ตัดอำนาจ “ยุบสภา” ชั่วคราว เปิดช่อง“พรรคร่วม”ต่อรอง “3 ป.”
ฝ่ายค้าน ยื่นญัตติ ซักฟอก รัฐบาล แล้ว ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ห้าม! "ยุบสภา" ถือเป็นการปิดอำนาจ "บิ๊กตู่" โดยอัตโนมัติ แม้ประตูยุบสภาถูกปิด แต่อีกนัย คือ ปิดช่องให้ พรรคร่วมรัฐบาล ต่อรอง แลกกับการครองอำนาจ ได้
ปิดประตูอำนาจ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ประกาศ “ยุบสภา” หลัง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ วรรคสอง กำหนดไว้ชัดเจนว่า “เมื่อเสนอญัตติแล้ว จะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะถอนญัตติ หรือ ลงมติแล้ว”
ดังนั้น ต่อจากวันนี้ไป จนกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเสร็จสิ้น รวมถึงได้ลงมติ การแก้ปัญหาในสภาฯ ของ “ประยุทธ์” ที่พบว่ามีความขัดแย้งในทางการเมือง ทั้งการเสนอกฎหมายระหว่าง “รัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” รวมถึงปัญหาการควบคุมเสียงใน “ฝั่งรัฐบาล” จะใช้วิธีแก้แบบตัดตอนอายุสภาฯ ไม่ได้
แม้ว่าก่อนหน้านั้น “ประยุทธ์” รวมถึงกลุ่ม “2 ป.” คือ บิ๊กป้อม -พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ บิ๊กป๊อก - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะไม่คิดใช้วิธีนี้ เพื่อหนีวิกฤติสภาฯ
แต่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ความปริ่มน้ำของจำนวนเสียงข้างมากในสภาฯ นั้น สร้างความวิตกกังวลกับ “กลุ่ม 3 ป.”
โดยเฉพาะการมีเอกสิทธิ์ ส.ส. ที่พบว่าส.ส.ซีกรัฐบาลโหวตสวนมติวิปรัฐบาล ล่าสุด คือ ร่างพ.ร.บ.
สมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และการประกาศใช้เอกสิทธิ์โหวต “ของกลุ่มส.ส.พรรคเล็ก-พรรคปัดเศษ” ในทิศทางเดียวกันกับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และปัจจุบันมี ส.ส.ในก๊วนนี้ ประมาณ 32 เสียง
จน “ประยุทธ์” ต้องเรียกคุยหัวหน้า และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหาทางรวมเสียงให้เป็นปึกแผ่น โดยเฉพาะการดึงเสียง “พรรคเล็ก”
ประเด็นที่ยกมาหารือ และ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข อยู่ร่วมวงในฐานะ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... รัฐสภา คือ เนื้อหาของร่างกฎหมายลูกตามข้อเสนอของ “พรรคเล็ก”
แม้ในการหารือ จะไม่มีข้อสรุปว่าจะทำตามข้อเรียกร้อง "คืนสูตรคำนวณ ส.ส.พึงมี” ด้วยการใช้จำนวน 500 คนหาร หาค่าเฉลี่ยแทน 100 คน ตามเนื้อหาที่รอรัฐสภาพิจารณา วาระสอง และวาระสาม ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมหรือไม่
แต่ในฝั่ง "พรรคประชาธิปัตย์” มีความเคลื่อนไหว ที่สอดคล้องกับ “พรรคเล็ก” ให้ “ส.ส.พึงมี” คงอยู่กับระบบการเลือกตั้ง โดยขับเคลื่อนผ่าน เฉลิมชัย ศรีอ่อน - เดชอิศม์ ขาวทอง สนับสนุน “สูตรหาร 500” เพราะมองถึงเกมเลือกตั้งที่จะมาถึง จะทำให้ “ประชาธิปัตย์” พอสู้กับ “พลังดูด-พลังกล้วยเหมาสวน” ได้บ้าง
ทว่า ในความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มเฉลิมชัย-เดชอิศม์” ประชาธิปัตย์ อีกสายไม่เห็นด้วย และต้องการใช้ “100 หาร” เพราะเป็นไปตามหลักการที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และแก้จำนวน ส.ส.แบ่งเขต จาก 350 เขต เป็น 400 เขต ดังนั้นต้องยึดแนวทางนี้
โดย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวในพรรค ตามระบอบประชาธิปไตย มีบ้างที่อาจเห็นต่างกัน แต่ท้ายสุดต้องฟังมติของวิปรัฐบาล และมติพรรค
เมื่อดูปรากฎการณ์ความ “วิตก” ของ "3 ป.” ในเสียงสนับสนุนจากสภาฯ ผ่านเกมซักฟอก ที่ใกล้จะมาถึง เมื่อ “ยุบสภา” ไม่ได้ในห้วงเวลานี้ ดังนั้นสิ่งที่พอเป็นทางออกของวิกฤติ คือ การยอมให้พรรคร่วมรัฐบาลต่อรอง ได้ “ส่วนแบ่ง” ทางการเมืองบ้าง
เพื่อแลกกับการครองอำนาจของ “รัฐบาล” ในสมัยนี้ และการอยู่ยาวอีกสมัย หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า.