ดีล “เพื่อไทย-พรรคเล็ก” เกมต่อรอง “สร้างมูลค่า” การเมือง
ดีลล้ม "ประยุทธ์" ดูท่าจะถูก "ล้มโต๊" เมื่อพี่ใหญ่ เตะเบรค ทำให้ ดีลที่ผ่านมา กลายเป็น ความเคลื่อนไหว เพื่อสร้างมูลค่าทางการเมือง ทว่า เกมวัดพลังเพื่อโค่นรัฐบาลยังต้องจับตา
ดีลล้ม “ประยุทธ์” แบบเปิดหน้าชก ที่ตั้งต้นมาจาก “แกนนำเพื่อไทย” ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จับมือกับ “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.พลังประชารัฐ ต่อท่อไปถึง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย นัดกินข้าว วันที่ 23 พฤษภาคม ส่อเค้า ว่า "ล่มไม่เป็นท่า”
แม้ว่า “ยุทธพงศ์” จะยืนยันผ่านการแถลง การันตีว่า “ธรรมนัส” ตอบรับนัดกินข้าวแล้ว “ล้านเปอร์เซ็นต์"
เหตุผลที่ทำให้ “ดีลส่อล่ม” คาดว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฐานะผู้มากบารมีที่ “ธรรมนัส” เคารพ “เตะเบรค”
“ได้คุยกันแล้ว เขาไม่ไปหรอก ให้ทำงานเพื่อประชาชนดีกว่า” พล.อ.ประวิตร ตอบคำถามสื่อมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงเช้า 10 พฤษภาคม ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทว่า เรื่องนี้ยังคงต้องจับตากันต่อไป เพราะแม้วันนัดหมาย “ร.อ.ธรรมนัส” อาจไม่ไปตามนัด แต่การติดต่อประสานงาน เพื่อให้ “ดีลล้มประยุทธ์” เป็นจริงนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้
ตราบใดที่มีช่องให้ “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายสลับขั้ว” เล่นเกมชิงเสียงในสภาฯ และ “ทีมประยุทธ์" ไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากได้แบบเบ็ดเสร็จ หรือ อย่างน้อยต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่มีอยู่ในสภาฯ ได้ ในตอนโหวตไม่ไว้วางใจ
ตอนนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะเป็น “รูรั่ว” ขั้วประยุทธ์ คือ ตัวแปร 30 เสียง จาก “กลุ่ม16+2ส.ส.” ของ "พิเชษฐ” และ “กลุ่มเศรษฐกิจไทย” 16 ส.ส. ในก๊วน "ธรรมนัส”
ซึ่ง ฝ่ายค้านรู้จุดอ่อนข้อนี้ และ แม้จะประเมินความสำเร็จ ที่ 70 : 30 เพราะสถิติโหวตไม่ไว้วางใจรอบที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่า “กลุ่มประยุทธ์” ยังสามารถเก็บคะแนนไว้วางใจได้เกินเกณฑ์
ทว่าความพยายาม เปิดดีลให้เกิดขั้วสวิงโหวต ของ “เพื่อไทย-พรรคเล็ก" หากไม่สำเร็จ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น คือ และ “มูลค่าเพิ่ม” ทางการเมืองของ “พรรคปัดเศษ” ช่วงที่การเลือกตั้งใกล้มาถึง
อย่างไรก็ดี กับการรับมือเรื่องนี้จาก “ขั้วรัฐบาล” คือ การส่ง “สุชาติ ชมกลิ่น” คนใกล้ชิด “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นมือประสานและดูแล “กลุ่มส.ส.พรรคเล็ก"
และใช้บทบาท “วิปรัฐบาล” คอยดึงความร่วมมือจาก “ก๊วนธรรมนัส” รวมถึงการให้ผลตอบแทน ผ่านการสร้างผลงานและมีเวทีโชว์ของในที่ประชุมสภาฯ
ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ จะได้เห็น เมื่อ “สภาผู้แทนราษฎร”เปิดสมัยประชุม และ นัดประชุมทันที วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม คือ การพิจารณาร่างกฎหมายรวมถึงผลงานของส.ส. ที่ทำในรูปแบบของกรรมาธิการ, ศึกษาญัตติ เพราะหากสภาฯ เห็นชอบ และไฟเขียวให้นำไปสู่การปฏิบัติของรัฐบาล หรือ หน่วยงานราชการได้ “ส.ส.” สามารถใช้เป็น “ของหากิน” ไปบอกกล่าว หาคะแนนนิยมกับประชาชนในพื้นที่ได้
โดยเฉพาะ ร่างกฎหมาย เช่น ร่างพ.ร.บ.บำนาญประชาชน ที่กลุ่มพรรคเล็ก-มีส.ส.1เสียง กำลังผลักดันให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ทันทีที่สภาฯ เปิดสมัย ซึ่ง “พิเชษฐ และ พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค” แกนนำกลุ่ม16 ได้ทำสัญญาลูกผู้ชายไว้กับแกนนำรัฐบาล ว่า เมื่อร่างกฎหมายนี้ ที่มีฐานะเป็นกฎหมายการเงิน ถึงมือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แล้ว ต้องลงนามรับรอง เพื่อส่งให้ สภาฯ พิจารณา
รวมไปถึง “ร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566” ที่ “ส.ส.พรรคเล็ก" จะขอโควต้าเป็น กมธ. รวมถึง อนุกมธ. อย่างน้อย เพื่อมีบทบาทต่อกระบวนพิจารณางบประมาณของรัฐ
เมื่อ “เสียงในสภาฯ” กลายเป็นตัวแปร และ จุดชี้วัดสำคัญของตำแหน่ง “ผู้นำรัฐบาล” ของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าจะอยู่ได้ยาวเท่าใจนึกได้หรือไม่ นาทีนี้ จึงจำเป็นต้องยอมอ่อน ยอมตาม “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่เคลื่อนไหวต่อรอง “สร้างมูลค่า” การเมือง.