"โรม" คว่ำ "ประยุทธ์" เหตุอุ้ม "บิ๊กเนม" ส่อโกง-ใช้ภาษีปชช. จ่ายหนี้แทน

"โรม" คว่ำ "ประยุทธ์" เหตุอุ้ม "บิ๊กเนม" ส่อโกง-ใช้ภาษีปชช. จ่ายหนี้แทน

"รังสิมันต์ โรม" ไม่ไว้วางใจ "ประยุทธ์" เหตุละเลย - อุ้มคนส่อโกง ปม หนี้กองบินตำรวจ 900 ล้านบาท ชี้ จงใจยอมเสียงบกลาง เป็นค่าแกล้งโง่ พร้อมเปิดข้อสังเกต "บิ๊กเนม" ที่ ไม่มีใครกล้ายุ่ง

           นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต่อที่ประชุมสภาฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันสุดท้าย กรณีพล.อ.ประยุทธ์ฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเกิดขึ้นในกองบินตำรวจ และอนุมัติงบกลางซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน ชดใช้ให้กับเรื่องดังกล่าว โดยคนที่เป็นผู้กระทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

          นายรังสิมันต์ อภิปรายว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ลงนามสัญญากับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ซ้อมและจัดหาอะไหล่ ตามปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 950 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ พล.ต.อ.กำพล กุศลสถาพร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองบินตำรวจ อย่างไรก็ดีการดำเนินโครงการดังกล่าวพบว่ามีการใช้เงินเกินงบประมาณ กว่า 1,824 ล้านบาท หรือรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,774 ล้านบาท ซึ่งในรายละเอียดพบว่ามีค่าอะไหล่สูงกว่า 764 ล้านบาท และอีก 784 ล้านบาท ไม่เกี่ยวกับการซ่อมเครื่องบิน และการจัดหาอะไหล่ เช่น ตะขอเกี่ยวสินค้า, เครื่องดับเพลิง, ติดตั้งระบบไฟฟ้าไล่นก แต่ข้อเท็จจริงคือการติดต่าข่ายกันนก โรงเก็บเครื่องบิน 7 โรง ๆละ 5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 35 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าวสูงเกินจริง เชื่อว่ามีเงินทอด เพราะจากการตรวจสอบราคาตาข่าย หรือ อุปกรณ์ไฟฟ้าจะมีราคาเพียงหลักแสนบาทเท่านั้น

 

\"โรม\" คว่ำ \"ประยุทธ์\" เหตุอุ้ม \"บิ๊กเนม\" ส่อโกง-ใช้ภาษีปชช. จ่ายหนี้แทน

           “เดือนกันยายน 2564 การบินไทยส่งหนังสือทวงหนี้มาที่ สตช. ในส่วนที่เกินมา 1,824 ล้านบาท และเรื่องนี้ นายกฯ รับทราบ เพราะเมื่อ 21 กันยายน 2564 สตช. ทำหนังสือขอความช่วยเหลือกับ ครม. เป็นเงิน 1,800 ล้านบาท โดยท้ายหนังสือนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับทราบ แต่เมื่อ7ธันวาคม 2564 กรมบังคับคดีส่งหนังสือทวงหนี้มาที่สตช.อีก โดยมีระยะเวลาปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วัน แต่พบว่าสตช. ปฏิเสธล่าช้า กว่าเวลากำหนด 3 วันทำให้ สตช. มีสถานะเป็นลูกหนี้เด็ดขาดตามพ.ร.บ.ล้มละลาย ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบกลาง ที่ควรใช้เพื่อแก้ปัญหาประชาชน ดูแลประชาชน ไปชดใช้หนี้ส่วนดังกล่าว ส่วนคนที่เป็นต้นตอไม่ต้องรับผิดชอบ แม้จะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบ แต่พบว่ามีการเตะถ่วง โดยเมษายน 2565 รัฐบาลอนุมัติงบ 937 ล้านบาทเพื่อชดใช้หนี้ เหตุผลที่เป็นจำนวนเงินดังกล่าวเพราะมีการเจรจาลดหนี้ เนื่องจากการบินไทยเคยทำอะไหล่หาย” นายรังสิมันต์ อภิปราย

