"ธปท." แจง กมธ.งบฯ ประเมิน2จุดเสี่ยง ทำภาวะเงินเฟ้อฟุ่งถึงปี66

"ธปท." แจง กมธ.งบฯ  ประเมิน2จุดเสี่ยง ทำภาวะเงินเฟ้อฟุ่งถึงปี66

ธนาคารแห่งประเทศไทย แจง กมธ.งบฯ ประเมินสถานการณ์ไทย มี2จุดเสี่ยง ต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ และขาดแคลนอาหาร-พลังงานภาคการผลิต ทำภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ต่อเนื่องถึงปี 2566

         นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 แถลงผลการประชุมนัดแรก  เมื่อ วันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งเชิญพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ งบประมาณรายจ่าย และการตรวจสอบงบการเงินของหน่วยรับงบประมาณในภาพรวม 5 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และปี 2566 ซึ่งกลไกหลักที่เป็นปัจจัยของการฟื้นตัวคืออุปสงค์ภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว

 

         นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่าสำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19  ธปท.ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

         "ธปท. ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ GDP จะสามารถกลับฟื้นตัวอยู่ในระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ขณะที่อัตราผู้ว่างงานจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงต่อจากนี้ และเรื่องของการท่องเที่ยวได้มีการคาดการณ์ว่าทั้งปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนประมาณ 5.6 ล้านคน" นายเผ่าภูมิ กล่าว

 

           โฆษกกมธ.งบฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ยังระบุว่า ในอนาคตมี 2 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจที่ไทยจะต้องเจอ คือ เรื่องของต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพในประเทศที่สูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนอาหาร วัตถุดิบและพลังงานในภาคการผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ และยังได้มีการคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อต่อจากนี้อาจจะสูงขึ้น และทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป และจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 2566 

         โฆษกกมธ.งบฯ แถลงด้วยว่า คณะกรรมาธิการได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือปัญหาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จัดการกับเงินเฟ้อ ที่มีการใช้มาตรการที่รุนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลต่อการส่งออกของประเทศไทยที่จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศในระยะต่อไป.