เปิดสาเหตุทำไมคนต่างจังหวัดถึงอยากเลือก "ผู้ว่าฯ" เป็นของตัวเอง
เลือกตั้งจบ แต่กระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังอยู่ สำรวจความเห็นประชากรนอกกรุงเทพฯ คิดเห็นอย่างไรกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นของตัวเอง?
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งประกาศรับรอง ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏการณ์ควันหลงหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังคงอยู่ โดยเฉพาะการมองไปถึงผู้คนนอกเขตกรุงเทพฯ ว่า พวกเขาคิดเห็นอย่างไร กับที่มาของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด?
ตัวอย่างจาก ผลสำรวจจากอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเผยผลสำรวจเรื่อง “คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” พบว่า คนอีสานเกือบครึ่งอยากเห็นการกระจายอำนาจบริหาร และงบประมาณให้จังหวัด และท้องถิ่นมากขึ้น
ทั้งยังเห็นว่าจังหวัดในอีสานพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นเดียวกับ กทม. ภายใน 1-5 ปี มีเพียงส่วนน้อยที่เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ลองสำรวจความคิดเห็นจากประชากรต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เพื่อสำรวจมุมมองว่า หลังจากได้เห็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้ว พวกเขามีความคิดอย่างไร กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของจังหวัดตัวเอง
นิรมล สุวรรณรงค์ จาก จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า เข้ามาเพื่อทำธุรกิจค้าขายประมาณ 10 ปี แล้ว พร้อมบอกว่าหลัง ควันหลงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้อยากเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง ทั้งนี้เพราะจะได้ผู้ว่าฯ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของประชากรในจังหวัดเห็นด้วย ขณะเดียวกันก็จะได้ฟังมุมมองการปราศรัยประกอบการพิจารณา ซึ่งย่อมดีกว่าการได้ผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้ง และย้ายไปเมื่อครบวาระ 4 ปี โดยไม่รู้จักที่มาที่ไปเลย
"คนต่างจังหวัดไม่มีสิทธิได้เลือกเลยเพราะมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลมาโดยตลอด เราไม่มีสิทธิว่าคนนี้ดีไหม คนนี้ทำงานดีไหม เพราะว่าส่วนใหญ่จะมาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจเพียงเท่านั้น” นิรมล กล่าว
นิรมล สะท้อนมุมมองกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ว่า เชื่อว่าประชากรส่วนใหญ่ ไม่เคยรู้เลยว่าผู้ว่าฯ ของจังหวัดตัวเองเป็นใคร เพราะผู้ว่าฯ ไม่ค่อยได้ลงพื้นที่ไม่ได้ออกมาพบปะประชาชนเหมือนใน กทม.
ดังนั้นแนวทางการเลือกผู้บริหารในต่างจังหวัดควรจะมีแนวทางเดียวกับกรุงเทพฯ เพราะคนต่างจังหวัดปัจจุบันนี้ก็พัฒนาแล้วมีความเจริญแล้ว นอกจากนี้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ นั้นหมายถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วย เพราะในต่างจังหวัด อำนาจรวมอยู่ที่ผู้ว่าฯ คนเดียว คนต่างจังหวัดไม่มีสิทธิจะเรียกร้องหรือเสนอแนะอะไรเพราะผู้ว่าฯ เป็นคนสั่งการเพียงคนเดียว
ขณะที่ สมพร จิตต์ประสงค์ จาก จ.สิงห์บุรี ที่ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างนานกว่า 10 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองก็อยากให้ที่จังหวัดมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีจะได้ เป็นระบบเดียวกันในทุกจังหวัดเพื่อความเท่าเทียมกัน
สมพร บอกว่า เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่รู้จักผู้ว่าฯ ของจังหวัดตนเอง ดังนั้นถ้าตนได้เลือกผู้ว่าฯ ก็จะได้รู้ด้วยว่าผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกมาเป็นใคร เพราะเมื่อเป็นผู้ว่าฯ จากส่วนกลางก็ไม่มีสิทธิรู้เลยว่าใครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
“ถ้ามีโอกาสได้กลับไปเลือกตั้งที่บ้านเกิดก็อยากจะได้พบเจอและพูดคุยกับผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกันเพื่อที่จะได้รู้จักกันว่าใครคือผู้ว่าฯ ของเรา”
สำหรับ มนูญ วรรณชิโนรส จาก จ.สมุทรปราการ ซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย ที่ตลาดนัดแห่งหนึ่งใน กทม. ระบุว่า เมื่อเห็นคน กทม. ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตนก็อยากเลือกผู้ว่าฯ สมุทรปราการ บ้าง เพราะว่าอยากมีส่วนร่วมในการเลือกผู้ว่าฯ มาบริหารจังหวัดของตน
มนูญ มองว่า การแต่งตั้งในบางครั้งการตัดสินใจก็ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน รวมถึงที่ผ่านมาก็ไม่รู้จักผู้ว่าฯ และไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ ลงพื้นที่พบปะประชาชนอยู่มาหลายสิบปีแล้วไม่เคยเจอเลย รู้จักแต่ผู้ว่าฯ กทม.
นอกจากนี้ มนูญยังฝากไปถึงคนต่างจังหวัดที่มีความต้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และหากโอกาสนั้นมาถึงว่า “อยากให้มีจิตสำนึกและใช้สิทธิของตัวเองในการเลือกผู้ว่าฯ เพราะว่าเป็นการเลือกคนที่จะมาบริหารจังหวัดที่เราอาศัยอยู่ ตอนนี้ก็อยากเลือกและคิดว่าในอนาคตน่าจะมีโอกาสได้เลือก”
ปิดท้ายความเห็นด้วย กมลวรรณ ขันอิ่น จาก จ.น่าน ที่เพิ่งเข้ามาเริ่มทำงานใน กทม. ได้เพียงไม่กี่เดือนซึ่งกล่าวว่า อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ เหมือนกับคน กทม. เพราะตนก็ต้องการให้ จ.น่าน มีการพัฒนาและมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าถึง
ที่สำคัญการเลือกตั้งคือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเฉพาะในชนบทอย่างเช่นหมู่บ้านของตน ซึ่งถ้าได้ผู้นำที่ประชาชนเลือก ก็จะยึดโยงกับประชาชน ตอบรับปัญหาของประชาชนมากขึ้น
ทั้งนี้ในปัจจุบันนี้แม้แต่ทางเข้าบ้านก็ยังไม่สะดวกสบาย ถ้าหากในอนาคตได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯ จ.น่าน ตนก็มองว่าอาจจะได้มีความใกล้ชิดผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น และผู้ว่าฯ เอง ก็จะได้รู้ความเดือดร้อนของชาวบ้านเพราะในปัจจุบันนี้ตนก็ไม่รู้จักผู้ว่าฯ ในจังหวัดตนเองเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากกลุ่มตัวอย่าง ที่ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สอบถามถึงความต้องการในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของตนเอง
ท่ามกลางการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในทุกจังหวัด คงต้องรอดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือใดบ้างเพื่อให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดขึ้นได้จริง
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์