“ปิยบุตร” แฉ ตร.เล่นใหญ่ส่ง “นอกเครื่องแบบ” ติดตาม พ้อเหมือนเป็นอาชญากร
“ปิยบุตร” เซ็ง ตร.เล่นใหญ่ ส่ง จนท.นอกเครื่องแบบ 30 นาย ติดตาม-เก็บข้อมูล แฉมีกดดันผู้นำชุมชนด้วย พ้อโดนกระทำราวเป็นอาชญากร หลังลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก รณรงค์ “ปลดล็อกท้องถิ่น”
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่วัดม่วงหอม ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมกิจกรรม "สะท้อนปัญหาที่ดินทำกิน และการปลดล็อกความยากจน" โดยมีนายโชคดี สายนำพามีลาภ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 3 จ.พิษณุโลก ร่วมด้วย
นายปิยบุตร กล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องปัญหาที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชน เป็นปัญหาใหญ่ที่คล้าย ๆ กันเกือบทั้งประเทศ และการแก้ปัญหาก็เป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่เคยตรงจุดตามความต้องการประชาชน แค่เรื่องที่ดินเรื่องเดียว มีหน่วยงานเกี่ยวข้อง 7-8 กรม มีสังกัดทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ประชาชนอยู่มาแต่ดั้งแต่เดิม วันดีคืนดีก็ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าหรือไม่ก็ถูกประกาศเป็นพื้นที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้เวลาประชาชนมีปัญหา ทำได้เพียงเรียกร้อง ยื่นหนังสือ รวมตัวไปหาผู้ว่าราชการจังหวัด บางครั้งก็ตกลงได้ โดยการที่ผู้ว่าฯ นั่งหัวโต๊ะแล้วเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนมาคุยกัน แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงคร่าวๆ ไม่เคยตรงตามความต้องการแท้จริง ต่อมา เมื่อผู้ว่าฯ ย้ายไป คนใหม่เข้ามา ปัญหาเดิมก็กลับมาใหม่ ต้องมาตกลงกันใหม่อีกซึ่งคราวนี้ก็ไม่รู้จะออกมาแบบไหน
"ข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มีอยู่ว่า ปัญหาของประชาชนทุกเรื่องต้องจัดการได้จบในพื้นที่ อย่างปัญหาเรื่องที่ดินใน อ.วังทอง ทั้งหมด ก็ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดการได้จบ เรื่องไม่ต้องไปถึงส่วนกลาง และนอกจากนี้ การที่มีหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง มีอำนาจด้วย ก็ต้องจัดการแก้ไขให้เป็นอำนาจของหน่วยงานเดียว นั่นก็คือ อปท.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรืออย่างเรื่องถนนหนทางก็เช่นเดียวกัน ประชาชนไม่รู้หรอกว่าเป็นของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นของสำนักโยธาธิการและผังเมือง เป็นของสำนักชลประทานจังหวัด หรือเป็นของใคร ประชาชนรู้แต่ว่าถ้ามันพังก็ต้องมีหน่วยงานมาซ่อมให้ ซึ่งอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะอย่างนี้ ควรเป็นท้องถิ่นองค์กรเดียวจะสามารถแก้ได้ทันที และตรงจุด" นายปิยบุตร กล่าว
สำหรับบรรยากาศในเวทีรณณงค์ปลดล็อกท้องถิ่นดังกล่าว จัดขึ้นที่วัดม่วงหอม ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 30 คน ได้มาเก็บข้อมูลในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้มีบันทึกข้อความ ลงนามโดย พ.ต.อ.ประมุข ปิ่นปลื้มจิตต์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแก่งโสภา รายงานไปถึง ผู้บังคับการภูธรจังหวัดพิษณุโลก ตอนหนึ่งระบุว่า "ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจรถยนต์พร้อมชุดสืบสวนติดตามสืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหว จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประจำชุดสืบสวน ถ่ายภาพ ภาพเคลื่อนไหว การรณรงค์ปลดล็อท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลก ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล" และตอนหนึ่งระบุว่า หากเสร็จสิ้นการรณรงค์พบการกระทำความผิดจะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และรายงานให้ ภ.จว.ทราบ
ขณะที่นายปิยบุตร โพสต์ภาพของบันทึกข้อความดังกล่าว ระบุว่า ตนประชาสัมพันธ์กำหนดการนี้ลงเพจ ส่วนหน่วยงานความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ตำรวจคงนั่งเฝ้าเพจตนทั้งวันกระมัง จึงรีบรายงานสั่งการกันตามสาย ให้ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังเต็มที่ ทำราวกับว่าเป็นอาชญากร เป็นบุคคลอันตราย เสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรม
นายปิยบุตร ระบุอีกว่า มีคนแจ้งมาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงขนาดไปกดดันพี่น้องในหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ให้มาฟังตน เพิ่งทราบว่า ประเทศนี้การใช้เสรีภาพแสดงออก รณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ได้ทั้งหมด มีงบประมาณมากพอ มีความเป็นอิสระในการจัดการ และให้พลเมืองมีส่วนร่วมนั้น จะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกินเงินเดือนภาษีประชาชน ควรไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชน มิใช่ใช้เวลาและทรัพยากรของราชการมาติดตาม ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
"ตกลงแล้ว ประเทศนี้จะอยู่กันอย่างนี้หรือครับ ตำรวจจะเป็นเครื่องมือแบบนี้หรือครับ ผู้มีอำนาจอย่ากลัวผมมากจนเกินไป สิ่งที่ผมรณรงค์เรื่อง “ปลดล็อกท้องถิ่น” อยู่นี้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อสังคมไทย ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเองด้วย" นายปิยบุตร ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา นายปิยบุตร เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยพนักงานสอบสวนปล่อยตัว โดยวางเงื่อนไขให้มารายงานตัวทุก 7 วัน