ผล ITA 65 หน่วยงานรัฐผ่าน 70.52% ถือว่า “สอบตก” มท.-สธ.-อุตฯ รั้งบ๊วย

ผล ITA 65 หน่วยงานรัฐผ่าน 70.52% ถือว่า “สอบตก” มท.-สธ.-อุตฯ รั้งบ๊วย

ป.ป.ช.แพร่ผลคะแนน ITA ประจำปีงบประมาณ 2565 หน่วยงานรัฐรวม 8,303 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 5,855 แห่ง คิดเป็น 70.52% ยังถือว่า “สอบตก” แม้ค่าเฉลี่ยจะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว วิเคราะห์รายกระทรวง “มท.-สธ.-อุตสาหกรรม” รั้งบ๊วย “ท้องถิ่น” ยังรั้งท้ายเยอะ

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานแถลงข่าวผ่านไลฟ์สดถึงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี 2565 โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ผลการประเมินคะแนน ITA ประจำปีงบประมาณ 2565 ในภาพรวมจากหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ 8,303 แห่ง จำนวนผู้ประเมิน 1,300,132 ราย พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 87.57 คะแนน โดยมากกว่าปีที่แล้ว (ปีงบประมาณ 2564) 6.32 คะแนน

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมิน ITA และค่าเป้าหมายตามตัวชี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) พบว่า มีหน่วยงานที่มีคะแนนผ่านค่าเป้าหมายที่กำหนดจำนวน 5,855 หน่วยงาน หรือคิดเป็น 70.52% ของหน่วยงานเข้าร่วมประเมินทั้งหมด สูงกว่าปีที่ผ่านมา 20.57% แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ 2,448 คิดเป็น 29.48%

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนของหน่วยงานที่ผ่านค่าเป้าหมายจะสูงขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังน้อยกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องมีค่าประเมิน 85% ขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 80% ของหน่วยเข้าร่วมทั้งหมด จึงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ยกระดับคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินของหน่วยงานภาครัฐ ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

ผล ITA 65 หน่วยงานรัฐผ่าน 70.52% ถือว่า “สอบตก” มท.-สธ.-อุตฯ รั้งบ๊วย

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า การประเมิน ITA มีการกำหนดตัวชี้วัดในการประเมิน แบ่งออกเป็น 10 ตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดคะแนนน้อยสุดคือ การป้องกันการทุจริต เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการภายในของหน่วยงานภาครัฐ ที่ช่วยป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐภายในหน่วยงาน เช่น การมีส่วนร่วมของผู้บริหารหน่วยงาน ความพยายามลดเสี่ยงทุจริต หรือการให้ความสำคัญในการวางแผน ในการยกระดับความโปร่งใสของหน่วยงาน เป็นต้น

โดยเมื่อพิจารณาผล ITA จำแนกตามประเภท พบว่า

  • ประเภทหน่วยงานที่มีสัดส่วนหน่วยงานผ่านค่าเป้าหมายที่กำหนดในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ น้อยสุดได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล สถาบันอุดมศึกษา และกองทุน 
  • จำแนกกระทรวงต่าง ๆ พบว่า กระทรวงที่สัดส่วนหน่วยงานผ่านน้อยสุด ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม
  • เมื่อพิจารณาผลการประเมินระดับพื้นที่ จำแนกตามจังหวัดต่าง ๆ พบว่า พื้นที่จังหวัดที่มีสัดส่วนหน่วยงานภาครัฐภายในจังหวัดผ่านเกณฑ์น้อยสุด ได้แก่ ราชบุรี อุบลราชธานี และชัยภูมิ

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวต่อไปว่า มีจังหวัดที่ทุกหน่วยงานภายในจังหวัด มีค่าคะแนนบรรลุค่าเป้าหมายได้ครบถ้วนทุกแห่ง 100% เต็ม ได้แก่ นครสวรรค์ บึงกาฬ สิงห์บุรี และภูเก็ต 

โดยเมื่อเปรียบเทียบผลการประเมิน ITA 2565 ในปีนี้กับผลการประเมิน ITA เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนจังหวัดที่มีสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐบรรลุค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ เพิ่มขึ้นจาก 15 จังหวัด รวมเป็น 27 จังหวัดในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้บรรลุค่าเป้าหมายอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม และแม้ว่าจะมีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่ก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในการประเมินปีต่อ ๆ ไป จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 

สำหรับผลการประเมิน ITA รายหน่วยงาน คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มหน่วยงานประเภทสำนักงานศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานในสังกัดรัฐสภา และองค์กรอัยการ ได้แก่ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
  2. ระดับกรม ได้แก่ กรมการปกครอง
  3. รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
  4. องค์การมหาชน ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  5. สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ธนบุรี
  6. หน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ สำนักงาน กสทช.
  7. จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง
  8. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้แก่ อบจ.ยโสธร
  9. เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลจังหาร จ.ร้อยเอ็ด
  10. องค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ อบต.บ้านพลับ จ.พระนครศรีอยุธยา และ อบต.โคกสะอาด จ.สระบุรี

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า จะเห็นได้ว่า ผลการประเมิน ITA ในปีนี้ มีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ค่าคะแนน ITA ที่มีตัวเลขสูงขึ้นในทุกคะแนนนั้น ล้วนมีเบื้องหลังมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจ และความพยายามของข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการพัฒนา และยกระดับการดำเนินงานให้มีคุณภาพ มีคุณธรรม และมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากพิจารณาให้ลึกถึงผลที่เกิดขึ้นแล้วจะพบว่า ค่าคะแนน ITA ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลขผลการประเมินเท่านั้น แต่ยังมีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากความพยายามพัฒนาปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดขึ้นด้วย ขณะเดียวกันการมีส่วนร่วมของประชาชนคนไทยที่เคยติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ และมีส่วนร่วมประเมิทน ITA ปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวต่อการมีส่วนร่วม สะท้อนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหน่วยงานรัฐให้ดียิ่งขึ้น