"ชัชชาติสไตล์" ประกาศิต ถึงข้าราชการ กทม. "ผมไม่ทนกับการทุจริต"
"ชัชชาติสไตล์" ประกาศิตถึงข้าราชการ กทม. เข้าทำงานวันแรก ประกาศ "ผมไม่ทนกับการทุจริต" พร้อมเดินหน้านโยบาย 214 ข้อทันที
"การพบนายกฯคงไม่ใช่ตอนนี้ ขอโฟกัสเรื่องของเราก่อน"
ประโยคให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) อย่างเต็มตัว สำหรับ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯกทม. คนที่ 17 ภายหลัง กกต.ประกาศรับรองตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แน่นอนว่าการเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯเมืองหลวงครั้งนี้ อยู่บนความคาดหวังและแรงกดดันคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อ "ชัชชาติ" โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงทั้ง 214 ข้อ
หลักการสำคัญที่ "ชัชชาติ" บอกกับข้าราชการ กทม.ในวันแรก ขีดเส้นไปที่การทำงานโปร่งใส ไม่ทุจริต และทำงานให้เหมือน "เพื่อนร่วมงาน" ไม่ใช่ "เจ้านาย-ลูกน้อง" ซึ่งจะมีกระดูกสันหลังในการทำงาน ตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ "ชัชชาติ" ยืนยันว่าจะเป็นธรรมเพื่อให้ "คนทำงาน" ได้รับการเลื่อนขั้นโดยวันที่ 6 มิ.ย. เตรียมเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) มาที่ กทม.เพื่อวางแนวทางทำงานโปร่งใสให้ทั้งระบบ
การทำงานของ "ชัชชาติ" จะเน้นไปที่เรื่องงบประมาณของ กทม.ซึ่งเรื่องนี้ "ชัชชาติ" ประกาศต่อหน้าข้าราชการระดับสูงไปว่าจะไม่ทนกับการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งขณะนี้ทราบมาว่ามีการแอบอ้างชื่อ "ชัชชาติ" ไปแล้ว จึงขอให้ข้าราชการช่วยตรวจสอบ หาพบที่ใดให้รีบแจ้งกลับมาทันที เพราะมาด้วยเสียงของประชาชนที่เลือกเข้ามาทำงานที่ กทม.ด้วยความโปร่งใส
"ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่นาย อย่าเรียกว่านาย อยากจะให้ทุกคนเดินไปด้วยกัน มีอะไรคุยกันได้ หลักการคือมีอะไรพูดกันถ้าทำอะไรไม่เหมาะสามารถเข้ามาคุยกันได้ ซึ่งนโยบาย 214 ข้อ จะมีการขอทราบวิสัยทัศน์ว่าต้องปรับปรุงนโยบายอย่างไรหรืออยากจะเพิ่มเป็น 300 ข้อก็ได้ ทุกคนพร้อมที่จะมาลุยด้วยกัน"ชัชชาติ ระบุ
ห้ามติดชื่อ-ภาพบนป้าย กทม.
"ชัชชาติ" ได้แจ้งรูปแบบการทำงานของตัวเองในฐานะคนตื่นเช้า ไม่จำเป็นที่ข้าราชการ กทม.ต้องตื่นเช้าเหมือนกัน โดยเฉพาะการลงพื้นที่ไม่ต้องไปต้อนรับเป็นจำนวนมาก เพราะไม่อยากให้กระทบกับประชาชน แต่หากเดินทางมาจะถามกลับว่ามาทำไม ก็ต้องตอบให้ได้ว่า "มาทำไม"
ขณะที่เรื่องการประชาสัมพันธ์ กทม.เป็นสิ่งที่ "ชัชชาติ" กำชับไปถึงข้าราชการทุกหน่วยงานว่า ห้ามมีชื่อและรูปภาพ ไม่ได้ต้องการประชาสัมพันธ์การทำหน้าที่ เพราะอยากมาทำงานรับใช้ประชาชนที่เลือกเข้ามา โดยโรดแมพการทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ จะทำงานร่วมกับข้าราชการในศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า ยกเว้นเสาร์และอาทิตย์จะลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างที่มีความล่าช้าในกรุงเทพฯ
ส่วนประเด็นเรื่องงบประมาณ กทม.ในปี 2565 จากการเปิดเผยของ "สามารถ ราชพลสิทธิ์" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และเคยเป็นอดีตรองผู้ว่าฯกทม. สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม.ถึงงบประมาณ กทม.มีเงินเหลือให้ใช้ 94 ล้านบาทนั้น เป็นประเด็นที่ "ชัชชาติ" ไม่เป็นห่วงต่องบประมาณที่เหลืออยู่ เพราะยังสามารถขับเคลื่อนได้
