“ชัชชาติ” สะเทือนรัฐบาล ปรากฎการณ์เบื่อเลือก“ขั้ว”
คะแนนนิยมของ “ชัชชาติ” แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักดังนี้ กลุ่มแรก "ฐานเสียงจากพรรคเพื่อไทย" กลุ่มที่สอง "ชนชั้นกลางใน กทม." กลุ่มที่สาม “นิวโหวตเตอร์” กลุ่มที่สี่ “อนุรักษ์นิยม” เป็นผลให้ "ชัชชาติ" ชนะอย่างถล่มทลาย
ไม่พลิก"โพลล์" หลังจาก “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.อิสระ เบอร์ 8 ได้รับความไว้วางใจจาก “คนกรุงเทพฯ” ให้นั่งเก้าอี้ "ผู้ว่าฯกทม. คนที่ 17" จากนี้ไป โฟกัสการเมืองจะจับจ้องไปที่ “ชัชชาติ” ว่าจะสามารถดำเนินนโยบายตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้หรือไม่
ต้องยอมรับว่าการลงพื้นที่ต่อเนื่องกว่า 2 ปี เพื่อสังเคราะห์ปัญหาในระดับชุมชน นำมาสู่การกำหนดนโยบาย ทำให้ “ทีมชัชชาติ” รับรู้ปัญหาของ “คนกรุงเทพฯ” อย่างแท้จริง และทำให้เห็นถึงความจริงใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา
ที่สำคัญยุทธศาสตร์ของ “ชัชชาติ” ที่ลงในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชนอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา “คนกรุงเทพฯ” เหนื่อยหน่ายกับปัญหาการเมืองแบ่งข้างเลือกขั้วในการเลือกตั้งทุกระดับ ต้องการให้โอกาสคนที่ไม่มีพรรคการเมืองคอยหนุนหลังมาทำงาน
แม้จะรับรู้ว่า “ชัชชาติ” เคยดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับรู้ว่ามี พรรคเพื่อไทย ผู้สมัคร ส.ก.พรรคเพื่อไทย ส่วนหนึ่งพยายามโหนกระแส และเป็นฐานเสียงให้ แต่กระแสที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตัวตนของ “ชัชชาติ” มีคะแนนนิยมมากกว่า พรรคเพื่อไทย-ผู้สมัครส.ก.พรรคเพื่อไทย
ด้วยความเป็นอิสระของ “ชัชชาติ” ทำให้ได้คะแนนจากทุกกลุ่มก้อน ทุกกลุ่มช่วงวัย ทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งแตกต่างจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนอื่น ที่จะมีฐานเสียงสนับสนุนเพียงแค่กลุ่มก้อนเดียว คะแนนจากกลุ่มอื่นมีน้อยมากที่จะไม่กระโดดข้ามฝั่งมากาบัตรให้
คะแนนนิยมของ “ชัชชาติ” แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักดังนี้ กลุ่มแรก "ฐานเสียงจากพรรคเพื่อไทย" ที่พอมีมวลชนจัดตั้งอยู่พอสมควร โดยอย่างน้อย ผู้สมัคร ส.ก. พรรคเพื่อไทย ที่ระดมหาเสียงในพื้นที่ ก็เทเสียงมวลชนของตัวเองให้กับชัชชาติ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่ง ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ในนามของพรรค
กลุ่มที่สอง "ชนชั้นกลางใน กทม." ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก กลุ่มนี้มักจะมีทัศนคติด้านลบกับพรรคการเมือง เพราะเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด ทั้งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร-คนเสื้อแดง-กลุ่มกปปส. ซึ่งรากเหง้าของปัญหามาจากพรรคการเมือง
กลุ่มที่สาม “นิวโหวตเตอร์” แม้พรรคก้าวไกลจะมีฐานเสียงนิวโหวตเตอร์-คนรุ่นใหม่ เป็นหลัก แต่กลุ่มนี้ไม่ได้เทคะแนนให้ “วิโรจน์ ลักขณาอดิสรณ์” ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. เบอร์ 1 จากพรรคก้าวไกล เสียทั้งหมด เพราะมีเสียงจากกลุ่มดังกล่าวจำนวนไม่น้อยชอบในตัวของ “ชัชชาติ” มากกว่าตัวของ “วิโรจน์” แม้ในใจจะเชียร์พรรคก้าวไกล แต่ศึกผู้ว่าฯกทม.ขอเว้นวรรค เพื่อเทให้ “ชัชชาติ”
