“ช่องโหว่” กฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ เข้าทางนักการเมือง “สีเทา”
จึงไม่แปลก หากกระแสสังคมจะมองว่านักการเมืองยุคนี้ “ไร้สปิริต” เพราะกฎหมายเขียน “ช่องโหว่” ไว้รูใหญ่ขนาดนี้ ใครจะยอมลาออกให้เสียประโยชน์
“กนกวรรณ วิลาวัลย์” รมช.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย นับเป็น “รัฐมนตรี” รายที่ 2 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด
รายแรกคือ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ถูกชี้มูลความผิดเมื่อครั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา กรณีละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ มิได้อนุมัติงบประมาณเบิกจ่ายเงินให้กับบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,850,000 บาท ปัจจุบันคดีนี้อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง และคืนสำนวนแก่ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นควรฟ้องคดีนี้เองต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 แล้ว
ส่วน “กนกวรรณ วิลาวัลย์” ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดพร้อมกับ “บิดา” คือ “สุนทร วิลาวัลย์” นักการเมืองดัง อดีต ส.ส.ปราจีนบุรี 8 สมัย ปัจจุบันเป็นนายก อบจ.ปราจีนบุรี ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกโฉนดที่ดิน บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในเขตพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยมิชอบ โดย ป.ป.ช.งัดพยานหลักฐานสำคัญคือ ภาพถ่ายทางอากาศเห็นชัดว่าโฉนดที่ดินที่นางกนกวรรณ และนายสุนทรออกนั้น อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตป่าไม้ถาวร
โดย ป.ป.ช.ส่งสำนวนคดีอาญาไปยัง อสส. โดย อสส.มีความเห็นควรสั่งฟ้องและเรียกตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมา เพื่อส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 แต่ ณ วันที่ 11 มิ.ย. มีรายงานว่า นายสุนทร ยังไม่ไปพบอัยการ จนศาลอนุมัติหมายจับ ทั้งนี้หากภายใน 13 มิ.ย. 2565 ยังจับตัวไปส่งฟ้องต่อศาลไม่ได้ คดีนี้จะหมดอายุความ เนื่องจากเหตุเกิดปี 2545 และคดีมีอายุความ 20 ปี
นอกจากนี้ “กนกวรรณ” ยังถูกชี้มูลความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรงอีกกระทง ป.ป.ช.เตรียมไปยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พ้นจากตำแหน่งเช่นกัน
สำหรับคดีผิดจริยธรรมเนื่องจาก “รุกป่า” นางกนกวรรณถือเป็นรายที่ 2 ต่อจาก “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีฟาร์มเลี้ยงไก่บุกรุกป่า ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรงจริง และให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ไปแล้วก่อนหน้านี้
สิ่งที่ต้องจับตาดูหลังจากนี้คือ “กนกวรรณ” จะโชว์ “สปิริต” ลาออกจากเก้าอี้หรือไม่ หรือว่าจะนั่งอยู่ที่เดิมโดยโนสนโนแคร์ รอแค่คำพิพากษาของศาลอย่างเดียว
ประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับเรื่องนี้คือ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา แตกต่างจาก พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 (ฉบับเก่า) ในเรื่อง “บทลงโทษ” กรณี “นักการเมือง” ถูกชี้มูลความผิดอย่างมีนัยสำคัญ
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับเก่า มีกลไกการรับลูกจากประธานวุฒิสภา ในการยื่น “ถอดถอน” นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ เป็นไปตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับเก่า โดยในมาตรา 55 ระบุว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูล ให้ส่งเรื่องคืนกลับไปยังประธานวุฒิสภา (คดีถอดถอน) หรือส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส. คดีร่ำรวยผิดปกติ) และผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ จนกว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะมีมติอย่างหนึ่งอย่างใด หรือศาลจะมีคำพิพากษาออกมา
