เบื้องหลัง “อารยะ” วิพากษ์คดี “ปรีชา-นาฬิกาเพื่อน” ก่อนสภาคว่ำนั่ง ป.ป.ช.
ล้วงการประชุมลับ! กรรมการสรรหาฯถาม “อารยะ ปรีชาเมตตา” ตอบ โชว์วิสัยทัศน์เข้ารับการสรรหาเป็น “กรรมการ ป.ป.ช.” วิพากษ์คดี “พล.อ.ปรีชา” ปมไม่แจ้งบ้านในบัญชีทรัพย์สิน คดี “นาฬิกาเพื่อน” ก่อน ส.ว.โหวตคว่ำ
กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวสำคัญ พลันที่ประชุมวุฒิสภา มีมติ “โหวตคว่ำ” ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิให้นั่งเก้าอี้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โดยที่ประชุมวุฒิสภา ลงคะแนนในทางลับ เห็นชอบ 38 เสียง ไม่เห็นชอบ 146 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง ส่งผลให้ “อารยะ” มิได้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือน้อยกว่า 125 เสียง
เงื่อนปมที่น่าสนใจ การโหวตเลือกกรรมการ ป.ป.ช. แทนตำแหน่งที่ว่างลง (พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง) ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งครบ 9 ปี ตั้งแต่ 6 พ.ย. 2564 มีการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง
ครั้งแรก ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธาน มีมติเลือกนายจาตุรงค์ สรนุวัตร และเสนอชื่อให้วุฒิสภาลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่ อย่างไรก็ดีก่อนวันที่วุฒิสภาจะลงมติดังกล่าว นายจาตุรงค์ ได้ถอนตัวจากการเป็นผู้สรรหา โดยเบื้องหลัง ว่ากันว่า เจ้าตัวถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องคดีความ และเรื่องส่วนตัวหลายคดี แม้จะเคลียร์ทั้งหมดจนบริสุทธิ์แล้ว แต่เพื่อป้องกันข้อครหาในอนาคต จึงถอนตัวดังกล่าว
ครั้งที่สอง คณะกรรมการสรรหา ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ได้มีมติเลือก ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา เป็นผู้ถูกเสนอชื่อ โดยในที่ประชุมต้องลงคะแนนเสียงกันถึง 3 ครั้ง จึงได้ข้อสรุปเลือก ศ.อารยะ กระทั่งที่ประชุมวุฒิสภามีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.
เบื้องลึกเบื้องหลังกรณีนี้ คงต้องรอฟังจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันต่อไป
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ในชั้นการประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ศ.อารยะ ได้ตอบคำถามกรรมการสรรหาหลายราย เกี่ยวกับแนวคิด และวิธีการบริหารสำนักงาน ป.ป.ช. โดยปรากฏบางช่วงบางตอน ศ.อารยะ ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สิน “บิ๊กทหาร” รายหนึ่ง ที่มิได้แจ้งรายการ “บ้าน” ที่เพิ่งสร้างเสร็จทีหลังในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่วินิจฉัยคดี “นาฬิกาเพื่อน” ซึ่งกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีถูกกล่าวหาว่า ไม่แจ้งทรัพย์สิน และรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทด้วย
กรุงเทพธุรกิจ สรุปข้อเท็จจริงให้ทราบ ดังนี้
ในส่วนของการแสดงความคิดเห็นของการสัมภาษณ์ ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา บุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 9 วรรคสอง (4) โดยดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
เบื้องต้น ศ.อารยะ แนะนำตัว โดยนำเสนอวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาดัชนีรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน หรือ CPI ของไทยที่ตกต่ำ ให้ดีขึ้น โดยระบุว่าปัญหาการทุจริตของไทยเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจจำนวนไม่น้อย สามารถหาประโยชน์จากค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ และกฎระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างไม่เป็นธรรม นำไปสู่ปัญหาการทุจริตในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จนพัฒนาไปสู่ระดับการทุจริตเชิงนโยบาย
ศ.อารยะ ยกตัวอย่าง กรณีอดีตนายทหาร ที่มีการแจ้งทรัพย์สินแล้วปรากฏว่า แจ้งไม่ครบ เพราะว่าไม่ได้แจ้งรายการบ้านที่สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าไม่จำเป็นต้องแจ้ง และ ป.ป.ช. ได้ตัดสินว่ามีมูลค่าไม่มาก เพราะฉะนั้น ข้อมูลนี้แม้ว่าจะรวมเข้าไปในรายการทั้งหมด ไม่ได้ทำให้มีการร่ำรวยผิดปกติ แต่ประเด็นของตนในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ คำว่า ราคาไม่สูงมากนัก กำหนดอย่างไร มีมาตรฐานอย่างไร สามารถคิดเปรียบเทียบไปถึงคดีของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และการร่ำรวยผิดปกติ เชื่อว่าเมื่อทำแล้วค่า CPI มีการขยับตัวสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต เพราะว่า ป.ป.ช. สามารถทำงานโดยการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงหลากหลายมิติ มีการใช้มาตรการทางภาษีที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น
(ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือน ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 8 ต่อ 1 เสียง ยกคำร้องกล่าวหา พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กรณีถูกกล่าวหาว่า ไม่แจ้งบ้านที่เพิ่งสร้างในบัญชีทรัพย์สิน โดยอ้างว่ามีพยานยืนยันว่าบ้านที่สร้างแล้วยังไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น เพราะยังก่อสร้างไม่เสร็จ
