"คำนูณ" เปิดมุมมอง3ทาง ปม "วาระ8ปีนายกฯ" ชี้จบที่ศาลรธน.
"คำนูณ" ให้ความเห็น 3มุมทางกฎหมาย เกี่ยวข้องกับ วาระนายกฯ 8 ปี ชี้มาตรา 159 , 264 มีมุมที่ตีความได้แตกต่าง เชื่อสุดท้าย ศาลรธน.ชี้ขาด
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ให้ความเห็นต่อกรณี วาระดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่กำหนดให้การดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องไม่เกิน 8 ปี ซึ่งมีความเห็นในทางกฎหมายที่แบ่งเป็น 3 ทาง และเชื่อว่าคำชี้ขาดจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
โดยนายคำนูณ ระบุว่า ปัญหาการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา คือ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่กำหนดให้วาระนายกฯ รวมกันไม่เกิน8 ปี และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรก กำหนดให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นครม.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ ขณะที่การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก 24 สิงหาคม 2557 และครั้งที่ 2 คือ 9 มิถุนายน 25562 ดังนั้นจึงมีความเห็นต่างทางกฎหมายแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ แนวทางแรก อยู่ได้ถึง วันที่ 24 สิงหาคม 2565, แนวทางสอง อยู่ได้จนถึงปี 2570 และแนวทางสาม อยู่ได้ถึงปี 2568
นายคำนูณ ระบุขยายความด้วยว่าแนวทางแรก เพราะ มาตรา 158 ไม่มีบทยกเว้นให้กับ ครม. ที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมือง ที่เป็นวิกฤตการเมือง ดังนั้นการนับวาระของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องนับตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2557
"มีประเด็นที่พอจะกล่าวได้ว่าใกล้เคียงกันพอสมควรซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 เคยมีคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 คดีตามคำวินิจฉัยนี้คือคดียุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คนเป็นเวลา 5 ปีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ซึ่งระบุว่ามาตรการทางกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิดสามารถมีผลใช้บังคับยัอนหลังได้ เพราะมาตรการทางกฎหมายนั้นย่อมบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม ไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก ดังนั้นการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้จำกัดเพียงไม่เกิน 8 ปี น่าจะถือเป็นมาตรการบังคับทางการเมืองตามนัยแห่งคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 นี้เช่นกัน สมควรพิจารณาโดยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่” นายคำนูณ ระบุ
นายคำนูณ ระบุด้วยว่า แนวทางที่สอง อยู่ได้ถึงปี 2570 เพราะหลักการของกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม ที่รระบุว่า จะต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษกับบุคคล ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีผลย้อนหลังต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน ดังนั้น มื่อพล.อ.ประยุทธ์ จัเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 นั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาจำกัดไว้ เพิ่งจะมามีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 หากบังคับใช้บทจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย้อนหลังกับท่านจะเป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญย้อนหลัง เป็นโทษกับบุคคล ขัดหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม
“แนวทางที่สอง จึงมองว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของท่านจึงไม่อยู่ภายใต้บทบังคับมาตรา 158 วรรคสี่ ส่วนบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรก เขียนเพื่อให้การบริหารประเทศเดินหน้าต่อเนื่องช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ขาดคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ทั้งนี้มีประเด็นคำพิพากษาที่ใกล้เคียง คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำพิพากษาที่ อม. 138/2562 โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตัดสินข้อกฎหมายไม่ให้นำสภาพบังคับที่กำหนดไว้ในกฎหมายขณะตัดสินคดีที่กระทบสิทธิของจำเลยรุนแรงกว่ามาตรการที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะกระทำความผิดมาใช้ แม้สภาพบังคับนั้นศาลจะได้วินิจฉัยแยกแยะไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ใช่โทษทางอาญาก็ตาม ก็จะนำมาใช้ย้อนหลังไม่ได้” นายคำนูณ ระบุ
นายคำนูณ ระบุตอนท้ายด้วยว่า แนวทางที่สาม คือ อยู่ได้ถึงปี 2568 เพราะนับเร่ิมวาระตั้งแต่การมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ 6 เมษายน 2560 เป็นหลักและ พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งนายกฯ ปัจจุบัน มาตามรัฐธรรมนูญ 2560
"ทั้ง 3 ความคิดเห็น มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับตามที่กล่าวมาโดยสังเขป ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าความเห็นใดถูกต้องที่สุด จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด และคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายคำนูณ ระบุทิ้งท้าย