8 ปีรัฐประหาร VS ศึกผู้ว่าฯ กทม. สัญญาณ "ประยุทธ์-คสช." ไปต่อ ?
ปัจจุบัน คสช.ที่แปลงสภาพมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว โดยเฉพาะ 3 ป.ตัวละครหลัก ยังคงมีแนวโน้มที่จะไปต่อทางการเมือง ยังพยายามรักษาอำนาจ รักษาความสงบ
8 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ที่หัวหน้า คสช.ยังบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องหลังยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้การเข้าสู่อำนาจ 4 ปีหลังจะเป็นการเลือกตั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันนี้ พูดถึงการยึดอำนาจครั้งนั้น ผ่านเวที “ถามมา – ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” โดยย้อนเหตุการณ์ที่ตัดสินใจยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศว่า เพราะบ้านเมืองเดินต่อไม่ได้ คนไทยไม่มีความสุข และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในยุค คสช. ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด เศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
"ผมคิดย้อนถึงการตัดสินใจเข้าบริหารประเทศเมื่อ 7 ปีก่อน คงจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศของเรา คนไทยไม่มีความสุข บ้านเมืองไม่สงบ เดินหน้าต่อไปไม่ได้ สถานการณ์ที่ผมกล่าวถึง เกิดขึ้นมาหลาย 10 ปี เมื่อผมตัดสินใจจะเข้ามาแล้วผมก็พยายามจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แม้จะมีอุปสรรคมากมายที่จะต้องแก้ไข"
"ย้อนกลับไปเมื่อเรามีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ผมเข้าใจดีว่า เราต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่า ประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในเวลานั้น คสช. ก็ได้พยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า ทุกคนสามารถที่จะมีเสรีภาพทางความคิดภายใต้กรอบกฎหมายที่ผ่อนปรนกับทุกฝ่ายมากที่สุด
ถึงแม้ว่าในช่วงที่เป็นรัฐบาล คสช. จะมีอำนาจพิเศษมากมาย แต่ผมก็ไม่ได้ใช้ทุกกรณี ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมการตรวจสอบต่างๆ องค์กรอิสระยังคงทำหน้าที่เป็นอิสระ โดยผมจะไม่เข้าไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ใดใดของท่าน วัตถุประสงค์การเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นก็เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้และทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่นประเทศไทย
ทุกคนคงได้เห็นแล้วว่า ในช่วงหลังจากนั้น รัฐบาลไทยก็ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และประเทศของเราก็มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยียนกว่า 40 ล้านคน และช่วงเวลานั้นรัฐบาลก็ได้บริหารประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การที่เราสร้างชาติให้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ที่เราวางไว้ เราจำเป็นต้องมีแผนแม่บท ซึ่งก็คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีระหว่างปี 2561- 2580"
ถือเป็นถ้อยแถลง ในการปาฐกถาพิเศษ อนาคตประเทศไทย อย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเปรียบเสมือนการแถลงผลงานของรัฐบาล ในเทอมสุดท้ายนี้
โดยก่อนหน้านี้ การรัฐประหารของ คสช.ได้ถูกหยิบยกมาเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมีขึ้นในวันเดียวกัน 22 พ.ค. 2565 และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จำเป็นต้องตอบคำถาม ในประเด็นที่ว่า มองอย่างไรถึงการหาเสียงของผู้ว่าฯ กทม.หรือดีเบตที่นำเรื่องรัฐประหารมาตั้งคำถามเหมือนเป็นการปลุกกระแสว่า
