ส่องนโยบาย "สิทธิการชุมนุม" จากว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." คนใหม่

ส่องนโยบาย "สิทธิการชุมนุม" จากว่าที่ "ผู้ว่าฯ กทม." คนใหม่

ประเด็น "สิทธิมนุษยชน" และสิทธิการชุมนุมคือหัวข้อที่มีความสำคัญไม่แพ้นโยบายอื่นๆ ของผู้ว่าฯ กทม. แอมเนสตี้ จัดเวทีเปิดแสดงแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนของบรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละคนมีความคิดเห็นและนโยบายอย่างไร เราสรุปมาให้แล้ว

ความร้อนแรงทางด้านการเมืองในประเทศไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายภาคส่วนต่างถกเถียงถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ โดยเฉพาะการจัดม็อบต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะหลายต่อหลายครั้ง

ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯ กทม." ที่จะดีเดย์ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ อีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญอย่างเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" จึงถูกหยิบยกขึ้นมาดีเบตอย่างร้อนแรงไม่แพ้หัวข้ออื่นๆ

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดเวทีเปิดแสดงแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนของบรรดาผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในงาน "กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับนโยบายด้าน "สิทธิการชุมนุม" ในมุมมองของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคน มาให้ทราบกันดังนี้

  • ข้อเท็จจริงเรื่อง "สิทธิการชุมนุม" ของประชาชน

หากกล่าวกันตามจริง หลักการและกฎของการชุมนุมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 44 ระบุไว้ชัดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นรัฐในภาคี ICCPR หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง "การชุมนุมโดยสงบ" จึงถือเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเช่นกัน

ส่องนโยบาย \"สิทธิการชุมนุม\" จากว่าที่ \"ผู้ว่าฯ กทม.\" คนใหม่

  • ส่องนโยบาย "สิทธิการชุมนุม" จากอนาคตผู้ว่าฯ คนใหม่

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล เบอร์ 1

การจัดเตรียมห้องสุขา การดูแลกล้องวงจรปิดที่ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคนถือเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่มีอีก 2 เรื่องเป็นอย่างน้อยที่ควรจะต้องทำ คือ การเปิดพื้นที่ของหน่วยงานราชการในสังกัดกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุม รวมถึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างเป็นกลาง โดยทำงานร่วมกับนักข่าวพลเมืองและภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อทำให้สิทธิของประชาชนได้รับการปกป้อง 

นอกจากนี้ยังได้แสดงความคิดเห็นถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ว่า ที่ผ่านมาเป็นกฎหมายที่ใช้เอาผิดกับผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้น ทั้งที่ พ.ร.บ.นี้ควรใช้อำนวยความสะดวกเรียบร้อยให้แก่ผู้คนในเมือง 

“พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ควรใช้จัดการกับสายไฟระโยงระยางต่างหาก แต่กลับไม่เคยทำ คุณใช้กฎหมายจัดการกับกระดาษโพสต์อิท แต่ปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ รั้วลวดหนามหีบเพลง พอมีพลเมืองดีไปเก็บลวดหนามกลับถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์สินของทางราชการ”

รวมถึงประเด็นการหยุดเดินรถ BTS ในวันที่มีการชุมนุมของประชาชน  วิโรจน์กล่าวว่า เป็นการทำให้กรุงเทพมหานครเสียค่าปรับและริดรอนสิทธิในการเดินทางของประชาชน 

“ต้องตั้งคำถามว่าคุณไปรอนสิทธิการเดินทางของคนอื่นทำไม และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าถ้าคุณหยุดการเดินรถ BTS อันตรายจะเกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม คุณหมายจะให้ใครขึ้นไปบนรางเหรอ คุณไม่สาแก่ใจกับเหตุการณ์วัดปทุมฯ เหรอ ผมจะไม่ยอมให้มีชายลายพรางหรือชุดอะไรก็ตามขึ้นไปบนบีทีเอสส่องยิงประชาชนอีก”

 

สกลธี ภัททิยกุล เบอร์ 3 สังกัดอิสระ

เห็นด้วยกับการเอื้ออำนวยให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมอย่างเต็มที่ เพราะตนก็เคยใช้พื้นที่สาธารณะในการเรียกร้องสิทธิเช่นกัน