"ยังมีเงินสะสม กทม.อีกเป็นหมื่นล้านที่สามารถให้ประธานสภา กทม.อนุมัติใช้จ่ายเร่งด่วนฉุกเฉินได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ การประชุมสภา กทม.จะทำเรื่องไปที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อเร่งให้เปิดประชุมได้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเราไม่มีสภา กทม.จากการเลือกตั้งมาแล้ว 13 ปี คงไม่มีเวลาไหนจะเร่งด่วนเท่าเวลานี้ เพื่อนำตัวแทนประชาชนจริงๆ เข้ามาดูปัญหาให้คนกรุงเทพฯ"ชัชชาติ ระบุ
ขณะที่โครงการ กทม.ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น "ชัชชาติ" ยืนยันว่า ไม่ได้เน้นใช้งบประมาณ แต่จะเน้นให้เกิดประสิทธิภาพ แต่จากกรณีรัฐบาลประกาศ ลดภาษีและสิ่งปลูกสร้าง 10% ทำให้งบประมาณถูกตัดไปหมื่นกว่าล้าน จึงเห็นว่ามีหลายโครงการถูกตัดไป ดังนั้นจึงต้องไปดูว่าเงินเหลือเท่าใด แต่การใช้เทคโนโลยีในหลายเรื่องขับเคลื่อนได้โดยไม่ต้องใช้เงิน และนโยบาย 214 ข้อ ไม่ได้ใช้เงินจำนวนมาก เพราะรู้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ
เปิดยุทธศาสตร์ทำงบ กทม.ปี 66
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สอบถามถึงยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณปี 2566 ของกทม. "ชัชชาติ" ยืนยันว่า ต้องประเมินความคุ้มทุนของเมกะโปรเจค กทม. อาจต้องกลับไปประเมินและทบทวนเพื่อเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ตั้งแต่การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจำนวน 6 อุโมงค์มูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย 7-8 แห่ง ต้องมาลำดับความสำคัญใหม่ การปรับปรุงสวนลุมพินีอีก 2 พันล้านบาทมีความจำเป็นขณะนี้หรือไม่ หรือปรับมาทำสวนสาธารณะย่อย 50 แห่งแทนก็ต้องมาพิจารณา แต่เชื่อว่าการทำนโยบายจากนี้จะเน้นไปที่ "เส้นเลือดฝอย" โดยจะพัฒนางบประมาณกระจายไปทั้ง 50 เขตเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนมากกว่า
ส่วนเรื่องสัญญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ "ชัชชาติ" ระบุว่าจะเตรียมเชิญบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด (เคที) เข้ามาให้ข้อมูลในรายละเอียดเรื่องของสัญญาโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมดเพื่อทำทุกอย่างให้โปร่งใส ก่อนจะไปพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในวันข้างหน้า
การเข้ามาที่ศาลาว่าการ กทม.วันนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ "ชัชชาติ" เปิดตัวรองผู้ว่าฯกทม. อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย 1.รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล 2.นายจักกพันธุ์ ผิวงาม 3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวช และ 4.นายศานนท์ หวังสร้างบุญ
คณะที่ปรึกษาผู้ว่า ประกอบด้วย 1.นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษา 2.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ 3.พล.อ.นิพัทธ์ทองเล็ก 4.พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ 5.พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี 6.ดร.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ 7.นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี 8.นายภาณุมาศ สุขอัมพร และ 9.นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์
เลขานุการผู้ว่าฯกทม. ประกอบด้วย 1.นายภิมุข สิมะโรจน์ และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ประกอบด้วย 1.นายเอกวรัญญูอัมระปาล 2.นางสาวศนิ จิวจินดา 3.นายจิรัฏฐ์ ม้าไว และ 4.นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์
เปิดโปรไฟล์รองผู้ว่าฯ กทม.
