สูตร ส.ส. ‘100 vs 500’   จุดเปลี่ยน จุดป่วน ‘เอื้อฝ่ายเรา’

สูตร ส.ส. ‘100 vs 500’    จุดเปลี่ยน จุดป่วน ‘เอื้อฝ่ายเรา’

เกมการเมือง ว่าด้วย การกำหนดกติกาเลือกตั้ง คือ ตัวชี้ชะตา ว่า "ฝ่ายการเมือง" ฝ่ายใด จะมีโอกาสเข้าสู่ บัลลังก์อำนาจ ซึ่ง สูตรคำนวณ ส.ส. ด้วย 100 หรือ 500 ยังเป็นตัวชี้สำคัญ ว่าจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยน ทางการเมืองหรือไม่

         แม้ว่าที่ประชุมรัฐสภา จะยังไม่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ....วาระสองต่อเนื่อง หลังจากที่กรรมาธิการฯ ถอนร่างกลับไปทบทวน เพื่อแก้ปัญหามาตราที่ยังไม่สอดคล้องกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มติรัฐสภาวาระสอง เห็นชอบให้ใช้จำนวน 500 คน หาค่าเฉลี่ย “แบบพึงมี” จากเดิมที่กรรมาธิการฯ เสนอให้ใช้จำนวน 100 คน

 

         เพราะ ตัวแทนของ “ฝั่งรัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” เชื่อมั่นว่า ยังพอมีเวลาที่จะทำให้เสร็จก่อนครบเดดไลน์ 180 วัน ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

สูตร ส.ส. ‘100 vs 500’    จุดเปลี่ยน จุดป่วน ‘เอื้อฝ่ายเรา’

         ขณะเดียวกัน “ความพยายามเตะถ่วง” ถูกปรับเปลี่ยนท่าทีแล้ว จากทุกฝ่าย

 

         ทว่า ในชั้นการต่อสู้ ว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้จำนวน 100 คน หรือ 500 คน ยังไม่ยุติ และมีแนวโน้มว่าจะใช้ เงื่อนไขทางกฎหมายที่พ่วงกับการกำหนดอนาคตทางการเมือง เป็นจุดฟาดฟัน

         ตอนนี้ ทั้ง 2 ฝั่ง มองข้ามชอตไปถึงการโยน “ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.” ให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. แสดงความเห็น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ว่า ร่างกฎหมายลูกที่รัฐสภาเห็นชอบนั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

         แน่นอนว่า แต่ละฝ่ายต้องการให้ “กกต.” ยืนยันในมุมที่ตนเองต้องการ โดยอ้างเหตุผล บนสมมติฐานและความเชื่อ

 

         ล่าสุด “นพ.ระวี มาศฉมาดล” ตัวแทนฝั่งสูตรหาร 500 บอกว่า “ตัวแทนของ กกต.” ที่นั่งเป็นกรรมาธิการ ไม่เคยบอกว่าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย 500 คนนั้น ทำไม่ได้ พร้อมการันตีว่าการออกแบบสูตรคำนวณ และมาตราที่เกี่ยวข้อง ผ่านการหารือ กกต. มาแล้ว

สูตร ส.ส. ‘100 vs 500’    จุดเปลี่ยน จุดป่วน ‘เอื้อฝ่ายเรา’

         ขณะที่ มุมมองจาก “กลุ่ม ส.ว.” ที่สนับสนุนสูตร 500 มองว่า บทบาทของ กกต.ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติ ดังนั้นจึงเชื่อว่าการปฏิบัติงานต้องออกแบบวิธีทำงานให้สอดคล้องกับตามกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา

 

         ทว่า ในมุมของฝั่งหาร 100 ไม่ได้มองแค่ว่า กกต.ทำงานได้ตามกฎหมายใหม่หรือไม่ เพราะข้างในลึกๆ มีความเชื่อว่า “7 เสือ กกต.” ที่มาในยุค คสช. อาจ “ทำตาม” มากกว่า “โต้แย้ง”