ยกตัวอย่าง นักการเมืองระดับ “บิ๊กเนม” ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช.ฉบับเก่า คือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ป.ป.ช.ชี้มูลเมื่อ 9 พ.ค. 2557 โดยส่งสำนวนถอดถอนไปยังที่ประชุมวุฒิสภา (ก่อนจะมีรัฐประหาร และถูกถอดถอนในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และส่งสำนวนคดีอาญาไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญา เป็นต้น
ขณะที่ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ตัดเรื่องนี้ออกไป ทำให้ ส.ส.-ส.ว. หมดอำนาจเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองแล้ว แต่ไปเพิ่มประเด็นการไต่สวน “ฝ่าฝืนจริยธรรม” เข้ามาแทน ให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ในการไต่สวน
ดังนั้นจึงมีการพิจารณาแบ่งเป็น 3 กรณีคือ 1.กรณีผิดอาญา ให้ส่งสำนวนแก่ อสส.เพื่อพิจารณาฟ้องศาล 2.กรณีผิดวินัย ส่งผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการถอดถอน 3.ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯส่งฟ้องต่อศาลฎีกาพิจารณา
พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ให้อำนาจแก่ศาลอย่างเต็มที่ คือ เมื่อชี้มูลผิด “นักการเมือง” และส่งฟ้องต่อศาลแล้ว เป็นดุลพินิจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อประทับรับฟ้องหากไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่นให้ถือว่าหยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับกรณีผิดจริยธรรม เป็นดุลพินิจของศาลฎีกาว่า เมื่อประทับรับฟ้องแล้วหากไม่มีคำสั่งอื่น ให้ถือว่าหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
ยกตัวอย่าง กรณีผิดจริยธรรม เช่น “ปารีณา ไกรคุปต์” ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรมคดีฟาร์มเลี้ยงไก่บุกรุกป่า แต่ยังไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ในทันที กระทั่งศาลฎีกาประทับรับฟ้องและไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงหยุดปฏิบัติหน้าที่
หรือกรณีคดีอาญา เช่น “วิรัช รัตนเศรษฐ” กับพวก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลผิด คดีจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอล ยังไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที กระทั่งเรื่องถึงศาลฎีกาฯประทับรับฟ้อง และไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น “วิรัช” กับพวกจึงหยุดปฏิบัติหน้าที่
นี่คือข้อแตกต่างระหว่างกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับเก่า เมื่อเทียบกับฉบับใหม่ แม้ว่าจะถูกสารพัดอรหันต์อวยว่าเป็น “ฉบับสมบูรณ์” เคียงคู่กับรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง” ปี 2560 ก็ตาม โดยก็เพิ่มอำนาจ ป.ป.ช.ขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็มี “ช่องโหว่” ให้บรรดา “นักการเมือง” ลอยหน้าลอยตานั่งเก้าอี้ตัวเดิมไปได้อยู่ดี
เนื่องจากเรื่องการ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จากเดิม ป.ป.ช.มีอำนาจวินิจฉัย แต่ตอนนี้เป็นดุลพินิจของศาล ทำให้บางคนที่โดนคดีอาญาอย่างเดียว เช่น “นิพนธ์” หรือ “วิรัช” ยังเหลือเวลานั่งในตำแหน่งเดิม เพราะขั้นตอนกว่าจะส่งฟ้องศาลคือ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้ อสส.พิจารณาใน 90 วัน หากเห็นว่าหลักฐานไม่สมบูรณ์ตั้งคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการและ ป.ป.ช.พิจารณาได้อีก 90 วัน รวม 180 วันหรือราว 6 เดือน และหากหาข้อยุติไม่ได้ ป.ป.ช. มีเวลาฟ้องเองอีก 90 วัน หรืออีก 3 เดือน
จึงไม่แปลก หากกระแสสังคมจะมองว่านักการเมืองยุคนี้ “ไร้สปิริต” เพราะกฎหมายเขียน “ช่องโหว่” ไว้รูใหญ่ขนาดนี้ ใครจะยอมลาออกให้เสียประโยชน์