"พรรคกล้า" หนุนกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่า ในจังหวัดที่พร้อม

"พรรคกล้า" หนุนกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่า ในจังหวัดที่พร้อม

พรรคกล้า หนุนกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่า ในจังหวัดที่พร้อม เชื่อเป็นตัวเร่งกระตุ้นเศรฐกิจฐานราก ด้าน “นายกอุ๊ กรุงเก่า” ชี้ ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มอยู่แล้ว แต่การจัดการต่างหากที่เป็นปัญหา 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ให้ความเห็นถึงการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ว่า พรรคกล้าหนุนการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพื่อปลดล็อการบริหารแบบกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง ไม่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ฯลฯ  ที่มีของดีมากมายทั้ง ภูเขา ทะเล ธรรมชาติที่สวยงาม มรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย  ซึ่งถือเป็น ซอฟท์พาวเวอร์ ที่ทรงพลังและถูกใช้กับการท่องเที่ยว ทำรายได้ให้ประเทศมาโดยตลอด

ถึงเวลาแล้วที่จังหวัดเหล่านี้ ต้องสามารถจัดการตัวเอง ต้องกระจายอำนาจในการบริหารงานเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเมือง โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ภาษีและรายได้ปันส่วนให้ตอบโจทย์กับเนื้องานเพื่อการหารายได้เข้าประเทศอย่างมีระบบ และเพื่อให้ผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ทั้งงานระบบสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า ประปา และตำรวจ และที่สำคัญด้วยความที่เป็นเมืองพิเศษ ก็จำเป็นต้องใช้คนที่เข้าใจมาบริหาร ซึ่งก็คือคนในพื้นที่ที่เข้าใจชาวบ้านชุมชน เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด 

ด้านนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ นายกอุ๊ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ทีมเศรษฐกิจพรรคกล้า กล่าวว่า ปัจจุบัน โครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่นมีระบุไว้ชัดเจน 3 โครสร้าง 1.ท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เทศบาลและ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2. ฝ่ายครองท้องที่ ได้แก่ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และ 3. หน่วยงานส่วนกลางคือ กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯลฯ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การกระจายอำนาจแล้วจะไปยุบส่วนกลางไม่ได้ เพราะเขาก็ทำหน้าที่ฝ่ายกำกับนโยบายรวมเหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ ที่จะต้องมาดูแลจังหวัดที่จะต้องต่อท่อไปยังเส้นเลือดฝอยคือท้องถิ่น ให้บูรณาการทำงานร่วมกันได้เพื่อให้เลือดไหวเวียนอย่างเป็นระบบ แผนท้องถิ่นก็ต้องสอดคล้องกับแผนของจังหวัดและแผนของจังหวัดก็ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ 

 คำว่า”กำกับ”ท้องถิ่นหลายคนอาจไม่ชอบใจเหมือนไม่อิสระ แต่ความจริงมันก็อิสระเพียงแต่ยังไม่100%ในบางเรื่องบางประเด็น เช่นการขอใช้พื้นที่ ของหน่วยงานอื่นเช่นชลประทาน คมนาคม โรงเรียน เจ้าท่า หรือของวัดเป็นต้น ที่ยุ่งและทำให้การพัฒนาล่าช้าหลายปีมากๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนของอบต.บ้านใหม่ที่ผมเจอก็คือ การทำถนนเลียบคลองชลประทานหรือทำสะพานข้ามคลองชลประทาน  ต้องขออนุญาตชลประทานส่งแบบถนนแบบสะพานโดยละเอียด ใช้เวลาพิจารณาอย่างเร็วที่สุดครึ่งปี

จากนั้นยังต้องไปขอใช้พื้นที่จากธนารักษ์จังหวัดอีกครึ่งปี รวมแล้ว 1 ปีนี่คือไม่มีอะไรติดขัดนะ ถ้าแก้เอกสารด้วยก็สองปี ผมเจอมาแล้ว คิดทำถนนทำสะพานปีนี้ กว่าจะได้ทำอีกสามปี นายกหมดวาระพอดี ไหนจะต้องของบประมาณจากส่วนกลางอีกได้ไม่ได้ก็ยังไม่รู้ นี่คือผลของการไม่กระจายอำนาจทำให้เกิดการถ่วงความเจริญมาก ตามโลกตามความเจริญไม่ทันเป็นอีกปัญหาความยากจนล้าหลังของชาวบ้าน ที่ผมพูดนี่เพราะกำลังเจออยู่ พอดี ความจริงเป็นการหวงอำนาจของหน่วยงานส่วนกลางชัดเจนที่สุด ต้องแก้ไขให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเรื่องที่ทำได้แบบทันที

