"วรนัยน์" ชี้ เลือก "ส.ก.รวมไทยยูไนเต็ด" ทวงคืน กฟน.-กปน. กระจายอำนาจ จาก มท.1

"วรนัยน์" ชี้ เลือก "ส.ก.รวมไทยยูไนเต็ด" ทวงคืน กฟน.-กปน. กระจายอำนาจ จาก มท.1

"หัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด" ปลุก คนกรุง เลือก 19 แคนดิเดตส.ก. ของพรรค ทวงคืน "กฟน.-กปน." ดึง อำนาจ "มท.1" มากระจายพัฒนา "กทม." บริหารค่าน้ำไฟ เอง ระบุ ถ้าทำดี ได้อยู่ต่ออีก4ปี

นายวรนัยน์ วาณิชกะ หัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า เลือก 19 แคนดิเดต ส.ก. รวมไทยยูไนเต็ด เลือกนโยบายเพิ่มเม็ดเงินให้ กทม. เกือบ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ใครคุมเงิน คนนั้นคุมอำนาจ นั่นคือสัจธรรมชีวิต รายได้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กว่า 650,000 ล้านต่อปี รายได้การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เหยียบ 50,000 ล้านต่อปี

เม็ดเงินกําไรของการไฟฟ้านครหลวง บวกลบอยู่ประมาณหมื่นล้านต่อปี การประปานครหลวงบวกลบอยู่ประมาณ 7 ถึง 8 พันล้านต่อปี ทั้งหมดควรเข้าสู่ กทม. เพื่อนำมาพัฒนาเมืองหลวงของเรา แต่ตั้งแต่ไหนแต่ไร ทั้งหมดเข้าสู่กระเป๋ากระทรวงมหาดไทย อำนาจกระจุกในมือ นี่คือหนึ่งในเหตุผลของการแก่งแย่งเก้าอี้ มท.1 

ปัญหาของประเทศไทยคืออำนาจกระจุก ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมลํ้า การแก้ปัญหาคือกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้าง เช่น นโยบายเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศที่ผมได้โพสต์ไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์

\"วรนัยน์\" ชี้ เลือก \"ส.ก.รวมไทยยูไนเต็ด\" ทวงคืน กฟน.-กปน. กระจายอำนาจ จาก มท.1

ทําไมจะทําไม่ได้ ในเมื่อกฎหมายให้ทำได้ เพียงแต่ไม่มีใครทํา เรามี พ.ร.บ.กระจายอำนาจ ว่าด้วยการโอนภารกิจจากรัฐบาลและส่วนกลาง ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สรุปคือ ทําได้

นอกจากนโยบายผู้ว่ากลางคืน (หรือผู้ว่านกฮูก) ที่ตนได้เสนอไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคม อีกนโยบายหนี่ง ที่ 19 แคนดิเดต ส.ก. ของพรรครวมไทยยูไนเต็ดจะผลักดัน คือการทวงคืนการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง 

เรามาวิเคราะห์กัน โครงสร้างประเทศไทยคือ ปิรามิดสูงเท่าฟ้า เหลื่อมล้ำทั้งประเทศ งบประมาณบริหารไม่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบลําบาก เพราะอำนาจมันล้น

หนึ่งในการกระจายอํานาจ คือ ให้แต่ละจังหวัดรับผิดชอบบริหารนํ้าไฟของตน รายได้เข้ากระเป๋าจังหวัดของตน นำมาพัฒนาจังหวัดของตน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลขึ้นอยู่กับทีมบริหารที่ตนเลือกตั้งมา ทำไม่ดี 4 ปีไล่ออก ทำดีอยู่ต่ออีก 4 ปี ปิรามิดเตี้ย อํานาจกระจาย ยึดโยงต่อพื้นที่ ตราจสอบง่ายกว่า เพราะอำนาจไม่ล้นมือ ทั้งนี้ทั้งนั้น นโยบายนี้ต้องเชื่อมโยงกับนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ แต่กทม. เลือกตั้งผู้ว่าได้ 

งบประมาณ กทม. 79,000 ล้านบาท รายจ่ายภารกิจประจำพื้นฐาน 53,574 ล้านบาท (67.81%) รายจ่ายภารกิจยุทธศาสตร์ 2,211 ล้านบาท (2.80%) รายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงานในกำกับ 2,796 ล้านบาท (3.54%) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินยืมเงินสะสม 6,002 ล้านบาท (7.60%) รายจ่ายงบกลาง 14,414 ล้านบาท (18.25%)

สรุปคือ งบมีไว้พอแค่รักษาความเหมือนเดิม ถ้าจะต่อยอดการพัฒนา เพิ่มเงินซักสองหมื่นล้านเอามาช่วยปากท้องประชาชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว จะเส้นเลือดฝอยหรือเมกะโปรเจ็ค จะเอาเงินมาจากไหน กู้ยืม หรือแบมือขอรัฐบาลกลาง

การทวงคืนการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง คือการนําค่านํ้าค่าไฟที่คนกรุงเทพฯจ่าย กลับมาพัฒนากรุงเทพฯ เอาอำนาจที่กระจุกอยู่ในมือมท.1 มากระจายในพื้นที่ บริหารโดยทีมงานที่ได้รับการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่

คําถามคือ ทำอย่างไร คำตอบคือ วันที่ 22 พฤษภาคม เลือก 19 แคนดิเดตส.ก. ของรวมไทยยูไนเต็ด เข้าไปผลักดันในสภากรุงเทพ ผลักดันกับผู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นกระบอกเสียงของชาวกรุงเทพ 6 ล้านกว่าคน ทวงคืนการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงจากกระทรวงมหาดไทย แก้โครงสร้างเพื่อกระจายอำนาจ 

ความถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราไม่ร่วมมือกันใช้ระบบประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม คุณภาพชีวิตก็จะเหลื่อมล้ำและด้อยพัฒนาเหมือนเดิม แล้วเราก็ต้องมานั่งทวิตบ่น นอนโพสต์ด่า กับเรื่องเดิมๆ อย่าทําในสิ่งที่เหมือนเดิม เราต้องลุกขึ้นมาทําในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่ายากเพียงใด การทวงคืนไม่ใช่ความฝัน แต่คือความถูกต้อง