ปิดฉาก 8 ปี "สภา กทม." ยุคคสช.แต่งตั้ง ส่งต่อภารกิจให้ ผู้ว่าฯ กทม.-สภาชุดใหม่
ปิดฉาก 8 ปี "สภา กทม." ยุค คสช.แต่งตั้งปี 2557 ยุติประชุมนัดสุดท้ายแล้ว ก่อนส่งมอบภารกิจให้ ผู้ว่าฯ กทม.-สภาชุดใหม่
วันที่ 11 พ.ค. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร(กทม.) อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภา กทม. เป็นประธานการประชุมสภา กทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำปี2565 โดยมี สมาชิกสภา กทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
ในวันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ของสภา กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 ซึ่งมีสภาชิกคงเหลือจำนวน 26 คน โดยในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญ จำนวน 6 คณะ ดังนี้
1.คณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการบูรณาการและการขับเคลื่อนการปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ แนวทางการบริหารจัดการที่ดีในการแก้ไขสถานการณ์โควิด ของ กทม.ในภาพรวม ต้องรีบแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดำเนินการตรวจเชิงรุก เพื่อหาผู้ติดเชื้อทั่วทั้งกรุงเทพฯ จัดตั้งศูนย์พักคอย (Community Isolation) โรงพยาบาลสนาม จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และทำการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และควรมีการพิจารณาผ่อนคลายการปฏิบัติให้กับสถานที่ หรืออาชีพของภาคเอกชนและประชาชน เพื่อให้สามารถประกอบกิจการได้ ภายใต้การบริหารการจัดการที่ดีด้านสาธารณสุข โดยต้องพิจารณาทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารสถานการณ์โควิด ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม
2.คณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งของ กทม. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ควรมีช่องทางในการรับแจ้งข้อขัดข้องของประชาชน กรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ควรเผยแพร่ข่าวสารความพร้อมของ กทม. ในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับของกทม. ควรใช้ประโยชน์จากป้ายคัตเอ้าท์ขนาดใหญ่ ป้าย LED ป้ายอัจฉริยะ ตอม่อ รถไฟฟ้า BTS รถโดยสารประจำทาง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นรวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และสมาชิกสภากทม.เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งพร้อมกัน และมีบัตร 2 ใบ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้
3.คณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของ กทม. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ เพื่อศึกษาว่ามีที่ดินบริเวณใดที่เป็นของกทม. มีการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หรือที่ดินแปลงใดยังไม่มีการพัฒนา กรณีทรัพย์สินที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นกรรมสิทธิ์หรือตกเป็นของ กทม.ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อนำทรัพย์สินมาใช้ประโยชน์หรือพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของ กทม.นอกจากทรัพย์สินประเภทที่ดิน กทม.ยังมีทรัพย์สินประเภทอื่น เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ครุภัณฑ์ ควรมีการศึกษาเพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินในอนาคตต่อไป
4.คณะกรรมการวิสามัญติดตามการดำเนินงานของ กทม.ในโครงการที่ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลตามนโยบายรวมทั้งแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ กทม.สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ โครงการที่จะขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลหน่วยงาน ที่ดำเนินการต้องจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและเรียงลำดับความสำคัญ เพื่อนำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี และ ครม.พิจารณา เมื่อ ครม. เห็นชอบให้ดำเนินการ และควรมีการประชาสัมพันธ์โครงการที่ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลผ่านจอ LCD ตามสี่แยกหรือจุดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ
5.คณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ต่อเนื่องกัน ได้ศึกษาการดูแลแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองเขื่อนที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ผลการศึกษาพบว่า ฝั่งพระนคร แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำให้ขยะน้อยลง ส่วนฝั่งธนบุรี น้ำในคลองกุฎีจีนมีปัญหามาจากการปล่อยน้ำเสียของชุมชน และคลองปรกอรุณยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาต่อไป เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำ ต้องมีแผนดำเนินการเพื่อลดปัญหาความเน่าเสียของน้ำ โดยมีแผนงานที่จะต้องแยกน้ำดีและน้ำเสียออกจากกัน เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำให้เกิดความอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งตรวจสอบว่ามีคลองใดที่มีประตูระบายน้ำแล้ว แต่ยังมีปัญหาในการบริหารจัดการ เช่น ชำรุด เสื่อมสภาพในการใช้งาน หรือล้าสมัย เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพต่อไป
6.คณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ “สังคมผู้สูงอายุ” เป็นวาระแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการในการดูแลผู้สูงอายุหลายด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิประโยชน์ ด้านการให้บริการ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกทม. ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561-2564)
นอกจากนี้ ในการประชุมได้เสนอรายงานผลงานของคณะกรรมการสามัญประจำสภา กทม. ประจำปี พ.ศ. 2565 (เดือนมกราคม - เมษายน 2565) ประกอบด้วย คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย คณะกรรมการการศึกษาคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง คณะกรรมการการระบายน้ำ คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการการตรวจรายงานการประชุม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ว่าฯกทม. และสมาชิกสภา กทม.ชุดใหม่ต่อไป