“สำหรับผม ในฐานะที่เป็น นายกฯ อบต. ผมมองว่าการกระจายอำนาจมันมีอยู่แล้วและส่วนตัวผมเองก็มีอำนาจเต็มมีทางที่จะเดินได้ตามภารกิจและกฎหมาย แต่ต้องยอมรับว่าศักยภาพของแต่ละพื้นที่ต่างกัน ถ้าในระดับท้องถิ่น หากมีการเรียกร้องกระจายอำนาจเพิ่มก็ต้องเริ่มจากท้องถิ่นที่พร้อม โดยเฉพาะการโอนย้าย หน่วยงานในสังกัดเดิมเช่น รพ.สต. ย้ายจากกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการ ไปอยู่กับท้องถิ่น หรืออื่นๆ หลายพื้นที่ทำได้ดี แต่หลายพื้นที่ก็ยังทำไม่ได้ และทั้ง รพ.สต.หรือโรงเรียนเองก็ยังไม่มั่นใจ ก็ต้องรอความพร้อม ไม่ใช่ว่าไม่มีการกระจายอำนาจ เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์ ส่วนเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในบางพื้นที่ ส่วนตัวมองว่าต้องเริ่มในจังหวัดพิเศษที่มีความพร้อม เพราะกลไกมันเอื้อให้อยู่แล้ว ทุกวันนี้ นายกอบจ.ก็เสมือนเป็นผู้ว่ากลายๆที่ทับซ้อนกันอยู่แล้วแต่ดูแลคนละหน่วยงาน การเลือกตั้งผู้ว่าทำได้เพียงแต่ต้องระวัง เจ้าพ่อ เจ้าแม่ บ้านใหญ่ กลุ่มอิทธิพล จะได้รับเลือกตั้ง  มันจะกลายเป็นติดอาวุธให้โจรแบบครบสมบูรณ์แบบ แล้วบุคลากรมาขึ้นกับเขา จะมีการ ปรับ ลด ปลด ย้าย  มันจะไม่มีการคานอำนาจในตัวเอง ดังนั้นการถ่ายโอนอำนาจต้องแยกเป็นเรื่องที่สำคัญก่อน เรื่องอะไรที่หมิ่นเหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องถ่ายโอนมาหรือเลือกทำเท่าที่จำเป็น” นายกอุ๊ กล่าว  

อย่างไรก็ตาม นายวัชรพงค์ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการกระจายอำนาจ มีอยู่ 4 ข้อ  คือ 1. ระเบียบข้อกฎหมายที่จะมารองรับภารกิจให้ถูกต้อง ทั้งฝ่าย มอบอำนาจ คือส่วนกลาง  กับฝ่ายที่รับการถ่ายโอนอำนาจคือท้องถิ่น 2. เงินพอไหม การถ่ายโอนภารกิจแล้วไม่เอาเงินมาให้ หรือเงินไม่พอ เป็นปัญหาใหญ่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะแต่ละแห่งท้องถิ่นเก็บภาษีไม่เท่ากัน เป็นความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดปัญหาของการถ่ายโอนอำนาจ ดังนั้นการถ่ายโอนต้องตามมาด้วยโครงสร้างของงบประมาณที่เกลี่ยให้เป็นธรรมอย่างทุกวันนี้กทม.ได้นับงบประมาณมากถึงกว่า50% ของงบประมาณ  3. คน ตั้งแต่นายกท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น บุคลากรท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นนั้น มีศักยภาพอะไรบ้าง ความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ความถนัดในเรื่องที่รับถ่ายโอนมา คนท้องถิ่นพร้อมหรือไม่ ถ้ามีเงินแต่ไม่มีความพร้อมก็ลำบาก หรือบางพื้นที่พร้อมแต่ไม่มีเงิน ก็ลำบากเช่นเดียวกัน  การให้ความเจริญเติบโตกับบุคลากร  ที่ย้ายสังกัดจากส่วนกลางมาท้องถิ่นอันนี้สำคัญ และ 4.นโยบายภาพรวมของประเทศในมิติความมั่นคง ทางด้านสังคม ความแตกต่างของวัฒนธรรม เช่น จังหวัดชายแดนใต้ ก็อาจจะยังไม่พร้อม