ส่วนกรณีของนายสมศักดิ์ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา เพราะเคยถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากชี้แจงที่มาของบ้านมูลค่า 16 ล้านบาทไม่ได้)
ศ.อารยะ ยังตอบคำถามนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา หนึ่งในกรรมการสรรหาฯ ถึงประเด็นเรื่องตัวบุคคล ที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ด้วยว่า คิดว่าความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะนำไปสู่ข้อสรุปที่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้นอย่างที่เรียนให้ทราบ กรณีนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยเข้าไปแล้ว มีผลในการนำเสนอความคิดในการช่วยแก้ไขคดีใหญ่ ๆ ได้ คิดว่าเรื่องความคิดเห็นจะต้องใช้เวลาในการทำงาน ถ้าเกิดเราบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมากับทุกฝ่าย ถึงที่สุดแม้ความเห็นจะไม่ตรงกัน ในที่สุดจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ศ.อารยะ ตอบคำถามในใบสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตอนหนึ่งว่า จะส่งเสริมศึกษาช่องทางความเป็นไปได้ในการขอใช้ข้อมูลเรื่องประวัติการเสียภาษีที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ถูกไต่สวน เพื่อมาตรวจสอบเทียบกับทรัพย์สินและรายได้ที่มีอยู่เพื่อหาความถูกต้องของที่มาทรัพย์สินที่ถือครองอยู่เป็นสำคัญ
ศ.อารยะ ยังยกตัวอย่างตอนหนึ่งว่า กรณีเจ้าหน้าที่รัฐถูกไต่สวนแก้ต่างว่า เข้าใจผิดคิดว่าบ้านที่สร้างยังไม่เสร็จนั้น ไม่ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สิน และมีผลทำให้ ป.ป.ช.ถือว่าขาดเจตนาจงใจปกปิดทรัพย์สิน เพราะเมื่อตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดแล้วไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินงอกเงยผิดปกตินั้น เห็นว่า จุดสำคัญที่จะตัดสินว่าข้อสรุปนี้ถูกต้องหรือไม่ในเชิงเศรษฐศาสตร์และในเชิงธุรกิจนั้น จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิธีการตีมูลค่าที่ดินในตลาดที่แตกต่างกันไป ระหว่างช่วงก่อนที่จะมีการสร้างบ้านหลังใหม่ (ที่ดินเปล่ารกร้าง) และหลังจากที่ดินนั้น ๆ ได้มีการสร้างบ้านเสร็จแล้ว (รวมทั้งมีระบบถนนหนทาง และสาธารณูปโภคที่รัฐลงทุนจัดหา)
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์และธุรกิจน่าจะให้มุมมองที่แตกต่างได้ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.น่าจะได้ใช้ประกอบการพิจารณาก่อนที่จะมีมติทางหนึ่งทางใด (*หมายเหตุ การเขียนใบสมัครดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนมติ ป.ป.ช.ยกคำร้อง พล.อ.ประวิตร ปมรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท) เช่น กรณีของการยืมใช้นาฬิกาที่ถือเป็นการยืมใช้คงรูป มิใช่หนี้สินที่เป็นเงินตรา และได้มีการคืนทรัพย์ให้แก่ผู้ยืมแล้วนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ประเด็นนี้ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องความแตกต่างระหว่าง “ทรัพย์สิน” และ “รายได้”
เพราะแม้จะเป็นการ “ยืมใช้คงรูป” มิใช่หนี้สินที่เป็นเงินตราก็ตาม แต่หากนาฬิกาแบรนด์ดังกล่าวนั้น มีเอกชนรายอื่นให้บริการปล่อยเช่าในราคาตลาดคิดเป็นต่อวันหรือต่อเดือนแล้ว เราสามารถคำนวณหาออกมาเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่ต้องเสียไปเพื่อการ “เช่าใช้คงรูป” หลังจากที่นำนาฬิกาส่งคืนเจ้าของร้านนาฬิกาเมื่อใช้เสร็จแล้วว่า จะมีมูลค่ารวมเกิน 3,000 บาท/ครั้งหรือไม่อย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้ ศ.อารยะ ยังยกตัวอย่างการทุจริตเชิงนโยบายที่ผ่านมา เช่น คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คดีโครงการโฮปเวลล์ คดีทุจริตการจัดซื้อยา คดีรถและเรือดับเพลิง กทม. และคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยผลเสียของการทุจริตเชิงนโยบายมีต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันมีข้อจำกัดในการป้องกันและจับกุมกลุ่มผลประโยชน์ที่แอบแฝงร่วมกันทุจริตมาลงโทษตามกฎหมายได้ เนื่องจากผู้กระทำการทุจริตเชิงนโยบายมักเป็นผู้ครองอำนาจหรือมีอิทธิพลในรัฐบาล ดังนั้นการอาศัยเพียงเครื่องมือด้านการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี และกระแสความร่วมมือจากสังคมตรวจสอบ คงยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์
ศ.อารยะ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การป้องกันแก้ไขปัญหาทุจริตเชิงนโยบายได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางภาษีมาช่วยอีกแรงหนึ่งด้วย อาจมีความจำเป็นที่ ป.ป.ช. จะต้องศึกษาช่องทางความเป็นไปได้ในการขอใช้ข้อมูลเรื่องประวัติการเสียภาษีที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง มาตรวจสอบเทียบกับทรัพย์สินและรายได้ที่มีอยู่เพื่อหาความถูกต้อง เป็นต้น
ทั้งหมดคือบางห้วงบางตอนในบทสัมภาษณ์ถาม-ตอบระหว่าง กรรมการสรรหาฯ และ ศ.อารยะ รวมถึงวิสัยทัศน์บางส่วนในใบสมัครเข้ารับการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคดี “พล.อ.ปรีชา” และ “นาฬิกาเพื่อน” เอาไว้ด้วย
ส่วนเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ส.ว.ตัดสินใจโหวตคว่ำ ศ.อารยะ นั่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.จริงหรือไม่ คงต้องรอฟังคำชี้แจงกันต่อไป