ประชาชน 38.88 % เชื่อ "ชัชชาติ" แลนด์สไลด์ กระทบความนิยมของรัฐบาล
นิด้าโพล เผยผลสำรวจ ประชาชน ร้อยละ 77.76 ไม่แปลกใจ ชัชชาติ ชนะเลือกตั้ง ชี้ เก่ง มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ส่วนประชาชน 38.88 % เชื่อ ชัชชาติ แลนด์สไลด์ กระทบความนิยมของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 29 พ.ค.65 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ผลกระทบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อการเมืองระดับชาติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-27 พ.ค. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,322 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับผลกระทบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อการเมืองระดับชาติ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการที่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 77.76 ระบุว่า ไม่แปลกใจเลย เพราะ เป็นคนเก่ง มีคุณสมบัติเพียบพร้อม มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน และลงพื้นที่รับฟังเสียงจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ จึงได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงเทพฯ รองลงมา ร้อยละ 8.85 ระบุว่า ไม่ค่อยแปลกใจ เพราะ มีภาวะผู้นำ มีความเป็นกลางสามารถทำงานได้กับทุกฝ่าย ขณะที่บางส่วนระบุว่า คนกรุงเทพฯ ต้องการการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 7.34 ระบุว่า แปลกใจมาก เพราะ ผลงานในการพัฒนา กทม. ของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังไม่มี แต่กลับได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่คิดว่าคะแนนเสียงที่ได้รับจะถล่มทลายทิ้งห่างคู่แข่งมากขนาดนี้ และร้อยละ 6.05 ระบุว่า ค่อนข้างแปลกใจ เพราะ ลงสมัครในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่กลับชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
ท้ายที่สุดเมื่อถามประชาชนถึงผลกระทบต่อการเมืองในระดับชาติจากการที่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.88 ระบุว่า คาดว่าจะส่งผลในทางลบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 32.53 ระบุว่า จะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล ร้อยละ 15.96 ระบุว่า เป็นแค่การเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งเท่านั้น ร้อยละ 9.53 ระบุว่า อาจมีการยุบสภาเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ร้อยละ 8.40 ระบุว่า จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ร้อยละ 6.43 ระบุว่า สังคมไทยจะเผชิญกับความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 6.35 ระบุว่า สังคมไทยได้ก้าวข้ามความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองแล้ว ร้อยละ 4.99 ระบุว่า พรรค/กลุ่มการเมือง ฝ่ายค้านจะเกาะกระแส ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการต่อต้านรัฐบาล ร้อยละ 3.33 ระบุว่า รัฐบาลจะอยู่ยาวเพื่อหาทางสร้างคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น และร้อยละ 2.12 ระบุว่า บางพรรคอาจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเพื่อเอาตัวรอด