"ดิเรกฤทธิ์" เชื่อ "กกต." ไม่ยืนยันสูตรหาร100

"ดิเรกฤทธิ์" เชื่อ "กกต." ไม่ยืนยันสูตรหาร100

"ดิเรกฤทธิ์" เชื่อ "7เสือกกต." ไม่ยืนยันสูตรหาร100 เหตุ รธน.มาตรา132 ขีดกรอบให้เป็นแค่ผู้ปฏิบัติ ไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย ชี้ต้องทำการบ้าน - ปฏิบัติงานตามสูตรหาร500

          นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ต่อประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ... ว่าด้วยสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่า หลังจากที่รัฐสภาพิจารณาลงมติวาระสามแล้วเสร็จ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนดว่าต้องส่งให้ศาลฏีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ความเห็น โดยมีกรอบคือ มีข้อความใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ดังนั้นกรณีที่มีความเชื่อว่า กกต. จะตอบกลับความเห็นว่าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยจำนวน 500 คนไม่ถูกต้อง เป็นความเชื่อบนพื้นฐานที่ กกต. เคยเสนอร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้รัฐบาล แต่ตนมองว่ากรณีดังกล่าวมีความต่างในข้อเท็จจริง เพราะกกต.ฐานะคนช่วยร่างกฎฆมายเสนอรัฐบาล เพราะก่อนหน้านั้นรัฐธรรมนูญถูกแก้ไข ไม่ใช่ว่าสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อต้องหารด้วยจำนวน 500 คนตลอดไป

 

 

          นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า  เมื่อรัฐสภามีมติเมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม ให้ใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยจำนวน 500 คนและวันที 26 กรกฏาคม มีมติให้กรรมาธิการฯ แก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณด้วยจำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย เมื่อส่ง กกต. แล้ว กกต.ต้องพิจารณาและให้ความเห็นว่าสิ่งที่รัฐสภาเห็นชอบนั้นรายละเอียดปฏิบัติได้หรือไม่ ทั้งนี้กกต.ไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย มีแค่ให้ความเห็นว่าทำได้หรือไม่ จากนั้นส่งกลับความเห็นมาที่รัฐสภาให้พิจารณา

          นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการพิจารณาว่าด้วยการสูตรคำนวณสส.บัญชีรายชื่อ ในชั้นกรรมาธิการ ตนและนายสาธิต ปิตะเตชุ รมช.สาธารณสุข ฐานะประธานกมธ. ได้งดออกเสียง เพราะมองว่าแต่ละฝ่ายทั้งสนับสนุนให้ใช้ 100 คนหาค่าเฉลี่ย หรือ 500 คนหาค่าเฉลี่ย สามารถอธิบายได้ในความชอบของรัฐธรรมนูญได้เหมือนกัน ขณะที่ตัวแทนของสำนักงานกฤษฎีกาและสำนักงานกกต. งดออกเสียงเช่นกัน ทั้งนี้ตัวแทนขององค์กรที่ร่วมเป็นกมธ. นั้นความเห็นไม่ได้ผูกพันกับองค์กร โดยนายเกรียงไกร พานดอกไม้ รองเลขาธิการ กกต. ที่ร่วมเป็นกมธ.  คือนำประสบการณ์มาช่วยเขียนกฎหมาย แต่กกต. ทั้ง7 คนที่มีหน้าที่ให้ความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ให้กับรัฐสภา ไม่ได้เป็นกมธ. 

 

          “เมื่อรัฐสภามีมติอย่างาไร กกต. ต้องทำการบ้าน ว่า ​สูตรคำนวณส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่ใช้จำนวน 500 คน นั้นทำได้หรือไม่ ส่วนทิศทางของการพิจารณาของรัฐสภาต่อจากนั้นผมเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ยังยึดสูตรคำนวณตามที่ลงมติไปแล้ว เพราะความจริงเปลี่ยนไป” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว