3 ป. "รบไร้รูปแบบ" เสี่ยงพ่าย "แตกแบงค์พัน"
พรรคตั้งใหม่ และพรรคแนวร่วมพันธมิตรฝั่ง 3 ป. ที่ถูกตั้งข้อสังเกตจะรวมพรรคนั้น โอกาสริบหรี่ หลายคนที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ มาก่อน รู้มือกันดีว่า หาจุดลงตัวยาก เคยมีการพูดคุยแต่ไม่สำเร็จ เป็นเพราะต่างคนต่างมีแนวทางของตัวเอง และต่างก็ยึดมั่นอยู่อย่างนั้น
เรียกว่าเกมเปลี่ยนทันที หลังจากที่ประชุมรัฐสภา เสียงข้างมากมีมติเลือกสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยสูตรหาร 500 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณถึงพรรคร่วมรัฐบาล
แผนการสกัดพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ "พล.อ.ประยุทธ์" เคยถูกมองว่าพลาดท่ามาครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ ด้วยการไม่ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียว หรือจัดสรรปันส่วนผสม ไปเป็นบัตร 2 ใบ
ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องสูตรหาร 500 อย่างน้อย เพื่อแก้ลำไม่ให้เพื่อไทย ได้เปรียบไปมากกว่านี้
หากดูตามเนื้อผ้า เพื่อไทยก็ยังได้เปรียบ เครือข่าย 3 ป. อยู่ไม่น้อย ด้วยความมั่นใจในกระแสและปัจจัยต่างๆ ที่ดูจะเข้าทาง ทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง ความเบื่อหน่ายของคนจำนวนไม่น้อยในสังคม กับผู้นำที่อยู่ในอำนาจมายาวนาน และมีทีท่าว่าจะไปต่อ
ความได้เปรียบอีกอย่างของเพื่อไทย คือการบริหารจัดการพรรค และองคาพยพได้อย่างรวดเร็วเบ็ดเสร็จ ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง สามารถแก้สมการการเมืองของผู้มีอำนาจได้ และการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยหมายจะกวาด ส.ส.ให้ชนะขาด ชนิดที่ว่า รุกรบจบเร็ว เพื่อพลิกขั้วให้สำเร็จในกระดานตานี้
กลยุทธ์ "แตกแบงค์พัน" ที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เกือบจะเห็นผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริง ว่าจะออกมาขนาดไหน หากไม่สะดุดขาตัวเอง กรณีพรรคไทยรักษาชาติ ไปเสียก่อน
ต่างจากพรรคพลังประชารัฐ และเครือข่าย 3 ป. ที่ขยับอะไรเชื่องช้า โดยเฉพาะการบริหารจัดการพรรค ที่มักติดๆ ขัดๆ เนื่องจาก 3 พี่น้อง มีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันอยู่เสมอ
ปัจจัยสำคัญมาจากคนที่อยู่รายล้อม ต่างแก่งแย่งชิงดี นำมาซึ่งความขัดแย้ง จนส่งผลต่อความคิดความอ่าน และการตัดสินใจของ 3 ป.เจ้าของพรรคตัวจริง
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กำลังเดินหน้าง้อบรรดาคนที่เคยเป็นสมาชิกพรรค ให้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง อาทิ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ สกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.
แต่ดูเหมือนหลายคนจะชั่งใจอย่างหนัก ด้วยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลาออกมา ก็เพราะเคมีไม่ตรงกัน และรู้ดีว่าการกลับเข้าไปอีก ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะเจอสภาพเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง และบางคนก็ได้ปฏิเสธไปเรียบร้อยแล้ว
ตรงนี้เอง ก็อาจเป็นสัญญาณว่า พลังประชารัฐ และ พล.อ.ประวิตร พยายามทำให้พลังประชารัฐเป็นพรรคใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยการดึงคนที่มีฝีมือ เคยทำให้พรรคประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง เมื่อปี 62
ส่วนแผนแตกแบงค์พัน ในฟากฝั่ง 3 ป. แทบจะไร้ความชัดเจน แม้ก่อนหน้านี้ จะมีการส่งสัญญาณให้คนที่เป็นมือไม้ ไปทำพรรคสำรอง โดยเฉพาะ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ส่วนพรรคไทยสร้างสรรค์ ที่มี ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ เป็นตัวตั้งตัวตี ก็ดูจะเงียบไปบ้าง แต่ยังไม่ได้พับแผนแต่อย่างใด ต่างคนก็ต่างทำบ้านของตัวเอง
จุดที่น่าสนใจคือ ความเคลื่อนไหวของ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ที่ปรึกษานายกฯ ที่ซุ่มทำพรรคใหม่ และถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็จะใช้ชื่อ "รวมไทยสร้างชาติ" ที่เซ็ตอัพไปเกือบ 100% แล้วโดย 1 เดือนนับจากนี้ เป็นต้นไป จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
แม้จะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า พรรคใหม่ดังกล่าว จะเป็นกลยุทธ์แตกแบงค์พันของ 3 ป. หรือไม่นาทีนี้ ดูจะไม่ใช่อย่างนั้น เนื่องจากช่วงหลังมานี้ สัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มขาดหาย ไร้ความชัดเจนใดๆ
ทั้งที่ผู้เกี่ยวข้อง ตั้งตารอมานานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจอย่างไร ถ้าเซย์เยส ก็พร้อมให้เป็นคนถือธงนำลงเลือกตั้ง นั่งเป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อปล่อยเวลาทอดยาว ก็ยิ่งส่งผลกระทบกับการรันพรรค
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เล่นบทซื้อเวลา ไม่ตัดสินใจ ทำให้พรรคใหม่ที่ว่า ขาดแม่เหล็กดึงนักเลือกตั้งเข้าพรรค หลายคนที่ถูกทาบทาม จึงยังลังเล ไม่ตอบตกลง
ขณะที่ ผู้เกี่ยวข้องหลายคน ก็ยังตัดสินใจทำพรรคต่อไป โดยพยายามส่งผู้สมัครให้ครบทั้งหมดมีการยืนยันชัดเจน ไม่มีการดีลใดๆ เกิดขึ้น
พรรคใหม่ที่ว่านี้ ไม่ใช่พรรคสาขาของใคร และไม่ใช่พรรคสำรองของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย จับอาการของบางคนในรวมไทยสร้างชาติ มองข้ามช็อต ข้ามตัวบุคคลไปแล้ว
นอกจากนั้น บรรดาพรรคตั้งใหม่อื่นๆ และพรรคแนวร่วมที่เป็นพันธมิตรฝั่ง 3 ป. ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะรวมพรรคกันนั้น โอกาสก็ค่อนข้างริบหรี่ หลายคนที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ด้วยกันมาก่อน รู้มือกันดีว่า หาจุดลงตัวยาก เคยมีการพูดคุยหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เป็นเพราะต่างคนต่างมีแนวทางของตัวเอง และต่างก็ยึดมั่นอยู่อย่างนั้น
สถานการณ์ของฝ่าย 3 ป.ตอนนี้ จึงไม่ใช่กลยุทธ์แตกแบงค์พัน เหมือนเพื่อไทย แต่กลับเป็นความแตกแยกทางความคิด จนทำให้ต่างคนต่างเดินในแนวทางของตัวเอง เช่นเดียวกับ พลังประชารัฐ ที่ภาพรวมอาจจะเรียกว่าเป็นการรบไร้รูปแบบก็ไม่ปาน