กลุ่มที่สี่ “อนุรักษ์นิยม” แน่นอนว่าเสียงของกลุ่มนี้จะไม่สวิงไปที่ “พรรคเพื่อไทย-วิโรจน์-พรรคก้าวไกล” แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดกับชัชชาติแตกต่างกันออกไป กลุ่ม “อนุรักษ์นิยม” ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และฐานเสียงหลักของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเมืองเลือกขั้ว
เมื่อมีตัวเลือกที่ไม่อิงขั้วการเมืองอย่างชัดเจน ผนวกกับความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ เมื่อจำเป็นไฟท์บังคับให้ ต้องเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ มาอย่างยาวนาน จึงถึงเวลาลองเปลี่ยนใจ ลองของใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้
ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.รอบนี้ จึงส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเป็นโจทย์ให้นักการเมือง-พรรคการเมือง-ผู้มีอำนาจ ได้ตัดสินใจวางเกมทางการเมืองของตัวเองกันเสียใหม่ โดยเฉพาะ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” หากยังแตกกันเองมีโอกาสที่จะพบเจอกับความพ่ายแพ้
เนื่องจากเสียงของ “ขั้วประชาธิปไตย” ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล มีเพิ่มเติมจาก “นิวโหวตเตอร์-คนรุ่นใหม่” บวกรวมกับฐานเสียงเดิมที่พอมีอยู่แล้ว ทำให้คะแนนนิยมมีแต่จะปรับตัวสูงขึ้น
แตกต่างจาก “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ที่ไม่ได้รับความนิยมชมชอบจาก “นิวโหวตเตอร์-คนรุ่นใหม่” ทำให้ฐานเสียงไม่ได้มีเพิ่มเติม แถมนับวันจะลดน้อยถอยลงด้วย ผนวกกับ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” เอง มีเสียงแตกแบ่งใจให้กับการเมืองแนวทางใหม่ๆ ส่งผลให้เสียงสวิงไปอยู่ขั้วตรงข้าม
ที่สำคัญความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเข้ามายึดฐานเสียงจาก “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” แทนที่พรรคประชาธิปัตย์ มีอยู่หลายจุด การแย่งชิงอำนาจกันเองจนส่งผลเสียทั้งขบวน ภาพลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่กทม.จึงติดลบมานานแล้ว
ที่สำคัญความนิยมในตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะตัวแทนของ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ดิ่งลงลึกมาก เพราะการบริหารงานของรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แถมยังประสบกับปัญหาโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ฉุดเศรษฐกิจโลก ฉุดเศรษฐกิจไทย ทำให้ต้องเผชิญกับยุคข้าวยากหมากแพง
แนวทางการแก้ไขปัญหาของ “พล.อ.ประยุทธ์-รัฐบาล” ไม่สามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนลงได้ มิหนำซ้ำ สถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีแนวโน้มจะย่ำแย่ลงกว่าเดิม ทำให้ฐานเสียง “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ที่เคยแข็งแกร่ง สามารถชี้อนาคตของประเทศได้ อาจผันแปรไปจากเดิม
แม้ยังไม่รู้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะวางอนาคตทางการเมืองไว้อย่างไร จะไปต่อ หรือพอแค่นี้ แต่ปรากฎการณ์ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” เสียงแตก ย่อมส่งต่อพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองในเครือข่าย ที่เริ่มจะหมดหวังกับตัวแทนของกลุ่ม
แม้ผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะไม่สามารถชี้วัดทิศทางการเลือกตั้งใหญ่ได้ทั้งหมด แต่สัญญาณอันตรายจากคะแนนเสียงที่ส่งออกมา จะทำให้ “หัวขบวนอนุรักษ์นิยม” ต้องปรับเกมใหม่กันทั้งขบวน หากยังต้องการรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้