“ก้าวไกล” จัดงานระดมความเห็น ปชช.ผ่างบปี 66 ชี้ร่างเดิมไม่พอฟื้นเศรษฐกิจ
“พรรคก้าวไกล” จัดกิจกรรม “Hackathon งบ 66” ระดมความเห็นจากประชาชน ร่วมออกแบบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ร่วมกับ ส.ส.ก้าวไกล ก่อนอภิปรายงบปี 66 ชี้วงเงิน 3.185 ล้านล้าน ไม่พอฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2565 พรรคก้าวไกลจัดกิจกรรม "Hackathon งบ 66" เพื่อชวนประชาชนร่วมออกแบบ งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่ประชาชนอยากเห็น มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรม
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 มองว่าเป็นปีที่สำคัญมากสำหรับประชาชน โดยเห็นถึง 2 ส่วนหลัก คือ เฉพาะหน้าที่จะทำอย่างไรให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้กลับมาฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด โจทย์แรกที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้จัดสรรงบประมาณเพื้อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันโจทย์ที่ 2 คือโจทย์แห่งยุคสมัย ความท้าทายใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เข้ามา ทั้งสังคมสูงวัย ภาวะโลกรวน และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ที่ต้องทำอย่างไรให้จัดสรรงบประมาณที่พร้อมรับมือ
ส่วนการเตรียมการตรวจสอบงบประมาณนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ส.ส.และทีมนโยบายของพรรคก้าวไกลมีการศึกษางบประมาณอย่างเข้มข้น จึงต้องการเสริมความเข้มข้นจัดกิจกรรม "Hackathon งบ 66" เพื่อเชิญชวนประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ว่าต้องการเห็นการจัดสรรงบประมาณอย่างไร มาประกอบกับการศึกษาของ ส.ส.และทีมนโยบาย เพื่อประกอบเป็นเนื้อหาการอภิปรายในสภาฯ โดยมองว่าในปีนี้ต้องการทำสัญญา แต่อีกมุมต้องการตั้งคำถามถึงรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนที่ยังไม่ตรงจุด แต่อีกมุมก็ต้องการตั้งความหวังให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลการจัดสรรงบประมาณจะออกมาในรูปแบบใด ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตประชาชนได้อย่างไร
ขณะที่การตั้งคำถามการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า มี 3 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรกเป็นการตั้งคำถามถึงวงเงินงบ 3.185 ล้านล้านบาท นั้นเพียงพอหรือไม่ ในสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ซึ่งงบปประมาณดังกล่าวต่ำกว่าในปีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามถึงการจัดลำดับความสำคัญ จะเห็นได้จากเบี้ยผู้สูงอายุที่มีการปรับขึ้นเพียงชั่วคราว ไม่เห็นการตั้งงบขึ้นมาฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนที่ประสบปัญหาการเรียนรู้ถดถอย สวัสดิการเด็กแรกเกิดของพ่อแม่มือใหม่
“จึงอยากตั้งคำถามภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดการจัดลำดับทำได้ดีเพียงพอหรือไม่ /รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานที่ถูกต้องและเหมาะสมในการขับเคลื่อนภารกิจ เช่น การพัฒนาทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง จัดสรรงบประมาณให้ส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 งบท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ต่ำกว่าสัดส่วนรายได้ของประเทศขณะนี้อยู่ที่ ร้อยละ 29 จากการตั้งเป้าร้อยละ 35” นายพริษฐ์ กล่าว