สำหรับโปรไฟล์ 4 รองผู้ว่าฯกทม. คนใหม่นั้น "ชัชชาติ" เน้นไปที่ความหลากหลายและจุดแข็งเรื่องความโปร่งใส สุจริต มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เริ่มที่ "วิศณุ ทรัพย์สมพล" ดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจราจร อดีตรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอาจารย์ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้ช่วยอธิการบดีด้านพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะเดียวกัน "วิศนุ" เคยดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจามจุรี จำกัด กรรมการอิสระ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการอิสระ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
"จักกพันธุ์ ผิวงาม" ดูแลด้านการเงิน การคลัง อดีตรองปลัด กทม. และอดีตรองผู้ว่าฯกทม.ในสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดย "จักกพันธ์ุ" ถือเป็นลูกหม้อ กทม.สายตรง มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมากมาย เติบโตมาตั้งแต่รับราชการเป็นนักสถิติ 3-5 งานวิจัยทางผังเมือง กองผังเมือง สำนักปลัด กทม. เคยเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5 งานเรื่องราวและนโยบายเฉพาะกิจ และเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6 เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป และเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 7 หัวหน้าฝ่ายการเมืองและประสานนโยบาย สำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯกทม.
นอกจากนี้ "จักกพันธุ์" เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. จากนั้นขยับเป็นผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ เขตจอมทอง จตุจักร และทวีวัฒนา ก่อนมารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กทม. ก่อนเกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่งรองปลัด กทม. โดย "จักกพันธุ์" ถือว่าเข้าใจระบบการบริการราชการ และข้าราชการใน กทม.ให้ความเคารพเป็นจำนวนมาก
"ทวิดา กมลเวชช" ดูแลด้านภัยพิบัติและสาธารณสุข อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายสาธารณะ จบการศึกษาปริญญาตรีและโท จากคณะรัฐศาสตร์ เอกบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท Graduate Certificate in Public Management (GCPM) School of Social Sciences, University of South Florida, USA และ ปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Public Administration and Public Policy School of Public and International Affairs, University of Pittsburgh, USA
"ทวิดา" เข้าเป็นอาจารย์ประจำสาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2541 เคยที่ปรึกษาด้านการจัดการความเสี่ยง และการจัดการภัยพิบัติ ตั้งแต่ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประเทศไทย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดย "ทวิดา" เป็นหนึ่งนักวิจัยมีผลงานมากมายในนโยบายเชิงสาธารณะ โดยความเชี่ยวชาญดังกล่าวทำให้ "ทวิดา" จะมากำกับดูแลสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.
"ศานนท์ หวังสร้างบุญ" ดูแลด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม เป็นผู้ที่มีบทบาทในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างโดยเฉพาะการต่อสู้ของคนในชุมชนชาวรากหญ้าและคนจนเมือง อาทิ ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ถูกไล่เพื่อสร้างสวนสาธารณะเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง SATARANA (สาธารณะ) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเมือง และเป็นหนึ่งในทีมกลุ่มเมล์เดย์ (Mayday) ผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่ จบการศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นอดีตนายกสโมสรนิสิต พ.ศ.2553 โดยมีอายุน้อยที่สุดในตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. เพียง 33 ปี
ขณะที่ "ภิมุข สิมะโรจน" ดำรงตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าฯกทม.นั้น เป็นบุตรชายคนโตของ "มงคล สิมะโรจน์" อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ จบมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง และระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจ Michigan State University สหรัฐอเมริกา และรัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้านการทำงาน เริ่มต้นเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมประเทศไทย ก่อนจะเข้ามาเล่นการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตบางพลัด พรรคไทยรักไทย 2 สมัย เคยเป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ โฆษกคณะกรรมาธิการพลังงาน เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยเป็นผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมป์ เคยรับตำแหน่งอดีตรองหัวหน้าพรรคกล้า
ทั้งหมดเป็น "ประกาศิต" จาก "ผู้ว่าฯชัชชาติ" ถึงข้าราชการ กทม.ต่อการทำงานตลอด 4 ปีเต็ม เพื่อเดินหน้าสร้างผลลัพธ์จากนโยบาย 214 ข้อ ตามสัญญาประชาคมที่หาเสียงไว้กับคนกรุงเทพฯ