"นิกร" จี้ "กมธ.กม.ลูก" ฝั่งหนุนสูตร500หาร รับผิดชอบเนื้อหาที่ถูกกระทบ

"นิกร" จี้ "กมธ.กม.ลูก" ฝั่งหนุนสูตร500หาร รับผิดชอบเนื้อหาที่ถูกกระทบ

"นิกร" ชี้ พลิกสูตร500 กระทบหลายมาตราในร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. จี้ "กมธ.ฝั่งชนะ" รับผิดชอบ พร้อมแจงขั้นตอนส่งศาลรธน.ตีความ

          นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มติของรัฐสภาเสียงข้างมากให้แก้ไขเนื้อหามาตรา 23 ซึ่งแก้ไขมาตรา 128 ว่าด้วยวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิมที่กมธ.กำหนดให้ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย ไปเป็นใช้จำนวน 500 คน พร้อมกับแก้ไขวิธีคำนวณ ว่า มาตราและรายละเอียดดังกล่าวมีผลที่เกี่ยวโยงกับมาตราอื่นในร่างพ.ร.ป. ดังนั้นอาจะทำให้มีปัญหาได้หากไม่แก้ไขให้สอดคล้องกัน ดังนั้นตนขอให้ กมธ.เสียงข้างน้อย ที่เป็นผู้ชนะในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรับผิดชอบที่จะดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ตรวจดูรายละเอียดมาตราที่รัฐสภาลงมติผ่านไปแล้วและมาตราที่รอการพิจารณาด้วย

 

          นายนิกร กล่าวด้วยว่าในกรณีที่จะมีผู้เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเนื้อหาว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนด แต่ต้องเป็นช่วงที่ร่างพ.ร.ป.ได้รับความเห็นชอบและส่งไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว  ขณะที่บางฝ่ายระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาได้หลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบในวาระสาม โดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญ มาตร 132 (2) นั้น จากการสอบถามกับทางสำนักงานกฤษฎีกา ทราบว่าต้องส่งไปให้เฉพาะกกต.พิจารณา  และ เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม ตนได้สอบถามไปยังนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ. ถึงเจตนารมณ์ว่า การส่งร่างพ.ร.ป.ใดไปให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาความชอบของบทบัญญัติ นั้นต้องเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายฉบับนั้น ดังนั้นในชั้นนี้ จะมีเพียงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) องค์กรเดียวที่จะพิจารณาได้ อย่างไรก็ดีเพื่อความชัดเจนจะสอบถามไปยังฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาเพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง

 

          “ส่วนตัวเชื่อว่าการพิจารณามาตรา 23 ของกกต.นั้น จะยืนยันเนื้อหาที่ไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือ ยืนตามเนื้อหาของกมธ.เสียงข้างมาก เนื่องจากเนื้อหาดังกล่าว กกต. เป็นผู้ยกร่างเสนอให้กับคณะรัฐมนตรี ดังนั้นการใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ยจะถูกส่งคืนมายังรัฐสภาให้พิจารณา จากนั้นรัฐสภาต้องประชุมเพื่อแก้ไขหรือจะยืนยัน” นายนิกร กล่าว

 

          นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยมาตรา 23 นั้น ตนพร้อมจะร่วมลงชื่อคำร้องร่วมกับ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ด้วย.