"ศรีสุวรรณ" หอบหลักฐานลุยยื่น ป.ป.ช.สอบปมไลน์หลุด ส.ส.พรรคเล็ก ได้กล้วย

"ศรีสุวรรณ" หอบหลักฐานลุยยื่น ป.ป.ช.สอบปมไลน์หลุด ส.ส.พรรคเล็ก ได้กล้วย

"ศรีสุวรรณ" หอบหลักฐานจากสื่อ-ไลน์หลุด ลุยยื่น ป.ป.ช. เอาผิดอาญา-จริยธรรมร้ายแรง รับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทหรือไม่ ปม "ส.ส.พรรคเล็ก" ได้กล้วย

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์ณัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนเอาผิด ส.ส. ที่มีหลักฐานยืนยันว่า รับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลอื่น โดยการโอนบัญชีธนาคารผ่านระบบ internet banking ของธนาคารนับแสนบาท

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข้อมูลจากกรณีไลน์หลุด ซึ่งมีเนื้อหาและภาพที่ระบุให้เห็นว่า มีรายชื่อ ส.ส.พรรคเล็ก เซ็นชื่อรับเงินกันหลายคน และมีภาพหลักฐานสลิปการโอนเงินไปยังบุคคลปลายทาง เป็นชื่อของหัวหน้าพรรคการเมืองเล็กๆ รวมทั้งหัวหน้ากลุ่มการเมืองด้วยโดยเป็นเงินจำนวนมากที่มีการจ่ายกันเป็นรายเดือน ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ได้ออกมาให้ข่าวว่ามี ส.ส.พรรคเล็กบางคนรับเงินเกิน 3,000 บาท เกินกว่ากฎหมาย ป.ป.ช.ที่กำหนด ซึ่งใช้เป็นหลักฐานที่สามารถบ่งชี้ได้ว่านักการเมืองต่าง ๆ มีพฤติการณ์การรับเงินกันจริง ซึ่งอาจเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่างกันหรือไม่

\"ศรีสุวรรณ\" หอบหลักฐานลุยยื่น ป.ป.ช.สอบปมไลน์หลุด ส.ส.พรรคเล็ก ได้กล้วย

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวหาก ส.ส.รับเงินกันกันจริง ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.128 วรรคแรก แห่ง พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด” ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 แล้ว ซึ่งกำหนดว่าเจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ส.ส.ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม ม.169 แห่ง พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561  ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 2560 ข้อ 8  ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสองได้ ซึ่งหาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริงก็อาจยื่นคำร้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.ผู้นั้น และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี นอกจากนั้น ยังอาจเข้าข่ายความผิดตาม ป.อ.มาตรา 149 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 4 แสนบาท หรือประหารชีวิต สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจากแหล่งที่ปรากฏในสื่อสำนักต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย กลุ่มไลน์ต่าง ๆ และแหล่งข่าวเชิงลึก นำมามอบให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อเอาผิดผู้ที่กระทำการดังกล่าว