็นหลานสาวของ “บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ” นายกอบจ.ตรัง
ตระกูล “โล่สถาพรพิพิธ” นั้น คนเมืองตรังรู้ดีว่า มีความสนิทสนมกลมเกลียวกับตระกูล"หลีกภัย" มาตั้งแต่ยุค “นายหัวกิจ” หรือ กิจ หลีกภัย พี่ชายประธานชวน และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มกิจปวงชน
ก่อนที่ต่อมา“นายหัวกิจ”จะส่งไม้ต่อให้กลุ่มกิจปวงชนให้ “บุ่นเล้ง” ผู้ซึ่งเป็นพี่ชายของอดีต ส.ส.สมชาย สานภารกิจต่อ ขณะที่ “นายหัวกิจ” ที่แม้จะวางมือการเมือง แต่ยังเป็นสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ขณะที่ “ย๊ะ” ฮูวัยดียะ เป็นน้องสาวของ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตรองหัวหน้าปชป. รมว.การต่างประเทศในรัฐบาลชวน และอดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นผู้ช่วยคณะทำงานด้านการเมืองของ ดร.สุรินทร์ สมัยเป็นส.ส.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2531 ก่อนที่ปี 2544 ลงสมัคร ส.ส.ในเขต 1 นครศรีธรรมราช และได้รับเลือกตั้ง
กระทั่งการเลือกตั้งครั้งหลังสุด เธอลงสนามอีกครั้งในฐานะผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตคลองสามวา แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากวิกฤติฉาวที่เกิดขึ้นภายใน ปชป. เวลานี้ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ค่ายสีฟ้าต้องเร่งล้างภาพโดยเฉพาะตัวหัวหน้าจุรินทร์ ที่ออกมายอมรับมีส่วนสำคัญชักนำ “ปริญญ์” เข้ามาในพรรค
ฉะนั้น การปรับให้ “เด็กสายชวน” เข้ามามีบทบาทมากขึ้น นอกเหนือจากจะเป็นการฉายภาพคนรุ่นใหม่เพื่อสู้พรรคคู่แข่งแล้ว
อีกแง่หนึ่งอาจเป็นการ “ปรับบาลานซ์” ภายใน ปชป.ที่ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะ “ก๊วนจุรินทร์” หรือ “ก๊วนเฉลิมชัย” เหมือนดังเช่นที่ผ่านมา
จากนี้ต้องจับตาโดยเฉพาะบทบาทของ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย คนใหม่ภายใต้เงา "นายหัวชวน"
โดยมีแผงหลังเป็นกูรูด้านเศรษฐกิจทั้ง พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมต.คลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรค ดูแลนโยบายในทุกมิติ ,เกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านต่างประเทศ ดูแลด้านการต่างประเทศและมีภารกิจครอบคลุมการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงทีมเศรษฐกิจปชป.รวม15คน
ภายใต้โจทย์หินในการฟื้นวิกฤติ ดึงคะแนนนิยมท่ามกลางสมรภูมิเลือกตั้ง เพื่อซื้อใจประชาชนในยุค "ของแพง-ค่าแรงถูก" กลับคืนมา