"อนุพงษ์" ฉุน "ส.ว." ถามกระทู้ทั่วไป ไม่ตรงกับที่เตรียมไว้
"อนุพงษ์" ร่วมประชุมวุฒิสภา ตอบกระทู้ถามทั่วไป ปมความปลอดภัยทางถนน ฉุน "ส.ว." ถามไม่ตรงกับที่ยื่นเอกสารไว้ พร้อมไล่ "ส.ว." ไปตั้งกระทู้ใหม่ เป็นกระทู้ถามสด
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ว่า หลังจากที่ส.ว. รับทราบพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2565 แล้ว ได้แจ้งถึงจำนวนส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ว่า มีจำนวน 249 คน เนื่องจากนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ขอลาออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ในการประชุมช่วงกระทู้ถามทั่วไป ตั้งถามโดยนายทวีวงษ์ จุลกมนตรี ส.ว. เรื่องมาตรการในการสร้างความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน จากประเด็นที่สังคมวิจารณ์ต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลบูรณาการการทำงานเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุของทุกหน่วยงาน โดยเชื่อมโยงกับ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เข้ากับหน่วยงานต่างๆ พร้อมเสนอให้ตั้งศูนย์อำนวยการกลาง
ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้ชี้แจง พบว่า ก่อนการตอบคำถาม พล.อ.อนุพงษ์ ทักท้วงด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยพอใจ ว่า "ปกติการถามเป็นกระทู้สด และกระทู้ทั่วไป ที่กำหนด แต่ไม่ได้ถามตามที่ส่ง ซึ่งผมตอบคำถามได้ แต่ไม่ได้ถามตามที่ส่ง สำหรับที่เป็นข้อกล่าวที่สาธยาย หากผมไม่พูดจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ดังนั้นเรียนให้ไปตั้งกระทู้สด แต่หากถามกระทู้ทั่วไปแล้วสาธยายไม่ตรงกับที่ถามนั้น กรุณาพิจารณาด้วย ในนี้มีหลายเรื่องข้อกล่าวหา ข้อกล่าวอ้าง ขอยึดตามที่ถามในหนังสือ ไม่เช่นนั้นกลับไปถามกระทู้ถามสดใหม่”
จากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า ภาพรวมการใช้รถใช้ถนนที่เป็นปัญหาอุบัติเหตุที่สร้างความสูญเสียมากกว่าการตายจากโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยขับรถไม่ดีทุกวัน หรือตลอดทั้งปี ขาดวินัย ดังนั้นในประเด็นแก้ไขต้องบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัด อย่างไรก็ดียอมรับว่าการดูแลการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร หรือตำรวจเฝ้าตามทางม้าลายทั่วกรุงเทพได้ ดังนั้นในการแก้ปัญหาของรัฐบาลคือการปรับปรุงกฎหมายตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานที่ศึกษาวิเคราะห์ ส่งให้รัฐบาล
“ข้อเสนอที่ให้ตั้งศูนย์ทำงานกลาง ผมมองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะต้องรวมหลายหน่วยงาน ทั้ง ในกลไกแก้ปัญหาของรัฐบาล มีการทำงานของหน่วยงานราชการและคณะทำงานที่ศึกษาปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลและเสนอแนะมายังรัฐบาลเพื่อดำเนินการ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ทำและมีความคืบหน้ามาก อย่างไรก็ดีตามกฎหมายลงโทษผู้ที่มึนเมา มีบทลงโทษแรงถึงติดคุก แต่การนำไปสู่การลงโทษติดคุกได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการทำคดีด้วย” พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจง
พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงด้วยว่า การทำงานร่วมกันนั้น แน่นอนว่าไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับข้ามหน่วยงานได้ แต่ใช้การทำงานร่วมกัน ส่วนกรณีที่มองว่าองค์กรท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่ง ที่ส.ว.ลงพื้นที่และพบข้อบกพร่องเป็นธรรมชาติที่ต้องปรับปรุงการทำงาน เหมือนกับนักเรียนในห้องเรียนที่สอบไม่ได้ที่1ทุกคน.