งบฯ ผ่า “GT 200” ล่อเป้า “บิ๊กบี้” สั่งเบรคกรมสรรพวุธ
"กองทัพบก" กำลังเร่งรัดดำเนินการขอให้ศาลบังคับคดีบริษัทคู่กรณีชดใช้ค่าเสียหาย จีที 200 หลังชนะคดี แต่การตั้งงบผ่าพิสูจย์ "GT 200" จำนวนกว่า 7 ล้านบาทก่อให้เกิดปัญหาอีกระลอก
กว่า 10 ปีที่ “กองทัพ” ถูกข้อครหาว่าเป็นหน่วยงานที่ “ผลาญงบ” หลังเกิดปัญหาเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด หรือที่รู้จักกัน GT 200 เป็นเครื่องมือลวงโลก หรือ “ไม้ล้างป่าช้า” ใช้งานไม่ได้จริงอย่างที่อวดอ้างสรรพคุณ
โดยเรื่องดังกล่าวมาแดงในสมัย “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ช่วงปลายปี 2552 เมื่อ “จีที 200” ทำงานผิดพลาด เกิดเหตุระเบิดข้างโรงแรมเมอร์ลิน จ.นราธิวาส เมื่อ 6 ต.ค. 2552 และตลาดสด จ.ยะลา เมื่อ 19 ต.ค.2552
ผนวกกับภาคประชาชน นักวิชาการ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเครือข่ายในโลกออนไลน์ ที่เกาะติดเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงการจัดซื้อที่ไม่โปร่งใสของ “กองทัพ” จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการพิสูจน์การทำงาน “จีที 200” ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
ทว่า ช่วงปี 2556 สื่อต่างประเทศตีข่าวครึกโครม หลังนักธุรกิจชาวอังกฤษ ถูกศาลอังกฤษพิพากษาให้จำคุก 10 ปี ในคดีจำหน่าย และผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เอดีอี-651 จำนวน 7,000 เครื่อง ส่วนนายแกรี่ โบลตัน ผู้ก่อตั้งบริษัท โกลบอล เทคนิคัล ที่จำหน่ายจีที 200 ก็ถูกศาลอังกฤษสั่งจำคุก 7 ปี ในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน ในข้อหาฉ้อโกง ให้แก่ลูกค้าทั่วโลก
จนเป็นเหตุให้ “เหล่าทัพ” ระงับการใช้เครื่อง “จีที 200” ตามคำสั่งของรัฐบาล และในสมัย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เชิญหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมที่จัดซื้อจีที 200 ประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าในการฟ้องร้องดำเนินคดีตามคำแนะนำของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ในระหว่างที่ “เหล่าทัพ”ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จีที 200ก็ยังเป็นประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านหยิบยกมาโจมตี “กองทัพ” ทุกครั้งที่มีการของบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ พุ่งเป้าไปที่ของ “กองทัพบก” ถึงความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ การใช้งานได้จริงและความโปร่งใส
เช่นเดียวกับการอภิปรายร่างงบประมาณ 2566 กองทัพบกตกเป็นเป้าของฝ่ายค้านว่าผลาญงบอีกระลอก หลังพบข้อมูลมีการตั้งงบสัญญาจ้าง 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท โดยไม่เขียนระบุไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี
ต่อมา พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ออกมาชี้แจงว่า เป็นการทำตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลัง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย กับพวก รวม 5 คน ต่อศาล ฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
“คดีนี้ในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท แต่เมื่อต่อมา ทางบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การตรวจเครื่องจีที 200 ทั้ง 757 เครื่องเป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่”
สอดคล้องกับ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (รองโฆษก อสส.) กล่าวยอมรับในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ว่า อัยการสูงสุด (อสส.) ทำหนังสือส่งถึงกองทัพบก แนะนำให้ตรวจสอบจีที 200 ทุกเครื่องเมื่อปี 2560 เพราะเป็นสาระสำคัญที่จะบอกว่าคดีนี้แพ้หรือชนะ เพื่อให้เป็นข้อเท็จจริงที่จะเป็นข้อยุติเพื่อให้ศาลใช้ประกอบการตัดสิน
“คดีดังกล่าวเป็นที่สุด กระบวนการตั้งแต่ 7 มี.ค.2565 กองทัพบก ชนะคดี ส่วน รายละเอียดว่าเครื่องจะตรวจหรือไม่อย่างไร จึงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเลยตรงนั้นมาแล้ว”
“กองทัพบก”โดนทัวร์ลงเข้าอย่างจัง แม้แต่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้สอบถามถึงที่มาที่ไป และสั่งการให้เตรียมข้อมูล หากถูกนำไปเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้
ในขณะที่ กองทัพบก ได้แจ้งเรื่องไปยัง พล.ท.นพดล ศรีจันทร์สุข เจ้ากรมสรรพวุธทหารบก เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 22 (ตท.22) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ให้ทำหนังสือถึงสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ให้ชะลอการตรวจพิสูจน์เครื่องจีที 200 ทันที ส่วนที่ทำไปแล้วก็แล้วไป ส่วนที่ยังไม่ดำเนินการให้หยุดไว้ก่อน
ขณะเดียวกันให้ ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอคำตอบที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่า กองทัพบกยังต้องดำเนินการตรวจพิสูจน์เครื่องจีที 200 อีกหรือไม่ เพราะยังมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ยังไม่ถอนอุทธรณ์
แหล่งข่าว ระบุว่า หลังมีคำแนะนำจากอัยการสูงสุดให้ผ่าพิสูจน์เครื่องจีที 200 เมื่อปี 2560 เราก็ดึงเรื่องมาตลอด เพราะไม่อยากเสียงบประมาณเพิ่ม ทำให้กลายเป็นประเด็นถูกโจมตีอีก แต่เมื่อปี 2564 ศาลตัดสินให้ กองทัพบกชนะคดี แต่จำเลยมีการอุทธรณ์ เมื่อคดีจวนตัว หากแพ้คดีขึ้นมา กองทัพบกจะถูกกล่าวหาอีกว่า ไม่ทำตามคำแนะนำอัยการสูงสุด จึงเป็นที่มาของการตั้งงบฯ
“ผบ.ทบ.รับทราบข้อมูลแล้ว ส่วนกรมสรรพวุธอยู่ระหว่างการดำเนินการทำหนังสือถึง 2 หน่วยงาน สำหรับกรณีการตั้งงบฯ ผ่าพิสูจน์จีที 200 ที่ไม่ได้ระบุในงบประมาณประจำปี เป็นเรื่องที่กรมสรรพวุธดำเนินการทั้งหมด และเชื่อว่ามีข้อมูลหลักฐานที่สามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น” แหล่งข่าว ระบุ
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพวุธทหารบก ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของ กองทัพบก ที่ถูกฝ่ายค้านจับจ้อง โดยก่อนหน้านี้ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสการจัดซื้อ “รถหัวลาก” สำหรับบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นเงิน 300 ล้านบาท
จากนี้ไปคงต้องจับตา กองทัพบกจะสามารถเคลียร์ปม งบผ่าพิสูจน์จีที 200 กว่า 7 ล้านบาทได้สิ้นข้อสงสัยหรือไม่ หากไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นหน่วยงานได้ชื่อว่าผลาญงบต่อไป