จ่อขึ้นทะเบียน วัคซีนโควิดสัญชาติไทย "ChulaCov19" ปลายปีนี้

จ่อขึ้นทะเบียน วัคซีนโควิดสัญชาติไทย "ChulaCov19" ปลายปีนี้

รัฐบาลเผยความคืบหน้าวัคซีนโควิดสัญชาติไทย “ChulaCov19” ผลิตล็อตแรกในประเทศได้แล้ว คาดขึ้นทะเบียนปลายปีนี้ สอดรับเป้าหมายMedical Hub

7 พ.ค.2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิดสัญชาติไทย “ChulaCov19” ชนิด mRNA โดยเมื่อ พ.ย. 2564 คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณสนับสนุน 2,316 ล้านบาท

ซึ่งทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้การผลิตอยู่ในขั้นการออกแบบวัคซีนและให้โรงงานในสหรัฐอเมริกาผลิต ซึ่งผ่านการทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว มีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิได้สูงเป็นที่น่าพอใจ ขนาดที่เลือกเมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ที่อนุมัติใช้ในไทยได้ภูมิที่สูงกว่าชัดเจน ส่วนระยะต่อไป จะเป็นการผลิตวัคซีนเองภายในประเทศ

 

โดยบริษัท ไบโอเน็ตเอเชีย จำกัด ซึ่งผลิตวัคซีนล็อตแรกเรียบร้อยและผ่านการประกันคุณภาพแล้ว ทางทีมวิจัยได้ส่งเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ 2 อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก อย. หากผลทดสอบวัคซีนที่ผลิตเองในไทยได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าจะขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ภายในปลายปี 2565

รัฐบาลตั้งเป้าให้ไทยเป็นประเทศสามารถคิดค้น ทดลอง วิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนในประเทศได้เอง ตาม ‘ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2560 – 2569’ ซึ่งจะส่งผลถึงระดับภูมิภาค ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคงและปลอดภัยในการป้องกันเชื้อไวรัส

ทั้งนี้เป้าหมายดังกล่าวได้กำหนดไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการที่ไทยเป็น ‘ศูนย์กลาง’ การผลิตวัคซีนจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน และการระดมฉีดวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สามารถป้องกันการเสียชีวิตของคนไทย ช่วยลดการป่วยหนัก และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหมายความถึงการลดภาระระบบสาธารณสุขได้อีกมหาศาล