สื่อนอกจับตาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 22 พ.ค.

สื่อนอกจับตาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 22 พ.ค.

สำนักข่าวเอเอฟพีเกาะติดข่าว เลือกตั้งผู้ว่า กทม. วันอาทิตย์นี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่กรุงเทพฯ เจอการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ระบุ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารปี 2557 นำคู่แข่ง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 22 พ.ค. เกิดขึ้นในช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำลังยื้อพรรคร่วมรัฐบาลเอาไว้ให้ได้จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นภายใน 12 เดือน

กทม. เมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาจราจรประชากร 10 ล้านคน เคยเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งสุดท้ายในปี 2556 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ.ยึดอำนาจในปี 2557 แล้วปลดผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้งคนของตนขึ้นแทน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลพลเรือนที่ถูกรัฐประหารมีคะแนนนำคู่แข่ง เขาสมัครในนามอิสระ และว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาว กทม.ต้องการออกจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ครอบงำการเมืองไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“คนกรุงเทพฯ จำนวนมากเบื่อการเมืองแบบเดิมๆ” ชัชชาติกล่าวกับเอเอฟพี แต่ผู้สมัครวัย 55 ปีรายนี้คือบุคคลสำคัญในพรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายค้านของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้อื้อฉาว เคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเมื่อปี 2562

แม้ชัชชาติยืนยันความเป็นอิสระของตน พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ส่งผู้สมัครมาแข่ง ทำให้บางคนมองว่าเขาคือตัวแทนของพรรค

ด้านผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ชัชชาติมีคะแนนนำผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง อดีตนายพลตำรวจที่พล.อ.ประยุทธ์สนับสนุนอยู่มาก

กรุงเทพฯ สีเขียว

เอเอฟพีระบุด้วยว่า ชัชชาติผลักดันวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ เช่น จัดการปัญหารถติด ลดมลพิษ ขยายพื้นที่สีเขียวในป่าคอนกรีต ให้คำมั่นปลูกต้นไม้หนึ่งล้านต้นในสี่ปี

“หลายคนรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตแย่ลงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา” เจ้าตัวกล่าว เขาไม่ได้ให้ความเห็นชัดเจนเรื่องการประท้วงเมื่อปี 2563 ที่ประชาชนหลายหมื่นคนลงถนนเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ลาออก รวมถึงข้อเรียกร้องที่ไม่เคยมีมาก่อนให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

แต่หลังจากทางการถูกวิจารณ์ว่าปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงทั้งแก๊ซน้ำตา กระสุนยาง และรถฉีดน้ำ ชัชชาติชี้ว่า เขาอยากเห็นการรับมือผู้ชุมนุมที่นุ่มนวลขึ้นในอนาคต

“งานของเราไม่ใช่การดูแลทหารหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปราบปราม แต่เราต้องดูแลประชาชน” ชัชชาติกล่าวระหว่างการดีเบตครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามว่าเขาจะรับมืออย่างไร

ตัวชี้วัดเลือกตั้งสนามใหญ่

แม้กรุงเทพฯ จะแตกต่างอย่างมากกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่ยากจน ทำการเกษตร และการศึกษาน้อย แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นตัวบ่งบอกการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง

ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ นักวิเคราะห์การเมืองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งจะบอกได้บ้างถึงความยินดีของคนกรุงเทพฯ ในการสนับสนุนผู้สมัครรอยัลลิสต์และคนของกองทัพที่ครอบงำการเมืองไทย

“กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเวลานี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่กำลังมาถึง” นักวิเคราะห์กล่าว

สำหรับกมลวรรณ อิงสกุลสุข นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยกับเอเอฟพีว่า จะเลือกชัชชาติเพราะแผนงานไม่ใช่เพราะเขาอยู่ฝ่ายไหน

“ตอนที่ดิฉันฟังนโยบายและความเห็นของคุณชัชชาติทางทีวี ดิฉันรู้สึกว่าเขารู้ปัญหาและนโยบายของเขาแก้ปัญหาได้ อย่างน้อยๆ มันก็เป็นจุดเริ่มต้น” นิสิตวัย 23 ปีกล่าว