 

สูตร ส.ส. ‘100 vs 500’    จุดเปลี่ยน จุดป่วน ‘เอื้อฝ่ายเรา’

         ดังนั้น ฝั่ง 100 จึงพยายามขยายความ และมองถึง “ปัญหาของการบังคับใช้”

 

         หาก “สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ” ที่ไม่เป็นไปตามสัดส่วนที่สัมพันธ์กับ มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นมาตราว่าด้วยการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคได้รับ แต่กลับเอาจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือเขตเลือกตั้ง กับบัญชีรายชื่อ รวม 500 คน มาคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง

สูตร ส.ส. ‘100 vs 500’    จุดเปลี่ยน จุดป่วน ‘เอื้อฝ่ายเรา’

         หมายความว่า เอาคะแนนทั้ง 2 แบบมาคิดแบบ “ทบต้น ทบดอก” ปัญหาข้างหน้าจะมีมากยิ่งกว่า “บัตรเขย่ง-เกิดส.ส.ปัดเศษ” เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ที่เจอมาแล้ว

 

         และ “กกต.” อาจตกเป็นจำเลยของสังคม นำไปสู่การฟ้องร้องว่าทำผิดรัฐธรรมนูญได้

 

         อีกปัญหาสำคัญ คือ แม้จะผ่านขั้นตอนคำนวณในรอบแรกไปได้ แต่ภายหลังพบการเลือกตั้งที่ทุจริต กกต. สั่งให้ “ใบแดง” เลือกตั้งใหม่ อาจมีผลกระทบต่อ จำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองได้รับ ซึ่งไม่เฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้น แต่จะหมายถึง ส.ส.เขตด้วย ซึ่งไม่ใช่ พรรคการเมืองเดียวที่จะมีผลกระทบเพราะคะแนนเลือกตั้งเปลี่ยนแปลง

 

         ทั้งนี้ ปัญหาการคำนวณคะแนน เคยมีความผิดพลาดมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นกรณีของ “ไทรักธรรม” ที่ “พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลุดจากการเป็น ส.ส. ทั้งที่ กกต.รับรองผลแล้ว เนื่องจากการนับคะแนนผิดพลาด แต่ท้ายที่สุดได้กลับคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้ง ซึ่งใช้เวลารอนานถึง 8 เดือน

 

         แต่รอบนี้ จำนวนบัตรเลือกตั้งถูกเปลี่ยนเป็น 2 ใบ แยก “เขต” แยก “ปาร์ตี้ลิสต์" ดังนั้นหากเกิดปัญหาเฉกเช่นเดียวกันกับ “ไทรักธรรม” หรือกรณีต้องเลือกตั้ง ส.ส.เขตใหม่ ด้วยเหตุทุจริต ปัญหาจะทบเท่าทวีคูณ เพราะกฎหมายกำหนดให้คะแนนเลือกตั้งผูกพันและเชื่อมโยงกัน

สูตร ส.ส. ‘100 vs 500’    จุดเปลี่ยน จุดป่วน ‘เอื้อฝ่ายเรา’

         ไม่ว่าจะเลือกตั้งเขตใหม่ คะแนนที่ได้รับต้องนำไปคำนวณใหม่ ย่อมมีผลต่อ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ" หรือ กรณีที่คำนวณคะแนนแบบบัญชีรายชื่อผิด ยังกระทบต่อ “จำนวน ส.ส.พึงมี” ที่พรรคการเมืองได้รับด้วย

 

         ดังนั้น ในการประชุมรัฐสภา วาระที่พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ต่อเนื่องอีกครั้ง ก่อนเดดไลน์ 15 สิงหาคม อาจได้เห็นภาพที่เป็นภาคต่อ ของการฟาดฟัน ยื้อผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อรักษา “โอกาสความน่าจะเป็น” ให้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง “เอื้อฝ่ายเรา” มากที่สุด.