"ฝ่ายค้าน" ชี้ คำแปรญัตติหาร500 ขัดรัฐธรรมนูญ ยื้อพลิกสูตรคำนวณส.ส.

"ฝ่ายค้าน" ชี้ คำแปรญัตติหาร500 ขัดรัฐธรรมนูญ ยื้อพลิกสูตรคำนวณส.ส.

รัฐสภาเข้าสู่มาตราว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.แล้ว "ฝ่ายค้าน" งัดแทคติกพักประชุม-คำแปรญัตติขัดรัฐธรรมนูญ ยื้อพลิกสูตรคำนวณ "ชลน่าน" ซัดสภาวิบัติ หากพลิก500หาร สภานี้ถูกเผด็จการครอบงำ

           เมื่อเวลา 17.40 น. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... ได้เข้าสู่มาตราสำคัญ ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 23 ซึ่งแก้ไขเนื้อหาของมาตรา 128 ว่าด้วยวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งกมธ.เสนอให้ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง

 

           อย่างไรก็ดีก่อนการเข้าสู่เนื้อหาพบว่ามีข้อเสนอจากส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอให้พักการประชุมเนื่องจากเป็นมาตราสำคัญที่ประชาชนจับตาอีกทั้งหากเดินหน้าประชุมกังวลว่าจะมีผู้ที่ทำผิดข้อบังคับการประชุม ว่าด้วยการกดบัตรแทนกัน ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกได้ใช้เวลาพิจารณาทบทวนเนื้อหา หลังจากที่มีกระแสข่าวว่ามีคำสั่งจากฝ่ายบริหารเปลี่ยนแปลงมติของกมธ.ที่พิจารณาและเสนอต่อที่ประชุม และพบการยื้อร่างกฎหมายเพื่อให้มีปัญหา แต่ถูกโต้แย้งจากส.ส.พรรครัฐบาลและส.ว. ทั้งนี้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ฐานะที่ประชุมวินิจฉัยว่าขอให้พิจารณาไปตามระเบียบวาระไปตามเวลาที่จะเอื้ออำนวย

 

 

           จากนั้นนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายเนื้อหาที่สงวนคำแปรญัตติที่ให้ใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ยส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อคงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความเป็นธรรมกับพรรคการเมืองพรรคเล็กที่ไม่มีปัญญาแข่งขันกับพรรคใหญ่ อย่างน้อยการใช้สูตรคำนวณ ด้วย 500 หาค่าเฉลี่ย จะทำให้เกิดความใกล้เคียงกับความเป็นธรรม หากส.ส.เขตชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 2หมื่นคะแนน กับคะแนนของแบบบัญชีรายชื่อ ต้องได้คะแนน 7.5หมื่นคะแนน จึงจะถือว่าเป็นธรรมกับพรรคเล็ก

 

           “คำสงวนคำแปรญัตติของผมและของทุกคนที่สงวนไว้ ทั้ง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ได้ปรับเนื้อหาเป็นร่างเดียวกันแล้ว มีคนบอกว่าหากบัญชีรายชื่อเกิน 100 คนจะทำอย่างไร ในคำสงวนแปรญัตติมีเขียนไว้ว่าจะทำอย่างไร หรือหากไม่ครบ100 คนจะคำนวณอย่างไร” นพ.ระวี กล่าว

 

           หลังจากนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ฐานะวิปฝ่ายค้าน ลุกสอบถามกมธ.เสียงข้างมากที่ปล่อยให้มีผู้เสนอคำแปรญัตติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 มาตรา 91 ได้อย่างไร รวมถึงเนื้อหาร่างพ.ร.ป.ที่รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ฉบับ กำหนดให้ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ยตรงกัน ดังนั้นการรับคำแปรญัตติดังกล่าวอาจขัดกับข้อบังคับได้

 

           โดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการกมธ.ฯ ชี้แจงว่า ในการพิจารณาของกมธ. ยอมรับว่าการรับคำแปรญัตติวิธีคำนวณด้วยจำนวน 500 คนนั้น เป็นเรื่องที่เสียไม่ได้ อย่างไรก็ดีเห็นว่าเมื่อกมธ.เสียงข้างมากลงมติชี้ขาดด้วยคะแนนเป็นสองเท่าให้ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ยแล้ว จึงให้ใช้คำสงวนของเสียงข้างน้อยมาอภิปรายในที่ประชุม อย่างไรก็ดีในการพิจารณาของกมธ.เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถรับมาพิจารณาได้ เพราะจะทำให้เกิดโอเวอร์แฮง ที่ทำให้ส.ส.เกินกว่า จำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด 100 คน ไปเป็น 125 คน ทั้งนี้เคยมีกาารลองคำนวณในกมธ.แล้วพบว่าทำไม่ได้

 

           ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อนายนิกร ชี้แจงต่อประเด็นโอเวอร์แฮง ทำให้ถูกประท้วงโดยสมาชิกรัฐสภา ที่ทำหน้าที่เป็นกมธ. พร้อมระบุว่าเป็นการชี้แจงดังกล่าวปนกับการแสดงความเห็นส่วนตัว กังวลว่าจะทำให้เกิดความสับสนและขอให้นายนิกร ยุติการชี้แจงในนามกมธ.

 

           อย่างไรก็ดีในการหารือดังกล่าวนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อภิปรายว่า รายงานของกมธ.มีความผิดปกติ เนื่องจากว่าในมาตราดังกล่าวไม่มีความเห็นของกมธ.เสียงข้างมาก ทั้งที่ในชั้นการพิจารณามีความเห็นและมองว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกมธ.เสียงข้างมากจึงไม่มีความเห็นต่างเพื่อให้สภาฯ ตัดสิน ถือว่าขัดกับหลักการของการตรากฎหมาย และอาจจะไม่ชอบด้วยการตรา  ดังนั้นขอให้กมธ.กลับไปพิจารณารายงานของกมธ. แม้ไม่มีความเห็นรู้แต่ใจว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ให้สิทธิเสนอเพื่อให้สภาวินิจฉัย

 

           “ตอนนี้สภาวิบัติแล้ว ไม่มีหลักการใหม่แทรกซ้อนทุกมาตรา ในประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่เคยมี กมธ. รู้แก่ใจว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สมัยก่อนกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ระวังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ว่ามีการสั่งการ เอา 500 ถ้าเกิดจริงไม่ใช่เผด็จการรัฐสภา แต่จะเป็นสภาเผด็จการ ที่ถูกครอบงำและสั่งการโดยเผด็จการ”นพ.ชลน่าน กล่าว

 

 

           ทั้งนี้นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่า ประเด็นที่เห็นว่าคำแปรญัตติหรือคำสงวนคำแปรญัตติไม่ชอบสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ในชั้นกมธ.ไม่สามารถวินิจฉัยได้ในประเด็นความชอบหรือไม่ชอบดังกล่าว ได้