“หลายคนรู้จักผมจากบทบาทที่เคยชุมนุมเรียกร้องสิทธิมาก่อน ผมคิดว่าเราต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ต้องการเรียกร้องสิทธิตราบเท่าที่กฎหมายให้ทำได้นะครับ แต่ถ้ากฎหมายไม่ให้ทำ แล้วยังจะทำ ผมก็อยากให้ดูตัวอย่างที่ไม่ดีอย่างผม ซึ่งต้องรับผลของการกระทำ ผมสู้คดีไปมา 7-8 ปี กว่าจะหลุดพ้นมา ก็ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร ถ้าผมมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ ถ้าการชุมนุมไม่ผิดกฎหมายยังไงก็ต้องช่วยประชาชน”

สำหรับประเด็นที่จะเอื้อให้เมืองเป็นมิตรกับสิทธิในการชุมนุม สกลธี กล่าวว่า กรุงเทพมหานครสามารถสนับสนุนในเรื่องของการจัดการขยะ ไฟฟ้า ห้องน้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะควรมีลักษณะยืดหยุ่น

“การใช้พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯไม่ควรจำเพาะเจาะจงในการใช้ประโยชน์ลักษณะใดอย่างตายตัว เช่น สวนสาธารณะไม่ใช่สถานที่สำหรับการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว สวนสาธารณะต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ด้วย อาจจะใช้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ หรือจัดกิจกรรมดนตรี ในโซนที่ไม่เบียดเบียนกิจกรรมของคนที่ใช้สวนสาธารณะนั้น การใช้พื้นที่สาธารณะเป็นประเด็นที่ผู้ว่าฯ ต้องพยายามดึงศักยภาพของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุดครับ”

 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4

สนับสนุนการใช้สิทธิในการชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ยืนยันว่าหากตนเป็นผู้ว่าฯ จะไม่มีเรื่องสองมาตรฐาน พร้อมดูแลทุกคนอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ประเด็นสำคัญคือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต้องเป็นสิทธิพื้นฐานของคน กทม. กล้อง CCTV ควรเชื่อมต่อด้วยระบบ WiFi

 

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ เบอร์ 3 สังกัดอิสระ

คำว่าสิทธิมนุษยชนตรงกับวิสัยทัศน์ของตนเองที่ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใดก็ตาม ตนจะเน้นที่โครงการระดับเส้นเลือดฝอยเพื่อให้เข้าถึงคนตัวเล็กตัวน้อย และจัดเตรียมพื้นที่สาธารณะให้มีการชุมนุม ใน พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 9 หน่วยงานราชการสามารถกำหนดพื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมได้ ผู้ชุมนุมไม่ต้องขออนุญาตตำรวจตามหมวด 2 เช่น พื้นที่ลานคนเมือง สวนลุมพินีบางส่วน สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น หรือสวนสาธารณะอื่นๆ ได้ กระทั่งสามารถจัดการพื้นที่การชุมนุมให้มีตลาดหรือการแลกเปลี่ยนพูดคุยปราศรัย

"เรื่องเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราควรทำให้เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของการพูดคุยเวลาที่มีความเห็นแตกต่างกัน หน้าที่เราคือดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าความคิดเหมือนหรือต่าง ดังนั้น กทม. ต้องอำนวยความสะดวกเต็มที่ ทั้งการเก็บขยะ ห้องน้ำ น้ำดื่ม แพทย์ฉุกเฉิน กล้องวงจรปิด เพื่อดูแลประชาชน ซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้ และมองว่าสามารถเตรียมพื้นที่ของ กทม. ให้เป็นพื้นที่ชุมนุมได้ เช่น บริเวณลานคนเมือง และพื้นที่สาธารณะในทุกเขต แล้วทำให้ข้างๆ เป็นตลาดนัด สร้างเศรษฐกิจในเมืองด้วย”

 

ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 11

ผู้ว่าฯ กทม. ต้องไปดูปัญหาที่คับข้องใจของคนที่เข้ามาเรียกร้องใน กทม. โดยต้องดูแล ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย รักษาความเป็นระเบียบร้อย และต้องทำให้มากกว่าการอำนวยความสะดวก นั่นคือ การช่วยประสานไปยังหน่วยงานคู่ขัดแย้ง หากการชุมนุมทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนอื่น ต้องมีการเจรจาเพื่อให้เกิดทางออกร่วมกัน