เช็ค บ.กัญชง “ชาญวีรกูล” เปิดอยู่แต่ชะลอลงทุน ก่อน “เสี่ยหนู” ปัดเอื้อใคร
เปิดไทม์ไลน์-เช็คสถานะ “แคนนาธอรี่” ธุรกิจ “กัญชง” ของบริษัทในเครือตระกูล “ชาญวีรกูล” วางแผนตั้งแต่ มิ.ย.64 ยังไม่มีรายได้ ต้นปี 65 แจ้งชะลอการลงทุนไว้ก่อน แต่ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ ก่อน “เสี่ยหนู” ปัดเอื้อผลประโยชน์
เงื่อนปม “บริษัทลูก” เครือข่ายธุรกิจของตระกูล “ชาญวีรกูล” ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ “กัญชง” ก่อนหน้าที่จะมีการ “ปลดล็อกกัญชากัญชง” 6-7 เดือน กำลังเป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตอบคำถามสื่อถึงประเด็นนี้ว่า ยืนยันว่าบริษัทดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ซิโน-ไทยฯ แต่บริษัทดังกล่าวเป็นของน้องชาย ที่พ่อของตน (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) แบ่งไว้ให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนมาเข้าการเมือง และตนไม่ได้เจอน้องนานแล้ว
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า บริษัทของเขาทำธุรกิจกัญชง ไม่ใช่กัญชา และใบอนุญาตหมดไปก่อนเรื่องปลดล็อกกัญชา และพอมีเรื่องวิจารณ์เข้ามาก็เลิกทำไปแล้ว บอกว่าไม่เอาแล้ว ขี้เกียจ
อ่านข่าว: "อนุทิน" แจง บริษัทลูก น้องชาย เลิกทำธุรกิจ "กัญชง" แล้ว เพราะขี้เกียจ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
1.กรุงเทพธุรกิจนำเสนอไปแล้วว่า บริษัททำธุรกิจ “กัญชง” ของตระกูล “ชาญวีรกูล” คือบริษัท แคนนาธอรี่ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2564 มีนายมาศถวิน ชาญวีรกูล น้องชายนายอนุทิน ร่วมเป็นกรรมการบริษัท
2.บริษัท แคนนาธอรี่ จำกัด ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ซิโน-ไทยฯ เนื่องจากมีบริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI ธุรกิจในครอบครัว “ชาญวีรกูล” เป็นผู้ถือหุ้น 99.9994% หรือเกือบ 100%
3.บริษัท STPI ปรากฏ บลจ.เกียรตินาคินภัทร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยรับโอนหุ้นจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพื่อจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรี กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นไปตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. และ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 โดยถือหุ้นอยู่จำนวน 164,590,285 หุ้น หรือคิดเป็น 10.13%
ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 คือบริษัท เบสท์ ควอลิตี้ สกิลส์ จำกัด จำนวน 77,880,000 หุ้น คิดเป็น 4.79% คือธุรกิจการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งปรากฏชื่อคนในตระกูล “ชาญวีรกูล” เป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้น เช่น นายเศรณี ชาญวีรกูล น.ส.นัยน์ภัค ชาญวีรกูล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดานายอนุทิน ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 5 อยู่ที่ 56,906,765 หุ้น คิดเป็น 3.5%
ดังนั้นข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือ STPI บริษัทของคนตระกูล “ชาญวีรกูล” ซึ่งมี บลจ.เกียรตินาคินภัทร ที่รับโอนหุ้นจาก “เสี่ยหนู” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นประธานกรรมการบริษัท และนายมาศถวิน ชาญวีรกูล เป็นกรรมการผู้จัดการ ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564 อนุมัติหลักการการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา พร้อมทั้งอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะ
บริษัทจึงดำเนินการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ถือหุ้นโดย STPI ร้อยละ 100 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5 ล้านบาท จากทุนหมุนเวียนของบริษัท มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขยายขอบเขตการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์จากกัญชง และกระจายความเสี่ยงของการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้บริษัทมีการกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจดังกล่าวให้ถูกต้องและครบถ้วนต่อไป
สำหรับบริษัท แคนนาธอรี่ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 32/24 อาคารซิโน-ไทย ทาวเวอร์ ชั้นที่ 3 ถนนสุขุมวิท 21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การปลูกพืชอื่น ๆ ประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรคและพืชทางเภสัชภัณฑ์ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
ปรากฏชื่อกรรมการดังนี้
- นายมาศถวิน ชาญวีรกูล
- นายชำนิ จันทร์ฉาย
- นายชวลิต ลิ่มพานิชย์
- นางอนิลรัตน์ นิติสาโรจน์
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 มีบริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI ถือหุ้นใหญ่สุด 99.9994% ที่เหลืออยู่ในชื่อของนายชำนิ จันทร์ฉาย นางอนิลรัตน์ นิติสาโรจน์ และนายวรราช พรหมขุนทอง ถือคนละ 0.0002%
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 มีสินทรัพย์รวม 3,352,795 บาท หนี้สินรวม 12,681 บาท มีรายได้รวม 729 บาท รายจ่ายรวม 1,659,965 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 650 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,659,886 บาท
ข้อมูลที่น่าสนใจ STPI แจ้งในเอกสารงบการเงินประจำปี 2564 ที่ส่งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ส่วนงานการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชง (ในปี 2564 กลุ่มบริษัทยังไม่มีรายได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอใบอนุญาตและจัดเตรียมสถานที่สำหรับการผลิต)
อย่างไรก็ดีในงบการเงินของ STPI ประจำไตรมาส 1/2565 (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565) ระบุว่า ส่วนงานการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชงของกลุ่มบริษัทยังไม่มีรายได้ เนื่องจากบริษัทย่อยพิจารณาชะลอการลงทุนไว้ก่อน
นั่นจึงหมายความว่า บริษัท แคนนาธอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้าน “กัญชง” ถูกชะลอการลงทุนไว้ก่อน อย่างน้อยที่สุดคือก่อนวันที่ 31 มี.ค. 2565 หรือราวเกือบ 3 เดือนก่อนประกาศ “ปลดล็อกกัญชากัญชง”
อย่างไรก็ดีบริษัทแห่งนี้ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ เพราะมีการนำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 ดังนั้นจึงสามารถประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปในอนาคตข้างหน้าได้
ทั้งหมดคือ “ไทม์ไลน์” ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “ธุรกิจกัญชง” ของคนตระกูล “ชาญวีรกูล” ก่อนถูกสาธารณชนตั้งคำถามถึงการ “เอื้อผลประโยชน์” แอบแฝงในการ “ปลดล็อกกัญชากัญชง” หรือไม่