 

 

           นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า กรณีดังกล่าวพบการโกงจนเงินไม่พอจ่าย และมีงานหยาบทำอะไหล่หาย แต่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่าย ตนถือว่าเป็นค่าแกล้งโง่ โดยนายกฯ มีส่วนร่วมรู้เห็นปล้นประชาชน อย่างไรก็ดีในเดือนเมษายน 2565 สตช.ที่ทำหนังสือของบกลาง ยังขอให้ก่อหนี้ผูกพันเกินปี 2563 ได้อีกทั้งที่เวลาล่วงเลยมาแล้ว 2 ปี  นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมเอาอะไหล่เก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วไปแลกกับชุดใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ชุด ซึ่งพล.ต.ต.กำพล เป็นผู้ดำเนินการ

           นายรังสิมันต์ อภิปรายด้วยว่า ในกรณีดังกล่าว  คำสั่ง ตร. ระบุว่าตำแหน่งระดับผู้การกองบินมีอำนาจอนุมัติวงเงินได้แค่ 5ล้านบาทเท่านั้น หรือในระเบียบกระทรวงการคลัง ระบุไว้ว่าวงเงินต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อมีการประเมินราคาของที่ พล.ต.ต.กำพล นำไปแลกจำนวนทั้งหมด 6,622 ชิ้น นั้นพบว่า ราคารวมกันสูงถึง 1,157 ล้านบาท และในจำนวนนี้ยังพบด้วยว่ามีคำสั่งให้เอาอะไหล่ของเครื่องบิน Skyvan 1 ลำ 4 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเครื่องยนต์ 2 ชิ้น และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 3 ลำ อีก 21 ชิ้น ไปยำรวมกับเศษเหล็กด้วย โดยอะไหล่ดังกล่าวที่สวมเข้ามาในบัญชีแลกเปลี่ยนนี้ยังใช้งานได้ทั้งหมด ประเมินแล้วมีมูลค่าประมาณ 111 ล้านบาท แต่เมื่อนำไปยำรวมกับเศษเหล็กมูลค่าจึงเหลือเพียง 2.5 ล้านบาทเท่านั้น และกรณีนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบก็มีการเตะถ่วง  

 

 

           นายรังสิมันต์ อภิปรายย้ำด้วยว่าเหตุผลที่การตรวจสอบ พล.ต.ต.กำพล ถูกถ่วงเวลาหรือเตะถ่วงกระบวนการตรวจสอบ ตนเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับตั๋วช้าง เนื่องจากหลังจากที่ พล.ต.ต.กำพล พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการอยู่ที่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ พบว่ามีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ถปภ.ขบวน ฮ.เดโชชัย5) หรือศูนย์เดโชชัย5 ขึ้นมา โดยพล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร.ลงนามตั้ง ซึ่งตนมองว่าไม่มีระเบียบรองรับ และให้ พล.ต.ต.กำพล ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์เดโชชัย5 ด้วย

 

           “การตั้งศูนย์ดังกล่าวไม่มีมีในโครงสร้างของ สตช. และการให้ผู้อำนวยการศูนย์ ที่มีอำนาจสั่งการกองบินตำรวจได้ อาจเป็นการเปิดทางให้ พล.ต.ต.กำพลเข้าไปสะสางเรื่องในกองบินตำรวจหรือทำลายหลักฐานที่ยังไม่เคยเปิดเผยได้ นอกจากนั้นประเด็นสำคัญ คือ ในปี 2565 พล.ต.ต.กำพล ทำการบินไปแล้วกว่า 40 ครั้งโดยมีการตรวจสุขภาพตามระเบียบ เนื่องจากย้ายไปอยู่ในหน่วยที่ไม่ต้องทำการบินแล้ว จึงถือเป็นการทำงานที่บกพร่อง และเสี่ยงอันตราย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายถวายความปลอดภัยฯ กลับบกพร่อง ให้คนที่ขาดคุณภาปฏิบัติภารกิจเพื่อถวายความปลอดภัยสูงสุด” นายรังสิมันต์ อภิปราย