เรื่องตลก “กติกาเลือกตั้ง“

เรื่องตลก “กติกาเลือกตั้ง“

เมื่อ “กติกาเลือกตั้ง“ ไม่นิ่ง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างการใช้ “บัตรใบเดียว” และ “บัตรสองใบ” เพราะมีนักการเมืองบางกลุ่มคิดอยู่บนพื้นฐาน “ความได้เปรียบทางการเมือง” มากกว่าที่จะคิดบนฐานผลประโยชน์ประเทศชาติ

คงเป็นเรื่องตลก หากบทจบของกติกาการเลือกตั้ง ได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ สรุปสุดท้ายรัฐสภาคว่ำกฎหมายลูกแล้ว หันมาใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ “กลับมาที่เดิม” นั่นคือ ใช้บัตรใบเดียว เพราะต้องอย่าลืม เราเพิ่งผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากบัตรใบเดียว เป็นบัตรสองใบ เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 21 พ.ย. 2564 และมีผลบังคับใช้วันถัดไปเมื่อ 22 พ.ย. 2564

หลังจากนั้นรัฐสภาก็ดำเนินการร่างกฎหมายลูกเพื่อให้สอดคล้อง ถึงตอนนี้ กฎหมายลูกสองฉบับยังไม่ประกาศใช้ ยังอยู่ในขัดตอนการพิจารณาในวาระ 2 แต่ถึงกระนั้น 15 ส.ค.นี้ จะครบ 180 วัน ที่ต้องร่างออกมาให้เสร็จ ซึ่งตรงนี้ ไม่น่ามีปัญหา

แต่ที่เป็นปัญหาและเป็นเรื่องตลกจนยืดเยื้อถึงขณะนี้ ก็เพราะกติกาการเลือกตั้งไม่นิ่ง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะคิดอยู่บนพื้นฐาน “ความได้เปรียบทางการเมือง” มากกว่าที่จะคิดบนฐานผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน

ที่บอกว่ากำลังเป็นเรื่องตลก ต้องเริ่มการแก้รัฐธรรมนูญจากบัตรใบเดียว ทุกเสียงไม่ตกน้ำแล้วมาคำนวณบัญชีรายชื่อ เพราะมีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งมองว่า การที่พรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น เลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ได้ ส.ส. เข้ามาถึง 81 ที่นั่ง เพราะกติกาบัตรใบเดียว

เหตุเพราะ "อนาคตใหม่" ขณะนั้น ได้ ส.ส. เขตเพียง 30 ที่นั่ง แต่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 51 ที่นั่ง และห่วงว่าหากยังเป็นเช่นนี้ เลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคก้าวไกล ซึ่งคืออนาคตใหม่เดิม จะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นอีก

นักการเมืองกลุ่มนี้ห่วงว่า “น่ากลัว” ในมุมคิดที่ตัวเองจะสูญเสียอำนาจ บวกกับเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ มี 3 ข้อ และหนึ่งในนั้นคือ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเดินหน้า

แต่เมื่อเวลาผ่านมาระยะหนึ่ง สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนความแรงของเพื่อไทยและครอบครัวเพื่อไทย เป็นความน่ากลัวของขั้วอำนาจเก่า จึงมองหากติกาเลือกตั้งที่ตัวเองได้เปรียบ และกดฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุด ดังนั้น เมื่อกรรมาธิการเสียงข้างมาก เสนอสูตรหาร 100 จึงมองว่าเป็นอุปสรรคสำหรับเครือข่ายพรรคการเมืองตัวเอง จะมีมติเสียงข้างมากยึดตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อยหันมาใช้หาร 500 

 

แต่เรื่องตลกการเมืองไม่ได้จบอยู่ตรงนี้ มีความคิดของนักการเมืองขั้วรัฐบาล ประเมินว่าเอาเข้าจริงแล้ว หาร 500 พรรครัฐบาลอาจจะไม่ได้ประโยชน์ จึงเสนอให้กลับไปหาร 100 อีกครั้ง และใช้รัฐสภาร่วมนี้แหละ ในการขับเคลื่อน

แต่ในบริบทนี้ จริงๆ มีกลุ่มคนคิดไปไกลอีกขั้น ความได้เปรียบที่แท้จริง คือกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” เสียงไม่ตกน้ำ บวกกับความวิตกต่อพรรคก้าวไกลลดลง แต่กลับวิตกเพื่อไทยมากขึ้น แนวทางบัตรใบเดียวน่าจะตอบโจทย์ขั้วการเมืองตัวเองได้มากกว่า

จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่การประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมาก 476 เสียง ต่อ 25 เสียง งดออกเสียง 20 เสียงและไม่ลงมติ 9 เสียง เห็นชอบให้กรรมาธิการ "ถอนร่าง" ออกไปก่อน เพื่อให้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งนั่นหมายความว่า หลังจากนี้ต้องจับตารัฐสภาว่าจะหาเหตุผลอะไรที่ทำให้กติกาเพื่อประชาชนตลกไปมากกว่านี้ หรือไม่?