“สิ่งใดที่พูดมา ถ้าใครพูดเรื่องเก่าก็ย้อนกลับไปดูเรื่องเก่าๆ มาด้วยก็แล้วกันว่าได้ทำอะไรมาแล้วบ้างในแต่ละคน ...ทำเพราะอะไรย้อนกลับไปดูพฤติกรรมสมัยก่อนก็แล้วกัน ถ้าใครจะว่าล่ะก็ บ้านเมืองอยู่มาแบบนี้ได้ สงบแบบนี้เพราะอะไร แล้วใครอยากจะให้เกิดขึ้นอีกหรือ ไม่มีหรอก ผมก็ไม่อยากทำ”
ไม่เพียงแค่เวทีนี้ แต่การรัฐประหารครั้งหลังสุด ยังมีแนวโน้มจะถูกหยิบยกไปใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าอย่างแน่นอน หากดูแนวโน้มจากการทำโพลล์เกี่ยวกับเรื่องทัศนคติของประชาชนต่อการรัฐประหาร 2557 ของนักศึกษาบางสถาบัน ที่สะท้อนความรู้สึกของผู้คน
“ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน และเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้วิพากษ์ รัฐบาล คสช. (7 พ.ค.2565) ผ่านปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘อนาคตธรรมศาสตร์ อนาคตสังคมไทย’
มีประเด็นวิพากษ์ 8 ปีหลังรัฐประหาร ที่ระบุถึง สภาพสังคมไทยที่ยังมีความขัดแย้ง แตกแยกทางความคิดมากมาย สิ่งที่ตามมาหลังรัฐประหาร คือความสงบสุขเพียงชั่วคราว การใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน การทุจริตที่มากกว่ายุคนักการเมือง ความคาดหวังต่อการมีรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยน ระบบการปกครองแบบที่ทำให้คนจำนวนมากอึดอัด การใช้อำนาจ การดำเนินการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น
“...เราเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่อาจไม่ใช่ 2 มาตรฐาน แต่มีหลายมาตรฐานขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กับใคร เราเห็นการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในหมู่ผู้มีอำนาจ ไม่แตกต่างไปจากการทุจริตของนักการเมือง การทุจริตซึ่งเคยเป็นเป้าหมายสำคัญของการรัฐประหาร ยังคงมีอยู่ ความแตกต่างสำคัญคือในอดีตเรามีองค์กรตรวจสอบจับนักการเมืองเข้าคุก แต่ปัจจุบันเรามีกลไกเช่นนั้นสำหรับนักการเมืองหรือผู้มีความคิดตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น...”
“ เราเห็นองค์กรอิสระที่ตีความรัฐธรรมนูญ ตีความกฎหมายแตกต่างไปจากสามัญสำนึกของคนปกติที่แม้จะไม่ได้เรียนกฎหมาย เราไม่สามารถจัดการอะไรกับเรื่องนี้ได้ เราเห็นอะไรบางอย่าง ท่ามกลางความแตกแยกทางความคิด ... คนจำนวนมากรู้สึกถึงความไร้ประสิทธิภาพ รู้สึกถึงระยะเวลาที่ยาวนานเกินสมควร ถึงการใช้อำนาจที่มิอาจตรวจสอบได้ นี่เป็นปัญหาที่แท้จริงในเวลานี้ ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ที่คิดเห็นแปลกแยกแตกต่าง แม้คนที่ผ่านอะไรมาพอสมควรก็เข้าใจสิ่งเหล่านี้ แต่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก”
หลายประเด็นสำคัญที่ “สุรพล นิติไกรพจน์” วิพากษ์ วิเคราะห์สถานการณ์ นายกฯประยุทธ์ ได้พยายามเคลียร์บนเวทีถามมา-ตอบไป อย่างตรงไปตรงมา ท่ามกลางกระแสคนดังในกลุ่ม “นกหวีดทองคำ” ที่เคยร่วมกับ กปปส.ได้กลับใจ ออกมาแสดงความเสียใจ ที่มีส่วนร่วมเปิดประตูให้การรัฐประหารครั้งนั้น
ปัจจุบัน คสช.ที่แปลงสภาพมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว โดยเฉพาะ 3 ป.ตัวละครหลัก ยังคงมีแนวโน้มที่จะไปต่อทางการเมือง ยังพยายามรักษาอำนาจ รักษาความสงบ
ทว่าหลายฝ่ายกำลังจับจ้องว่า ก่อนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะหมดวาระลงในเดือน มี.ค.2566 หรืออีกไม่ถึง 10 เดือนข้างหน้า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในวันนี้ 22 พ.ค.2565 อาจเป็นจุดเริ่มของสัญญาณในการเลือกตั้งใหญ่อีก 1 ปีข้างหน้าว่า คสช.จะไปต่อได้อีกหรือไม่